ประมูลที่ดิน”เอคิว”4.3 พันไร่ ราคาต่ำเกิน…”กฤษดาธานนท์” ไล่เช็คบิล

ที่ดินเนื้อที่กว่า 4,300 ไร่ย่านบางนา-ตราด ของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด(มหาชน) ที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด(มหาชน) เป็นทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ที่ธนาคารกรุงไทยในฐานะเจ้าหนี้ร่วม กับกรมบังคับคดี นำออกประมูลขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยบริษัท ทีเออาร์ แลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มทุนใหญ่และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ชนะประมูลไปในราคา 8,914 ล้านบาท

ถือเป็นที่ดินแปลงใหญ่ผืนสุดท้ายที่ตั้งอยู่ในโซนสีม่วงใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และยังเป็นประตูสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงเป็นทำเลทองที่นักลงทุนต่างหมายปอง แต่ทว่าราคาประมูลที่ออกมา เป็นที่วิจารณ์ว่าต่ำอย่างผิดปกติ

เฉลี่ยราคาตารางวาละ 5,000 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าราคาประเมินเมื่อครั้งที่กลุ่มกฤษฎามหานคร นำไปค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารกรุงไทยเมื่อปี 2543-2544 ที่มีการประเมินไว้ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 12,000 บาทหรือไร่ละกว่า 4.8 ล้านบาท

ทำให้ “วิชัย กฤษดาธานนท์” อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร และคนในตระกูลกฤษดาธานนท์ ต้องออกมาคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าว โดยมอบหมายให้ทนายความเดินเรื่องฟ้องร้อง โดยระบุว่าเป็นการประมูลขายในราคาถูกมากจนผิดสังเกตุ แต่ยังส่อว่าเป็นการขายหลักประกันหนี้โดยมิชอบ ทำให้ลูกหนี้เสียสิทธิและถูกรอนสิทธิ

Advertisement

ย้อนไป เมื่อปี 2543-2546 ช่วงที่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานครนำที่ดินทั้ง 215 แปลง เนื้อที่รวม 4,300 ไร่เศษไปขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงไทย โดยธนาคารกรุงไทยนำบริษัทประเมินหลักทรัพย์ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ถึง 2 บริษัทมาประเมินหลักทรัพย์ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทประเมินมูลค่าหลักประกันในขณะนั้นไว้ที่ตารางวาละ 12,000 บาทขึ้นไป หรือรวมแล้วที่ดินแปลงนี้มีมูลค่ากว่า 14,000-16,000 ล้านบาท

แต่คณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ กรมที่ดิน ประเมินราคาที่ดินประกอบการขายทอดตลาดไว้เพียงตารางวาละ 3,000-4,000 บาท และกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลขายทอดตลาดในราคาเพียงตารางวาละ 5,000 บาท โดยประมูลได้ในราคา 8,914 ล้านบาท บวกลบกันแล้วเท่ากับเงินหายไปกว่า 5-7 พันล้านบาท

ฝ่ายกฎหมายของนายวิชัยยังระบุว่าธนาคารกรุงไทยในฐานะเจ้าหนี้แทนที่จะทักท้วงการประเมินราคาหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลหนี้ที่ต่ำจนอาจทำให้ธนาคารเสียประโยชน์ แต่กลับเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิคัดค้านหรือทักท้วงใดๆ และยังเห็นชอบกับราคาประเมินดังกล่าวทั้งที่รู้ว่าจะเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหายจากส่วนต่างของเงินที่จะได้รับจากการประมูล
ขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็ได้รับความเสียหายจากค่าธรรมเนียมการโอน จดจำนอง ภาษีธุรกิจเฉพาะหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่จะหายไปนับ 1,000 ล้านบาท

Advertisement

แม้ว่าการขายทอดตลาดที่ดินหลักประกันแปลงดังกล่าว จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เชื่อแน่ว่า คงจะมีการรื้อฟื้นกรณีดังกล่าวมาไล่เบี้ยผู้เกี่ยวข้องและพิจารณาว่าใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์หรือไม่

หากข้อกล่าวหาของฝ่ายนายวิชัยเป็นจริง เมื่อถึงวันนั้น ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดที่ดินผืนดังกล่าว ไม่อาจหลีกหนีได้ จะต้องรับผิดชอบทั้งตัวเงินในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และอาจต้องรับผิดทางกฎหมายไปพร้อมกันด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image