เครื่องวัดสัญญาณชีพ ระบบ ‘5จี’ ช่วยชีวิตได้ทันเวลา

ในยุคที่เทคโนโลยีมีความเกี่ยวข้องกับทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิต แน่นอนว่าการมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีความเสถียรย่อมเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมเข้าสู่ระบบ 5จี อย่างเต็มรูปแบบ และพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นในทุกปีอีกด้วย

ล่าสุดมีเทคโนโลยี 5จี ที่น่าสนใจ นั่นคือ เครื่องระบบวัดสัญญาณชีพแบบหลายพารามิเตอร์พร้อมการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายสำหรับการแพทย์แบบทางไกล ผลงานจากทีมวิจัยและพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยŽ

Advertisement

การทำงานหลักๆ ของอุปกรณ์นี้ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถตรวจวัดและบันทึกคลื่นหัวใจของตนเองได้ที่บ้านเมื่อต้องการ หรือเมื่อมีอาการเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ เมื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์นี้กับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน จะสามารถแสดงผลวิเคราะห์ความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจได้

ทั้งนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงกับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิด อาทิ โรคหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ โรคหัวใจบีบตัวก่อน และโรคหัวใจช่องลมสั่นพลิ้ว อาการเหล่านี้ หากผู้ป่วยมีเครื่องอุปกรณ์วัดและวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจสำหรับใช้งานในบ้าน จะสามารถตรวจสอบคลื่นหัวใจเพื่อเป็นข้อมูลในการรักษาเบื้องต้นได้

ผศ.ดร.อาภรณ์ ธีรมงคลรัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงที่มาของโครงการว่า ในการวิจัยเครื่องระบบวัดสัญญาณชีพแบบหลายพารามิเตอร์ฯ จะมีการส่งข้อมูลทางเครือข่ายสำหรับการแพทย์ทางไกล เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ที่มีโอกาสเจ็บป่วยได้มากกว่าวัยอื่น โรคที่เกิดในผู้สูงอายุมีหลากหลายโลก อาทิ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรืออาการหลอดเลือดสมองตีบ


“ทางคณะวิจัยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบวัดคลื่นไฟฟ้าฯ เพื่อนำไปใช้ในครอบครัวโดยได้จัดทำระบบการใช้งานที่ง่าย แตกต่างจากอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงพยาบาล ทางคณะยังได้วิจัยระบบตรวจวัดพารามิเตอร์ทางสุขภาพที่สำคัญ อาทิ อุณหภูมิ ความดันโลหิต และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ได้อย่างมีระบบและสม่ำเสมอภายนอกสถานพยาบาล ข้อมูลที่เก็บได้นี้จะช่วยประเมินสุขภาวะหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัวได้ นอกจากนี้ เครือข่ายสื่อสารที่มีความเร็วสูงจะช่วยส่งเสริมให้การจัดเก็บข้อมูล หรือการจัดส่งข้อมูลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยโรคแบบทางไกลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ”Ž ผศ.ดร.อาภรณ์กล่าว

ผศ.ดร.อาภรณ์ กล่าวว่า ในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง หากจะใช้เครื่องมือนี้จะต้องมีแพทย์คอยดูแลด้วยอย่างใกล้ชิด นอกเหนือจากการตรวจวัดข้อมูลเป็นประจำ เพื่อที่จะได้ให้คำปรึกษาอย่างทันท่วงที การเก็บข้อมูลคลื่นหัวใจจึงต้องมีความแม่นยำและต้องใช้ระบบเครือข่ายสัญญาณที่มีความเสถียรเป็นอย่างมากในการส่งข้อมูล

“ส่วนในเรื่องของการทดลอง ทางทีมวิจัยได้ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยอุปกรณ์สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกประเภท แต่ทางทีมวิจัยได้ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยประเภทนี้เป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่ที่เจอมักเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปตรวจวัดคลื่นหัวใจบ่อยๆ ขณะนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีระบบที่เสถียร และอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยกับทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะบางข้อมูลเป็นของคนไข้ จึงจะต้องมีการพูดคุยในเรื่องจรรยาบรรณแพทย์อีกครั้ง คาดว่าจะสามารถนำออกมาใช้งานจริงได้ภายใน 2-3 ปีนี้Ž” ผศ.ดร.อาภรณ์ กล่าว

