สันติธาร เสถียรไทย ลุย…ยุทธศาสตร์ “เศรษฐกิจดิจิทัล”

ภิญโญ ปานมีศรี ภาพ

คาดการณ์กันว่า “เทคโนโลยีดิจิทัล” หรือ “ไอที” จะเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนโลกในยุคถัดจากนี้ หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การค้าขาย และการบริการ

ด้วยมองเห็นถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ทำให้ชายหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐศาสตร์กลยุทธ์และการเงิน ตัดสินใจก้าวสู้ความท้าทายครั้งใหม่ กับการบริหารงานด้าน “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ “Digital Economy”

กำลังพูดถึง ดร.สันติธาร เสถียรไทย หรือ “ต้นสน” นักเศรษฐศาสตร์และการเงิน อดีตผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ธนาคารเครดิตสวิส และยังเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจาก Asia Society ให้เป็น 1 ใน 21 ผู้นำรุ่นใหม่ในเอเชีย หรือ Asia 21 Young Leader ประจำปี 2017

ดร.สันติธารเกิดที่เมืองบอสตัน เป็นลูกชายของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับ ดร.ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ (ลดาวัลย์ ณ อยุธยา) จนกระทั่ง 3 ขวบก็กลับมาอยู่ที่ประเทศไทย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอจบชั้น ม.2 ก็ย้ายไปเรียนต่อโรงเรียนบางกอกพัฒนา

Advertisement

“ตอนเด็กผลการเรียนก็จะขึ้นๆ ลงๆ จนน่าแปลกใจ ครั้งหนึ่งมีอาจารย์แนะแนวมาถามว่าอยากเรียนที่อังกฤษไหม ผมบอกว่าอยากเรียนที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) เพราะเคยได้ยินพ่อแม่พูดถึง แต่อาจารย์บอกว่ามันอาจจะยากเกินไปสำหรับผม จำได้ว่าเล่าเรื่องนี้ให้คุณพ่อฟัง ท่านโกรธมากว่าทำไมอาจารย์ถึงพูดแบบนั้น แต่ก็เข้าใจได้เพราะผลการเรียนของเราตอนนั้นมันแย่จริงๆ จนอายุ 16 ปี ได้มาเรียนโรงเรียนประจำที่ประเทศอังกฤษ ผลการเรียนก็เริ่มกลับมาดีมาก จนสุดท้ายก็ได้เข้าเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ที่แอลเอสอีสมใจ”

หลังจบปริญญาตรีก็กลับประเทศไทย มาทำงานในสำนักวิจัยเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ขณะเดียวกันยังเป็นอาจารย์ที่เด็กมากที่สุดคนหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณ 2 ปี ก็เริ่มรู้สึกอยากเรียนต่อ เลยลองสมัครแต่ลองอยู่หลายที่ก็ไม่ได้ จนครั้งที่ 3 สมัครเข้าเรียนปริญญาโทสำเร็จ และได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

“ตอนนั้นรู้สึกดีใจมาก เพราะพลาดมาหลายครั้ง และคิดว่าเรียนแค่ปริญญาโท แต่พอเรียนแล้วก็งงมาก คือผมกลับเป็นคนเรียนเก่ง จนมันถึงจุดหนึ่งเริ่มมีคำถามว่าถ้าคุณคะแนนดีขนาดนี้ คุณก็น่าจะเรียนปริญญาเอกต่อนะ ซึ่งผมก็ได้ทุนปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ซึ่งเป็นเรื่องที่ภูมิใจที่ได้เดินตามรอยของคุณพ่อ เพราะคุณพ่อเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่จบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด”

และในวันที่สำเร็จการศึกษาคว้าปริญญาเอกสำเร็จ ดร.สุรเกียรติ์ได้มาร่วมแสดงความยินดีพร้อมนำชุดครุยของตัวเองมาด้วย

“มีรูปตอนเด็กที่คุณพ่อรับปริญญาเอกสวมครุยอุ้มผมถ่ายรูปกับรูปปั้น จอห์น ฮาร์วาร์ด ซึ่งความพิเศษคือครั้งนี้ผมได้ถ่ายรูปคู่กับพ่อในชุดครุยสีแดงเหมือนกัน พอเอารูปมาเทียบกันระหว่าง 30 ปีก่อน กับ 30 ปีให้หลัง มันจึงค่อนข้างมีความหมายกับผมครับ”

