เมื่อวันที่ 27 พ.ค. เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. 2562
ทั้งนี้สำหรับกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 พ.ค. 2562 หมวด 1 คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ หมวด 4 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ จะให้เวลาเตรียมตัว 1 ปีนับตั้งแต่ลงประกาศในราชกิจจาฯ โดยจะมีผลบังคับใช้ 28 พ.ค. 2563 เนื่องจากจะต้องมีการออกประกาศขั้นตอนระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ อีกราว 30 ฉบับ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีทั้งโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี และโทษปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท จนถึงระดับ 5 ล้านบาท แล้วแต่ประเภทของข้อมูล
สำหรับสาระสำคัญ จะมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยประธานจะได้มาจากการสรรหาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการสรรหา ส่วนรองประธานได้แก่ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งยังมีกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและอัยการสูงสุด รวมถึงมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 คน
มีการตั้งหน่วยงานใหม่คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยในระหว่างที่การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ยังไม่แล้วเสร็จให้สำนักงานปลัดกระทรวงดีอี ทำหน้าที่ไปแทนก่อน และให้รองปลัดกระทรวงดีอีที่ได้รับมอบหมาย ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสำนักงานฯ
ทั้งนี้การเก็บรวบรวม การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน และสามารถถอนความยินยอมได้ รวมถึงมีสิทธิขอให้ลบหรือทำลายได้เมื่อการเก็บ ใช้ เปิดเผย ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือถอนความยินยอม
หมายเหตุ:-เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมากจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวมใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นการล่วงละเมิดดังกล่าวทำได้โดยง่ายสะดวก และรวดเร็วก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมสมควรกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไปขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไกหรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นหลักการทั่วไปจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้