44 ปี มติชน ประเทศไทยไปต่อ : จุรินทร์ 2021 ไทยเผชิญ 3 ปัญหา โควิด-ศก.-การเมือง ป่วนได้อีก!!

44 ปี มติชน ประเทศไทยไปต่อ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

2021 ไทยเผชิญ 3 ปัญหา
โควิด-ศก.-การเมือง
ป่วนได้อีก!!

⦁ปี 2564 ไทยต้องเผชิญ3ปัญหาผันผวน

ประเทศไทยในปี 2564 ไม่อาจหลีกเลี่ยง และ ยังต้องเผชิญกับ 3 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาการเมือง ซึ่งทั้ง 3 ปัญหาจะยังดำรงอยู่ เพียงแต่ละระดับความร้อนแรงของปัญหา อาจมีรายละเอียดและระดับที่แตกต่างกันไปจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก อย่างน้อยทุกประเทศในโลก ก็ยังต้องเจอ 2 ปัญหาหลักเหมือนๆ กัน นั่นคือ ปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมา ส่วนปัญหาการเมืองอาจมีในบางประเทศเท่านั้น ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เราต้องย่อมรับว่ายังเป็นที่รอแก้ไขอยู่

Advertisement

ในเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีก่อนนั้น ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ในการแก้ปัญหาจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ว่าประเทศอยู่ในระดับต้นๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่มีคนไทยติดเชื้อในอัตราที่สูงๆ จนถึงก่อนขึ้นปีใหม่ การแพร่ระบาดก็ย้อนกลับบางส่วน แต่ก็ไม่ถึงกับลุกลามไปทั้งประเทศ จนคุมไม่อยู่ รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอย่างดี อาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย รวมถึงประชาชนด้วย เช่นเดียวกัน เมื่อมีความร่วมมือ การแก้ปัญหาก็จะประสบความสำเร็จ และผ่านไปด้วยดี จนไม่ลุกลามกลายเป็นปัญหาระดับประเทศจนต้องปิดประเทศ เหมือนกับหลายๆ ประเทศ แม้เราคุมได้แต่หลายประเทศระบาด ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางระหว่างประเทศ และกระทบถึงเศรษฐกิจด้วย

⦁โควิดชี้ชะตาอัตราเติบโตศก.

ด้านเศรษฐกิจปี 2564 ทุกสำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจ ต่างมีมุมมองที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา อย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินเศรษฐกิจโลกขยายตัวเกิน 5% รวมถึงมองเศรษฐกิจก็เป็นบวก (4-5%) หรืออย่าง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินเศรษฐกิจไทยเป็นบวก (3.5-4.5%) ตามแรงกระตุ้นของภาครัฐ ผ่านการใช้งบประมาณ มาตรการกระตุ้นการบริโภค เช่น ผลที่ทำมาก่อนหน้านี้ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนจัดสินค้าสินค้าซึ่งต่อเนื่องมาแล้ว 8 ล็อตสามารถลดภาระใช้จ่ายประชาชนหลายพันล้านในปีก่อน ยังมีเรื่องประกันรายได้ซึ่งเป็นการเติมเงินให้เกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก เมื่อรายได้เกษตรกรดีขึ้นก็นำเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียน

อาจยกเว้นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทำรายได้เข้าประเทศ ก็ต้องขึ้นกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในภาคการท่องเที่ยวนั้น แยกเป็น 2 ขา คือ รายได้ที่เกิดจากการพึ่งพาจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ กับ รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทย ส่วนแรกนั้น นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เมื่อหลายประเทศยังติดขัดกับผลกระทบโควิด-19 และเชื่อว่าจะยังไม่เดินทางกันอีกระยะหนึ่ง หรือยังไม่พร้อมเดินทางระหว่างประเทศ รายได้ส่วนนี้ก็จะหายไป ยิ่งปี 2564 ยังวิตกเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีอยู่ ก็ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวของคนไทยต่อไป

โควิด-19 จึงยังปัญหาสำคัญที่จะชี้ชะตาว่าเศรษฐกิจไทยปี 64 เป็นบวกได้แค่ไหน แต่ก็เชื่อว่ายังเป็นบวก เพราะฐานปัจจัยต่อเศรษฐกิจในปี 2563 ต่ำ ปีนี้ตัวเลขโอกาสเป็นบวกจึงสูง แต่อย่างไรก็ต้องดูสถานการณ์ประกอบ โดยเฉพาะวัคซีนต้านไวรัส สามารถออกมาและมีประสิทธิผลอย่างที่คาดหวัง ได้มากหรือน้อยแค่ไหน ขาดเป็นปัจจัยสำคัญมากสุดในต้นปีนี้

ส่วนปัญหาการเมือง ผมคิดว่า ถ้าไม่มีใคร หรือ ไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมไปมากกว่าปีที่เกิดขึ้นในปี 2563 สถานการณ์การเมืองปีนี้ก็จะเบาบางลงได้ ยกเว้นมีใครสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม ไปจากที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ ตามที่ได้มีการดำเนินการขณะนี้ โดยไม่มีปัญหาไม่มีสะดุด ผมคิดว่าเป็นเงื่อนไขใหญ่ จะช่วยลดความรุนแรงทางการเมืองไม่ซ้ำรอยก่อนหน้านี้

