เปิดไทม์ไลน์ แหม่มฝรั่งในสมุย ติดเชื้อโควิด หลังกักตัวครบ 14 วัน สธ.ยังไม่ฟันสาเหตุ

เปิดไทม์ไลน์ แหม่มฝรั่งในสมุย ติดโควิด-19 หลังกักตัวครบ 14 วัน สธ.ยังไม่ฟันสาเหตุ

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.โสภณ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ เพศหญิง สัญชาติฝรั่งเศส อายุ 57 ปี ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ติดเชื้อเป็นผู้เดินทางมาจากเมืองลิโมเกส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 30 กันยายน เดินทางถึงไทยพร้อมกับสามีและลูกชาย เที่ยวบินสายการบินไทย TG933 เข้าพักในในสถานกักกันทางเลือก(Alternative State Quarantine) ใน จ.สมุทรปราการ ระหว่างกักตัวปกติ โดยเก็บตัวอย่าง RT-PCR ส่งตรวจ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 3 ตุลาคม ผลไม่พบเชื้อ ครั้งที่ 2 วันที่ 11 ตุลาคม ผลไม่พบเชื้อ เมื่อตรวจครบ 2 ครั้ง และอยู่ในสถานกักกันครบ 14 วัน จึงได้รับอนุญาตให้ออกจากสถานกักกันโรค ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม เดินทางไปทำธุระที่สถานฑูตฝรั่งเศส ใน กทม. และช่วงบ่ายวันเดียวกันเดินทางไป อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยเที่ยวบินสายการบินบางกอกแอร์เวย์ PG167 และเพื่อนมารับด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปยังบ้านพักส่วนตัวที่เกาะสมุย

นพ.โสภณ กล่าวว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เริ่มมีอาการไข้ ไอเล็กน้อย เสมหะ ปวดกล้ามเนื้อ มีประวัติเดินทางไปห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีและร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านในเกาะสมุย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม มีอาการป่วยเพิ่มขึ้น จึงเดินทางไปที่โรงพยาบาล(รพ.) กรุงเทพสมุย ด้วยรถยนต์ส่วนตัว ทาง นพ.ตรวจวัดไข้ พบว่า ไม่มีไข้ อุณหภูมิร่างกาย 36.2 เซลเซียส ร่างกายปกติดี ได้รับการเก็บตัวอย่างและส่งตรวจหาเชื้อ โดยนอนรักษาใน รพ.เป็นเวลา 1 คืน ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 และส่งตัวอย่างเดิมตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 จ.สุราษฎร์ธานี โดยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ผลพบเชื้อเช่นกัน จึงนำผู้ติดเชื้อเข้าห้องแยกโรค ใน รพ.เกาะสมุย ทีมสอบสวนโรคติดตามสามีและลูก เข้ารับการตรวจอีกครั้ง แต่ไม่พบเชื้อโควิด-19 ส่วนเพื่อนที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจหาเชื้อ คาดผลจะออกในวันนี้ แต่ทุกคนไม่มีอาการป่วย

“ผลสอบสวนโรคเบื้องต้น กลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิดจะมีสามีและลูก ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันแต่ไม่พบเชื้อ ผู้โดยสารเที่ยวบินเดียวกัน 10 ราย ลูกเรือ 2 ราย รวม 12 ราย กำลังติดตามมาตรวจเชื้อและเพื่อนที่ไปรับที่สนามบิน ขณะนี้กำลังรอผลตรวจ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำเป็นผู้ดูแลขณะอยู่ รพ. ได้สวมชุดป้องกัน จำนวนรวม 21 ราย” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สรุปได้ว่า ผู้ติดเชื้อรายนี้มีโอกาสจะเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศไทย เนื่องจากมีการตรวจพบเชื้อหลังจากเข้ามาในประเทศแล้ว 17 วัน และขณะอยู่ในสถานกักกันโรคตรวจไม่พบเชื้อทั้ง 2 ครั้ง การสอบสวนโรคทำให้เราสามารถทราบว่าผู้อยู่ร่วมกันในบ้าน 2 รายไม่ได้รับเชื้อ แต่ต้องเฝ้าสังเกอาการ โดยผู้ติดเชื้อ สามีและลูกเข้าอยู่ในห้องแยกโรคแล้ว เราต้องเก็บตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อหาภูมิคุ้มกันและหาเชื้อไวรัส ส่วนของสถานกักกันทางเลือก(ASQ) ใน จ.สมุทรปราการ ที่สอบสวนโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ(สสจ.) ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างบุคลากรของสถานกักตัวรวมประมาณ 40 ราย ยืนยันว่าการควบคุมโรคเริ่มขึ้นแล้วแต่ยังไม่พบความผิดปกติและยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายที่ 2 ทั้งหมดนี้อยู่ในการดูแลของแพทย์