ส่วนความสำคัญด้านระบบเครือข่ายสัญญาณ เป็นอีกปัจจัยหลักที่มีส่วนช่วยให้การรักษาทางไกลไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป ดร.นริศ รังษีนพมาศ รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์และคุณภาพโครงข่ายบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเข้ามาสนับสนุนด้านโครงข่ายของทรูในครั้งนี้ เพราะเราได้ให้ความสำคัญกับเรื่องระบบเทเลเมดิซีน หรือโทรเวชกรรม นำมาใช้ในการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เป็นเทคโนโลยีที่มาช่วยลดข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ในการพบแพทย์ได้

“ทรูได้มีส่วนร่วมในเรื่องของการส่งต่อข้อมูลที่เกิดจากการวัดคลื่นไฟฟ้าฯนี้ ทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่ห่างไกล โดยส่งผ่านสัญญาณ คลื่นที่ใช้ในการทดลองอยู่อาจเป็นเครือข่าย 4จี หรือระบบไวไฟ แต่สำหรับงานวิจัยครั้งนี้เมื่อสำเร็จทุกขั้นตอนจะต้องใช้เทคโนโลยี 5จี และทำการส่งข้อมูลไปยังพื้นที่ฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถวินิจฉัยโรคได้ โดยประโยชน์ของเทคโนโลยี 5จี อีกหนึ่งข้อคือ สามารถสื่อสารหรือวินิจฉัยโรคผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้แบบไม่มีสะดุด และแม่นยำมากขึ้น”Ž ดร.นริศ กล่าว

ดร.นริศ กล่าวว่า เมื่อเทคโนโลยี 5จี เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ถือว่ามีประโยชน์ต่อเรื่องอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เป็นอย่างมาก และในอนาคตอันใกล้นี้ ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว การขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้วย 5จี จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการรักษาผ่าน
วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ คงเป็นที่ต้องการอย่างมากในตอนนี้ ทางทรูจึงได้ดึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5จี มาส่งเสริมให้งานวิจัยนี้มีความเป็นไปได้มากขึ้น และสามารถใช้งานได้จริง ฉะนั้นเราจึงต้องเร่งพัฒนาให้ระบบเครือข่ายสัญญาณมีความเสถียร และต้องมีคลื่นความหน่วงที่คงที่ เพื่อตอบสนองความต้องการทางการแทพย์ให้ได้มากที่สุดต่อไป

“งานวิจัยนี้เป็นโปรเจ็กต์ที่ดีมาก และต้องการสนับสนุนให้ทางทีมวิจัย พัฒนาหูฟังอิเล็กทรอนิกส์ แต่เครื่องมือนี้จะมีความเฉพาะตรงที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการใส่อุปกรณ์คอยให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด หรือแพทย์ที่ได้รับการฝึกสอนในการใช้อุปกรณ์นี้มาในเบื้องต้น โดยวิธีปฏิบัติจะต้องใส่หูฟัง แล้วฟังไปที่ตัวคนไข้ เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ทางทรูจึงตั้งใจที่สนับสนุนโปรเจ็กต์นี้เข้าไปเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น เพิ่มเติมจากการส่งเสริมเรื่องระบบเครือข่าย 5จี” ดร.นริศ กล่าวและว่า ในส่วนของการติดตั้งคลื่นสัญญาณ 5จี จะนำมาใช้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการติดตั้ง ช่วงแรกติดในเรื่องของเอกสารและเรื่องทุนจากทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่าการดำเนินการคืบหน้าเกือบ 100% เมื่อผ่านขั้นตอนการพูดคุยไปแล้ว ทางทรูพร้อมจะเข้ามาติดตั้งเสาสัญญาณและอุปกรณ์ 5จี ทันที

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความตื่นตัว และพร้อมพัฒนานวัตกรรมเพื่อรอเข้าสู่การใช้งานด้วยเทคโนโลยี 5จี กันบ้างแล้ว ผลการทดลองต่างๆ ถือเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อทำให้ประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาในครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ประเทศไทยพร้อมเข้าสู่สังคม 5จี อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image