นิยามปี 2564 ค่อนข้างยาก ซึ่งผมคิดว่าเหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน คล้ายกัน เพียงแต่ละประเทศมีรายละเอียดเชิงลึกแตกต่างกันไป

⦁ใช้จ่ายภาครัฐแม่เหล็กพยุงจีดีพี

มักจะเกิดคำถามว่า ปี 2564 มีอะไรที่จะเป็นขับเคลื่อนให้ประเทศไทยไปต่อ สำหรับประเทศไทย อันดับแรก คือ แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ดังนั้น ภาครัฐก็ต้องเร่งรัดงบประมาณผ่านโครงการและมาตรการต่างๆ ให้ได้ตามแผนงาน ยิ่งเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้แล้ว การจับจ่ายภาคเอกชนและภาคประชาชนก็จะคล่องในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องเร่งรัดนำรายได้เข้าประเทศ ทั้งภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยว รวมถึงภาคลงทุน แต่ในช่วงต้นๆ ของปีนี้ เราคงต้องพึ่งพาแรงขัดเคลื่อนจากภาครัฐบาล เป็นกลไกสำคัญ รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญ ทุกกระทรวงก็เตรียมหามาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง

เมื่อทิศทางว่าประเทศไทยจะเดินหน้าด้วยการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ ภารกิจหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ คือ เดินหน้าลดค่าครองชีพและลดภาระประชาชน และธุรกิจ ยอมรับว่าผลกระทบจากโควิด-19 จากปีก่อนยาวมาถึงปีนี้ ส่งผลต่อรายได้ประชาชนติดขัด ช่วงโควิดระบาดกระทบแรงงานตกงาน คนว่างงานตัวเลขยังสูง เป็นประเด็นน่าห่วง ไม่แค่ไทยทั่วโลกก็เหมือนกัน ดังนั้น เราจะเดินหน้าออกมาตรการลดค่าครองชีพ โครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ที่ทำมาแล้ว 8 ล็อต ก็จะเดินหน้าต่อทั้งปี หรือจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาจะหมดลง ภาคเอกชนทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายให้ความร่วมมือดีมาก ลดราคากันถึง 80-90% นั่นคือ เรามีเงิน 10 บาท ก็เหมือนได้สินค้า 90 บาท หรือ มีเงิน 20 บาทก็ซื้อสินค้าราคา 100 ได้

โครงการประกันรายได้ช่วยเหลือเกษตรกร เพิ่มเม็ดเงินในกระเป๋าเกษตรกร ถ้าราคาพืชผลทางการเกษตรตกกว่าเกณฑ์ ขณะเดียวกันจะเดินหน้าเข้มข้นภายใต้แนวคิดเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด เป็นยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิต ที่ร่วมกันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงพาณิชย์ ถือว่า ประสบความสำเร็จตามสมควรในปี 2563 ดูจากภาพรวมราคาพืชเกษตร ปีก่อน พบว่า อยู่ในเกณฑ์ดีเกือบทั้งหมด ราคาผลไม้ พืชเกษตรหลายตัว ราคากระเตื้อง เช่น ยางพารา ทะลุเพดานประกันรายได้กำหนดที่ 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยาง 55-56 บาท/กิโลกรัม ใกล้เพดานราคาประกันรายได้ที่ 57 บาท ยางถ้วย 21-23 บาทเท่าราคาประกันรายได้ ส่วนราคาปาล์มน้ำมันเกินเพดานแล้วถึง 7 บาท อาจมีราคาข้าวเปลือกแตะหมื่นบาทต่อตันในรอบ 10 ปี ปีนี้ราคาอาจอ่อนตัวลงบ้าง แต่รัฐก็มีการเติมเงินผ่านประกันรายได้ ผลไม้เราก็ได้ทำแผนล่วงหน้าไว้สำหรับหน้าร้อนนี้ ซึ่งในภาวะอย่างนี้เราจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น

ปี 2564 ประกันรายได้เกษตรกร ใน 5 พืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว ยาง มัน ปาล์ม อ้อย และ ข้าวโพด ปีที่ 2 ปีการผลิต 2563/64 ครอบคลุมจำนวนเกษตรกร 7.67 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 75,017.66 ล้านบาท ได้แก่ ข้าว 23,495 ล้านบาท 4.5 ล้าน ครัวเรือน โดยราคาประกัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

ปาล์มน้ำมัน วงเงิน 8,807.54 ล้านบาท 3.7 แสนครัวเรือน ผลปาล์มทะลาย (18%) กก.ละ 4 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่