ปัจจุบัน ดร.สันติธารใช้ชีวิตคู่กับ เอย-ชนาทิพย์ (เพ็ญชาติ) เสถียรไทย ที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับลูกชายวัยน่ารักอีก 2 คนคือ ต้นไม้-สิฑา เสถียรไทย และ ต้นหม่อน-สิฬา เสถียรไทย ซึ่งในฐานะพ่อเขาวางอนาคตของลูกชายไว้ว่าอยากให้เป็นเด็กที่มีความสมดุล

“ผมไม่ได้จำกัดว่าจะให้เขาไปในด้านไหน เพราะผมอยากให้เขามีสมดุลที่ดี ไปอยู่ในสังคมแบบไหน เจอความล้มเหลว เจออะไรต่างๆ ก็สามารถกลับขึ้นมาได้ อย่างตอนนี้เข้าโรงเรียนที่ไม่ได้เน้นเรื่องเรียน แต่เป็นลักษณะของการไปพบเจอสังคม อย่างลูกชายคนโตของผมอายุ 2 ขวบ สามารถคิดเลขคณิตและสะกดคำได้แล้ว ถ้าเป็นทั่วไปก็คงดีใจมากๆ และอัดความรู้เต็มที่ แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ผมก็ภูมิใจนะ แต่อยากให้ลูกได้เล่นกับเพื่อนมากขึ้น เสริมด้านกีฬา ด้านสังคม เพราะผมอยากให้เขาบาลานซ์ทุกอย่างให้ได้ ในอนาคตข้างหน้าที่มันมีความไม่แน่นอน”

ด้านการทำงานล่าสุด ดร.สันติธารตัดสินใจก้าวออกจากงานด้านการเงิน และเริ่มต้นใหม่ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ในตำแหน่ง Group Chief Economist บริษัท Sea Limited ที่มีบริการในเครือ ได้แก่ Garena, Shopee และ AirPay ในวันที่ 18 มิถุนายนนี้

เป็นการตัดสินใจเปลี่ยนทางเดินชีวิตตัวเองอีกครั้ง ที่เขายอมรับว่า “ท้าทาย”

ภิญโญ ปานมีศรี ภาพ

ทำไมถึงเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์?

ตอนเรียนอังกฤษ เป็นช่วงปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี ช่วงนั้นเงินปอนด์ขึ้น 2 เท่า เป็น 90 บาท มีเพื่อนหลายคนที่เรียนในอังกฤษแล้วต้องกลับเมืองไทย ได้เห็นคนที่ฐานะดีมากเขาก็หายไปเลย บวกกับคุณพ่อได้เข้าไปทำงานเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคลัง ก็มีความกดดันสูงและโดนกระทบไปด้วย เพราะช่วงนั้นก็มีการโจมตีกันอย่างรุนแรงพอสมควร ซึ่งมันดูลึกลับซับซ้อนมาก จนอยากจะลองทำความเข้าใจและอยากหาแนวทางแก้ไข ว่าเราพอจะทำอะไรได้ไหม จะป้องกันอะไรได้บ้าง ก็เลยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์

เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงินที่ประสบความสำเร็จ แต่เคยไม่ชอบการเงินมาก่อน?

ตอนเรียนแอลเอสอี ผลการเรียนก็ไม่ได้ดีมากเท่าไหร่ วิชาการเงินได้คะแนนแย่มาก คิดว่าไม่น่ารอดแน่ๆ เพราะฉะนั้นเลยคิดว่าพวกโลกการเงินคงไม่ใช่สำหรับผม จนมาทำงานในกระทรวงการคลัง แล้วมันก็มีเรื่องการเงินค่อนข้างเยอะ ก็เลยเหมือนถูกดึงกลับไปหางานด้านการเงิน แม้ส่วนตัวไม่เก่งด้านนี้เลย แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะช่วงนั้นสามารถหาข้อมูลได้จากอินเตอร์เน็ต ทำไปทำมาก็กลายเป็นคนที่สนใจด้านการเงินขึ้นมา สุดท้ายทำได้ 2 ปีกว่าก็รู้สึกว่ามันสนุก น่าสนใจดี

เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงินที่ชอบเล่นดนตรีมาก มีวงดนตรีของตัวเองด้วย?