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้เป็นการติดเชื้อในประเทศหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า รายนี้เนื่องจากการป่วย เกิดขึ้นหลังจากมาถึงไทย 17 วัน ซึ่งระยะฟักตัวยาวสุดอยู่ที่ 14 วัน และระหว่าง 14 วันก็ไม่พบเชื้อ อีกทั้ง ไม่ได้เดินทางมาจากเมืองที่มีการติดเชื้อรุนแรง และเมื่อมาถึงไทยก็เข้าสู่การกักกันโรคทันที และพอครบ 14 วันก็พบการป่วย ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า อาจติดที่สนามบิน หรือจากระหว่างเดินทาง ซึ่งทีมสอบสวนโรคจะติดตามและสอบสวนโรคเพิ่มเติม จึงต้องรอข้อมูลก่อนจึงจะสรุปได้ว่า เป็นการติดเชื้อจากที่ไหน

Advertisement

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องเพิ่มวันกักกันโรคหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า นโยบายคงไม่มีการเพิ่มจำนวนวันกักกันโรค แต่จะเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังมากกว่า โดยการกักกันโรคจำนวน 14 วัน ยังเพียงพอ หลายประเทศก็เริ่มลดลง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก่อนออกจากสถานที่กักกันก็จะมีการตรวจเชื้อ สำหรับระยะเวลาก็น่าจะเพียงพอ แต่ต้องมีการติดตามหลังออกจากการเฝ้าระวังในสถานที่กักกันตัว

“รายนี้อาจติดหลังออกจากที่กักกันแล้ว ซึ่งกรณีนี้หากเพิ่มเวลาก็ไม่มีประโยชน์มากนัก และรายนี้มีระยะฝักตัวยาวมาก ผิดจากคนทั่วไป เคยมีรายงานแต่น้อยมาก ดังนั้นนโยบายคงไม่เพิ่มวันกักกันแต่เพิ่มการดูแลเป็นพิเศษหลังครบ 14 วัน และดูแลพิเศษหากมีข้อสงสัย แต่รายนี้ไม่มีข้อสงสัยอะไรเพราะเขามาจากเมืองที่ไม่มีการระบาดมาก แต่เข้าสู่ระบบการตรวจเชื้อในสถานกักตัว 2 ครั้ง” นพ.โสภณ กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า รายนี้ยังไม่สรุปว่าเป็นการติดที่ไหน จะต้องขอเวลาและมาเคาะกันใหม่อีกครั้ง การลดระยะเวลากักตัวเหลือ 10 วัน ได้ผ่านการวิเคราะห์เชิงวิชาการจากคณะกรรมการวิชาการของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและคณะที่ปรึกษาของสธ. เห็นตรงกันว่า ข้อมูลทั่วโลกพบว่ามีความเป็นไปได้จะลดเวลาเหลือ 10 วันแต่ไม่ได้ลดทันทีทันใด แต่จะเริ่มจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่มีการติดเชื้อน้อยหรือเท่ากับไทย เช่น นิวซีแลนด์ บางมณฑลในจีน ไต้หวัน และจะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการมากขึ้น ไปจนถึงใช้มาตรการติดตามตัวเพื่อควบคุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image