‘เจ้าสัวธนินท์’ไขก๊อก ถอยเพื่อรุก ‘ปั้นผู้นำ’ยุคใหม่

ทันทีที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประกาศลาออกจากการเป็นประธานกรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ หนึ่งในบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของซีพีเอฟ และแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 24 เมษายน โดยมีผลทันที

เกิดเป็นกระแสข่าว บ้างก็ว่ามีการทาบทามให้เจ้าสัวธนินท์เป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง จากที่ยังมีปัญหาจัดตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ได้ เรื่องนี้ทางซีพีได้ปฏิเสธข่าวหนักแน่น ยืนยันว่าเจ้าสัวไม่เคยมีแนวคิดเรื่องทางการเมืองแต่อย่างใด

บางกระแสระบุว่า เพื่อต้องการเวลามากขึ้นสำหรับการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เพิ่งคว้าประมูลมาได้ และอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่าลงทุนกว่า 2.24 แสน ล้านบาท

มีข้อน่าสังเกตว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ.2535 ว่าด้วยเรื่องกรรมการสามารถเป็นกรรมการในบริษัทได้กี่แห่งนั้น ไม่ได้มีข้อห้ามหรือระบุชัดเจนว่านั่งได้ไม่เกินกี่แห่ง แต่มีการให้เหตุผลของการอยู่ในตำแหน่งกรรมการในหลายบริษัทมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการจัดสรรเวลาเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interests) ซึ่งบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ สามารถป้องกันปัญหานี้ ด้วยการระบุว่าบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมการของบริษัทจะดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัททั้งหมดได้ไม่เกินกี่แห่ง ซึ่ง ตลท.มีคำแนะนำว่ากรรมการไม่ควรดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนเกิน 5 บริษัท

Advertisement

กระแสข่าวนี้จะจริงหรือไม่จริง คงต้องรอซีพีชี้แจงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของซีพีระบุว่า พนักงานในองค์กรซีพีไม่มีใครแปลกใจกับการประกาศลาออกครั้งนี้ของเจ้าสัวธนินท์ เนื่องจากรับรู้กันเป็นการภายในองค์กรมาหลายปีแล้ว จากที่เจ้าสัวธนินท์ประกาศ Success Plan หรือแผนจะสร้างคนรุ่นใหม่มาแทนที่ โดยตัวเจ้าสัวจะค่อยๆ ลดบทบาทลง

ว่ากันถึงอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2464 จากร้านเจียไต๋ โดยสองพี่น้องชาวจีน ได้แก่ นายเจีย เอ็ก ซอ บิดาของเจ้าสัวธนินท์ และ นายเจีย โซว ฮุย ซึ่งถือเป็นรุ่นแรกหรือรุ่นบุกเบิก ตามด้วยรุ่นที่สอง คือ เจ้าสัวธนินท์ กับพี่ชายอีก 3 คน ได้แก่ นายจรัญ นายมนตรี และ นายสุเมธ เจียรวนนท์ ร่วมกันบริหารบริษัท

จนมาถึงรุ่นสาม ที่เจ้าสัวธนินท์และพี่ชายทั้งสามลุกจากเก้าอี้ให้รุ่นลูก-หลานมานั่งบริหารแทน เมื่อต้นปี 2560 โดยเจ้าสัวธนินท์ไปดำรงตำแหน่งประธานอาวุโส พี่ชาย 2 คนคือ นายจรัญและนายมนตรี ดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ และนายสุเมธเป็นประธานที่ปรึกษา และถ่ายโอนตำแหน่งให้ นายสุภกิต บุตรชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และนายศุภชัย บุตรชายคนเล็กของเจ้าสัวธนินท์ เป็นประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ)

นอกจากนี้ ยังขยับปรับตำแหน่งถ่ายโอนอำนาจบริษัทในเครือด้วย เช่น ซีพีเอฟ แต่งตั้งซีอีโอร่วม 2 คน คือ นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) และ นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ตั้ง นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ขยับ นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เป็นประธานกรรมการบริหาร และรองประธานกรรมการ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (เอ็มดี) ร่วม ได้แก่ ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ และ นายศิริพจน์ คุณากรพันธุ์ ส่วน นายศุภชัย เจียรวนนท์ นั่งประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการ

ทั้งหมดนี้เป็นไปตาม Success Plan ของเจ้าสัวธนินท์ที่ต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มาสืบทอดการทำงาน หรือ CP Transfer ให้อาณาจักรซีพีก้าวต่อไปในยุค 4.0 ซึ่งเจ้าสัวธนินท์เคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการสืบทอดธุรกิจกับสำนักข่าวนิกเกอิ ของญี่ปุ่นเมื่อปี 2559 ว่าได้ปรึกษากับพี่ชายทั้ง 3 คนคือ จรัญ มนตรี และสุเมธว่าในช่วง 10 ปีจะต้องสร้างซีอีโอคนใหม่ของเครือ ซีพีมารับช่วงต่อ โดยผู้บริหารระดับสูงควรมีวาระการบริหารงาน 10 ปี โดยเจ้าสัวธนินท์ตั้งใจจะลงจากตำแหน่งประธานอาวุโสเมื่ออยู่ในตำแหน่งครบ 10 ปี ให้นายสุภกิตมารับตำแหน่งประธานอาวุโสแทน และนายศุภชัยมาดำรงตำแหน่งประธานเครือซีพีต่อไป เพื่อเปิดทางให้ผู้บริหารคนใหม่ที่เครือซีพีสร้างไว้มาดำรงตำแหน่งต่อไป ตามหลักการบริหารของเจ้าสัวธนินท์ระบุไว้ว่า “การวางมือต้องทำในเวลาอันควร ไม่เร็วหรือช้าเกินไปŽ”

โดยในช่วงก่อนหน้านี้หลายปี เจ้าสัวธนินท์ใช้เวลาส่วนใหญ่เดินทางไปต่างประเทศเกือบจะทั่วโลกเพื่อดูบริษัทใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารองค์กรว่าแต่ละที่มีวิธีบริหารจัดการองค์กรอย่างไรให้เติบโตได้ต่อไป เช่น นายแจ็ค เวลซ์ (Jack Welch) ผู้บริหารระดับสูงสุด หรือ CEO ที่ประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงก้องโลก บริษัท จีอี บริษัท ซัมซุง เป็นต้น

กระทั่งได้แนวคิดในการสร้างผู้นำเพื่อมาบริหารองค์กรต่อ โดยนำที่ดินที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา จัดสร้างสถาบันผู้นำ มีการจัดหลักสูตรอบรม โดยที่ผ่านมาได้สร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ป้อนให้บริษัทในเครือซีพีมาแล้วหลายรุ่น และปัจจุบันนายธนินท์ให้ความสำคัญกับสถาบันผู้นำแห่งนี้ โดยใช้เวลาส่วนใหญ่บริหารงานที่สถาบันแห่งนี้ โดยแนวคิดในช่วงที่ผ่านมามองว่าซีพีเป็นองค์กรที่ใหญ่ขึ้น จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านให้ผู้บริหารมืออาชีพที่เป็นคนนอกตระกูลมาบริหารงานเพิ่มมากขึ้น จึงต้องสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ เพื่อมาผลัดเปลี่ยนอยู่ตลอด

ทั้งนี้เป็นการปรับตัวเพื่อเตรียมต้อนรับซีพีเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ในปี 2564 จะมีอายุครบ 100 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image