ช่วงมัธยมต้นเริ่มเล่นกีตาร์ จนเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังเล่นอยู่ คือ ดนตรีมันมีความแปลก พอทำท่าจะเลิกก็เหมือนมีเเม่เหล็กดึงกลับไปทุกที จนเรียนมหาวิทยาลัยยิ่งเล่นเยอะกว่าเดิมอีก ซึ่งบอสตันเป็นเมืองที่มีคนไทยเยอะมาก เเล้วจะมีอะไรอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือโหยหา เเละคิดถึงเพลงไทย อาหารไทย เเล้วพอไปอยู่ที่นั่นเพลงไทยหาฟังยากมาก ทำให้นักเรียนจัดงานสังสรรค์จัดกลุ่มสมาคมต่างๆ กัน พอหลังงานก็มีการเล่นดนตรีเป็นวงคนไทย ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ผมก็เข้าไปเป็นปู่ของวง เป็นมือกีตาร์ (หัวเราะ) เเล้วเพลงที่ฮิตที่สุดในตอนนั้น เป็นเพลงของแทตทูคัลเลอร์กับบอดี้สแลม เป็นเพลงที่ขาดไม่ได้

ในงานครั้งหนึ่งก็ได้รู้จักกับ เอย-ชนาทิพย์ เรากำลังเล่นดนตรีอยู่ก็มองเห็นเอยอยู่ในงาน เห็นเขายืนทำหน้าเบื่อๆ อยู่ไกลๆ ผมก็เลยเดินเข้าไปคุย ผมก็ชอบเขาตั้งแต่แรกเลยนะ ตอนนั้นเอยผมสีน้ำตาลออกแดงๆ ตอนเเรกมองว่าเป็นคนดุ ลุคดูซ่าส์ๆ พอคุยเเล้วก็มีอะไรหลายอย่างเข้ากันได้ เอยเกิดที่บอสตันเหมือนผม

กว่าจะได้งานด้านการเงิน ถูกปฏิเสธมาเยอะมาก?

เบื้องหลังดูเหมือนว่าจบจากฮาร์วาร์ดมาจะหางานทำง่าย แต่ผมต้องสมัครงานเป็น 20-30 บริษัท ถูกปฏิเสธกระจุยกระจายมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะงานที่สมัครยังไม่ตรงมาก คือคนจบ Public Policy ควรทำงาน เวิลด์แบงก์ ไอเอ็มเอฟ หรือไม่ก็แบงก์ชาติ แต่ผมคิดว่าผมมีความรู้ด้านการเงิน ทำวิทยานิพนธ์ด้านการเงิน แต่ยังไม่เคยทำงานภาคการเงินเลยเหมือนยังไม่เข้าใจ ผมเลยคิดว่าจะต้องเข้าให้ถึง เข้าใจวงการนี้จริงๆ เหมือนไม่เข้าถ้ำเสือก็ไม่ได้ลูกเสือ ผมเลยอยากเข้าทำงานวงการการเงินระหว่างประเทศ

แล้ววงการนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปริญญาเอกขนาดนั้น ยกเว้นจบในสายการเงินมาโดยตรง เพราะฉะนั้นพอผมสมัครมันเหมือนเป็นการเปลี่ยนแนวออกไปเยอะ แล้วผมก็สมัครที่ยากๆ ด้วยทำให้ผมถูกปฏิเสธค่อนข้างเยอะ

แล้วเข้าทำงานในธนาคารเครดิตสวิสได้อย่างไร?

เป็นเรื่องบังเอิญครับคือ ผมสมัครที่เครดิตสวิส แล้วสัมภาษณ์รอบแรกไป ซึ่งผมคิดว่าทำได้ค่อนข้างดี แต่เขาก็หายไปเลยเป็นเดือน ปกติถ้าเป็นแบบนี้คือไม่ได้แล้วแน่นอน ตอนนั้นผมว่าจะเลิกแล้วแต่บังเอิญอยู่ดีๆ ผมก็เขียนหนังสือไปหาบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะเวลาที่เราไม่แน่ใจอะไรเราต้องถาม ต้องลองก่อน ผมก็ถามไปว่าบริษัทคุณไม่รับผมแล้วใช่ไหม แล้วก็มีคนตอบกลับมาว่า จริงๆ คุณผ่านการสัมภาษณ์รอบแรกแล้วนะ แต่คนที่สัมภาษณ์คุณเขาเพิ่งลาออก แล้วถามผมว่าอยากจะทำต่อหรือเปล่า ผมเลยได้ผ่านไปสัมภาษณ์รอบที่ 2 แล้วก็ผ่านจนได้ทำงาน

การทำงานด้านการเงินในเอเชีย มีความท้าทายอย่างไรบ้าง?

ความท้าทายไม่ได้มาจากการลงมาดูเอเชียเท่าไหร่ แต่ความท้าทายมาจากการเปลี่ยนจากวงการวิชาการ วงการนโยบาย มาเป็นวงการการเงินซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ตอนแรกหลายคนก็สบประมาทผม ว่าจบปริญญาเอกมาแล้วมาทำงานนี้ ผมจะวิชาการเกินไปหรือเปล่า พูดแล้วจะหลับหรือเปล่า แล้ววงการนี้จะมาใช้ตามตำรา ใช้หนังสือไม่ได้นะ

ในช่วง 2 เดือนแรกที่ทำงานผมก็พิสูจน์ให้เขาเห็นว่า เขาพูดถูกหมดเลย ผมทำผิดพลาดตามที่เขาบอกทุกอย่างคือ ทำตามตำราเกินไป พูดจนหลับ นำเสนออะไรก็ผิดไปหมดเลย งานแรกที่ได้รับมอบหมาย เหมือนถูกโยนลงไปในน้ำลึกตั้งแต่ต้น ต้องเป็นคนรับหน้าทั้งหมดแรกๆ ก็ผิดพลาด แต่หลังจากนั้นมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมมองว่าเป็นวิธีที่ดีนะ ตอนหลังผมใช้วิธีนี้ในการฝึกลูกน้องคือ โยนงานให้เขาไปลงมือทำเลย ถ้างานล้มเหลว ผิดพลาด ถูกวิจารณ์ เขาอาจจะรู้สึกแย่ แต่เขาก็จะเริ่มที่จะออกนอกกรอบไปเอง ว่าการทำงานต้องใช้ตำราส่วนหนึ่ง หยิบโน่นนี่เข้ามา แล้วใช้ทุกวิถีทาง ทุกศาสตร์ที่คิดได้มาใช้ในการทำงาน ในการพยากรณ์เศรษฐกิจ

อีกส่วนที่สำคัญมากในการที่จะประสบความสำเร็จในด้านนี้คือ การมองหรือการฟันธงที่แตกต่างจากตลาด มองแบบสวนทางแต่ถูกต้อง ในช่วงหนึ่ง อินโดนีเซียกำลังเป็นที่นิยมของนักลงทุน แต่ผมคิดในทางกลับกันว่าฟิลิปปินส์จะดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อินโดนีเซียกำลังอยู่ในช่วงขาลง ปรากฏว่ามีคนต่อต้านมาก ผมก็ต้องทนอยู่นานแต่สุดท้ายผลเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ผมได้รางวัลและเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเรื่อยๆ

ทำถึงตัดสินใจลาออกจากการเงิน มาทำด้านดิจิทัล อีโคโนมี?

ตอนที่ผมมีลูกผมมีโอกาสได้เขียนคอลัมน์ จดหมายแห่งอนาคต ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ทำให้ผมได้มีโอกาสคุยกับคนมากมายหลายวงการ แล้วผมพบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญมาก มันมีโพเทนเชียล มีพลังมหาศาลที่จะติดปีกเพิ่มพลังให้กับผู้คน ผมเลยรู้สึกว่าน่าจะเป็นธีมที่ใช่ และเวลาเรื่องเศรษฐกิจที่มันใหม่มากๆ รัฐบาลเองยังไม่ค่อยคุ้นก็จะต้องการทำงานร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสช่วยกันทำนโยบายสร้างระบบนิเวศ (eco system) ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในรัฐบาล มันก็ย้อนกลับไปถึงสายที่ผมเรียน ย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ผมอยากจะทำ คือต้องการทำนโยบายที่มันช่วยประเทศได้

อีกเหตุผลคือ ส่วนตัวผมเป็นคนชอบการท้าทาย ชอบที่จะถูกชาเลนจ์ ชอบที่จะเริ่มต้นใหม่ บังคับให้ตัวเองมีความหิวกระหายและอยากที่จะเรียนรู้ ซึ่งผมคิดว่าสิ่งนี้มันเริ่มหายไป อาจเพราะการทำงานมานานพอสมควรแล้วมันเริ่มอยู่ตัว เลยอยากจะหาอะไรที่แตกต่าง จึงตัดสินใจเปลี่ยนทางเดินชีวิตตัวเองอีกครั้ง เเล้วมีโอกาสได้คุยกับบริษัทด้านเทคโนโลยี คือ บริษัท Sea Limited รู้สึกค่อนข้างถูกคอ เพราะเขาเป็นบริษัทอาเซียนจริงๆ การบริหารของเขาถ้าในเมืองไทย ผู้บริหารก็เป็นคนไทย ในอินโดนีเซีย ผู้บริหารก็เป็นคนอินโด เลยมีความรู้สึกว่าเขาเข้าใจอาเซียน แล้วก็ชอบที่เขามีทัศนคติที่ดี

แต่ตอนที่อยากจะทำเขาก็พูดตรงๆ ว่า คุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงิน ไม่แน่ใจว่าคุณจะมาทำอะไรให้เรา แล้วให้ผมไปคิดมาว่าทำไม่เราถึงต้องการคุณ แล้วเรามาคุยกัน ผมก็เลยไปนั่งทำการบ้านแล้วไปนั่งคิด และค้นพบว่า บริษัท Sea ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจมาก เป็นสตาร์ตอัพที่ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์กเมื่อปีที่แล้ว แล้วถ้ามองเขาเป็นบริษัทเทคโนโลยี สิ่งที่อาจจะยังขาดหรือยังเสริมได้ คือ พรีเซ็นต์ (Present) ที่เขาสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งเขามีทั้ง อี-สปอร์ต อี-คอมเมิร์ซ และดิจิทัล เพย์เมนต์ โดยทั้ง 3 ด้านนี้มีผลกระทบต่อสังคมและนโยบายทั้งนั้น สามารถแชร์ความรู้ให้กับสังคมได้อีกเยอะ ยังเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและวงการวิชาการ บทบาทของผมคือการเชื่อมโยงตรงนี้

มองวงการดิจิทัล อีโคโนมี ในขณะนี้อย่างไร?

ตอนนี้เราหลายคนยังมอง ดิจิทัล อีโคโนมี ในด้านลบ คือมองว่าจะมาแทนที่การค้าปลีก แทนที่ธนาคารต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันต้องมีบ้าง แต่ผมอยากจะใช้คำว่า เอ็มเพาเวอร์เมนต์ หรือการเสริมสร้างพลังอำนาจ เป็นการสร้างแนวคิดว่าเราจะติดปีกเพิ่มพลังอำนาจให้คนโดยใช้ดิจิทัลอย่างไร

ซึ่งในยุคดิจิทัล อีโคโนมี ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ทั้งเอสเอ็มอี หรือคนที่ต้องการจะขายของผ่านอี-คอมเมิร์ซ มันสามารถเข้าถึงได้หมด ยังมีเรื่องของอี-สปอร์ต หรือเรื่องของโมบายเกมส์ ซึ่งเป็นวงการใหม่ที่โตเร็วมาก มีนักกีฬา มีกลุ่มแฟนเยอะมาก สามารถพัฒนาเป็นความบันเทิงรูปแบบใหม่อีก ซึ่งผมเข้ามาเป็น Group Chief Economist ผมทำหน้าที่เหมือนถังความคิดภายในนั้น แล้วทำงานร่วมกับรัฐบาลในการสร้างดิจิทัลอีโคโนมี ดูในเรื่องของอุปสรรคว่ามันมีอะไรบ้าง และจะทำอย่างไรที่จะทำให้ดิจิทัล อีโคโนมีของแต่ละประเทศลิงก์เข้าด้วยกัน

ถ้ามองธุรกิจของ Sea ส่วนตัวผมก็อยากจะสร้างเอ็มเพาเวอร์เมนต์ เช่น ด้านอี-สปอร์ต อยากให้คนไทยที่มีฝีมือได้มีส่วนร่วมในการสร้างเกมส์ หรือร่วมพัฒนาเกมส์กับเจ้าของเกมส์โดยการใส่ความเป็นไทยลงไป

จากตัวเลขมาเป็นเทคโนโลยี ต้องปรับตัวเยอะไหม?

ปรับตัวอย่างมากครับ ส่วนหนึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเขียนคอลัมน์ ที่ทำให้ได้คุยกับคนในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับยุคนี้ เพราะผมมองว่าคนเราจะต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ซึ่งเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผมมองว่าอุปสรรคแรกของทุกคนเลยคือการไม่ชอบเดินออกจากกรอบที่ตัวเองสร้างขึ้น การออกจากกรอบ การออกจากอาชีพที่ตัวเองคุ้นเคย มันคือการออกจากสิ่งที่เราเคยทำได้ดี ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับ ไปสู่คนที่ไม่มีใครรู้จัก แล้วบางทีอาจจะไม่ค่อยเหมือนกับคนอื่น เหมือนเราใส่สูทแล้วเดินเข้าไปในกลุ่มคนที่เขาใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์กันหมด ทำให้มีหลายเรื่องต้องปรับ

สิ่งที่สำคัญมากในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการเดินคือ การที่จะยอมรับความล้มเหลว การที่พร้อมจะเริ่มเดินจากศูนย์ใหม่ เหมือนนักกีฬาที่เก่งบาสมากๆ แล้วมาเตะบอลก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ซึ่งตรงนี้คือความยากพอสมควร แต่พอผ่านตรงนี้ไปได้จะเห็นเลยว่าการเรียนรู้จะเพิ่มขึ้นอย่างเร็วมาก ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นจุดที่ตื่นเต้นและสนุก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image