มันสำปะหลัง วงเงิน 9.8 พันล้านบาท 5.2 แสนครัวเรือนหัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน ยาง วงเงิน 31,013.27 ล้านบาท 1.83 ล้านครัวเรือน ราคาประกัน ยางแผ่นดิบคุณภาพดี กก.ละ 60 บาท น้ำยางสด DRC 100% กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย DRC 50% กก.ละ 23 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ เป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไป และเปิดกรีดแล้ว โดยเจ้าของสวนได้ 60% คนกรีดได้ 40% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงิน 1.9 พันล้านบาท 4.5 แสนครัวเรือน กก.ละ 8.50 บาท ณ ความชื้น 14.5% ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่

ปี 2564 นโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ด้วยยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” มีเป้าหมาย 1 สร้าง 3 เพิ่ม ที่เริ่มต้นทำแล้วในปีก่อน ที่ดำเนินการ ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตขึ้นมาแล้ว เพื่อเป็นกลไกการบูรณาการระหว่าง ทั้ง 2 กระทรวงอย่างเป็นรูปธรรม และตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะตามพันธกิจร่วม 4 ด้านเรียบร้อยแล้ว

อีกทั้ง การหารือร่วมกับเอกชนในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าอย่างสม่ำเสมอ ผ่าน กรอ.พาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการขึ้นทะเบียนปัญหาไว้และดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ อาทิ แก้ปัญหาอุปสรรคด่านชายแดน หรือแก้ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออก เป็นต้น

อีกด้านคือ การพัฒนาอบรมผู้ประกอบการ มีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ สร้างเจนซีให้เป็นซีอีโอ “From Gen Z to be CEO” โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาคต่างๆ พัฒนาองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าออนไลน์ ให้กับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งการสัมมนาตรวจสุขภาพคู่ค้าเสริมคาถาธุรกิจ และสอนใช้แพลตฟอร์ม Tik Tok ในการทำธุรกิจ ผ่านกิจกรรม Workshop ครบเครื่องเรื่องการค้าออนไลน์ ปีนี้

⦁การค้าระหว่างประเทศยิ่งเข้มข้น

ปี 2564 การค้าระหว่างประเทศ จะเข้มข้นมากขึ้น เรื่องแรก คือ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะกำกับดูแลด้านส่งออก หากย้อนกับไปดูตัวเลขส่งออกปลายไตรมาส 3 ปี 2563 ก็จะพบว่า แนวโน้มการขยายตัวของการส่งออก ดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราติดลบลดลง ถ้าดูตัวเลขเดือนมิถุนายน 2563 ติดลบสูงถึง 23% กรกฎาคมลบเหลือ 11% เดือนสิงหาคมเหลือลบ 7% เดือนกันยายนเรื่อยมา ลบ 3-4% ถือว่าตัวเลขส่งออกฟื้นตัวรูป “ยู เชฟ” ทำให้ทั้งปี 2563 ติดลบไม่เกิน 7% จากตัวเลขอย่างเป็นทางการ 11 เดือนแรกปี 2563 ติดลบ 6.9% ปัจจัยสำคัญคือกระทรวงพาณิชย์ ทำงานร่วมเอกชน อย่างใกล้ชิด ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐ-เอกชน พาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ที่ผมได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปีก่อน เมื่อมีปัญหาไม่ว่าอะไร หรือ แม้จากโควิด-19 ระบาด ก็ได้หารือและนำไปสู่การปรับตัวได้เร็ว แม้เดินทางไปขายสินค้าหรือโรดโชว์ในต่างประเทศไม่ได้ แต่ได้สร้างกลไกเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศ ที่มีพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ เป็น หัวหอก สำคัญ ร่วมกับเอกชน ปีนี้ก็จะยังเดินหน้าต่อ

การแข่งขันการค้าโลก ที่ไทยต้องเร่งหาวิถีการส่งออกให้แตกต่างหลังจากที่โควิด-19 คลี่คลาย ทุกประเทศต้องรุกหนักในด้านส่งออก ดังนั้น ปี 2564 จะเห็นการเร่งรัดพัฒนาการส่งออก โดยใช้ทูตพาณิชย์เป็น ทีมเซลส์แมนประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำการตลาดออนไลน์ จัดเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (online business matching) จัดงานแสดงสินค้านานาชาติในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual trade fair) จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทางออนไลน์คู่ขนานไปกับออฟไลน์ (Hybrid Edition) ปรับรูปแบบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าไทย (TOP Thai Brands) เป็นการเข้าร่วมในรูปแบบ Mirror-Mirror และ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทย โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง เพื่อรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก

ตั้งแต่ต้นปี 2564 จะได้เห็นการเร่งเจาะตลาดศักยภาพที่ยังไม่มีสินค้าจากไทยมานัก อาทิ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และ กลุ่มเครือ CIS สร้างความเชื่อมโยงไทยสู่ตลาดโลก ด้วยการมุ่งเน้นการเจรจา RCEP ในฐานะ FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และการเจรจา FTA เพิ่มเติม และ การจัดทำ Mini-FTA รายรัฐหรือมณฑล อาทิ รัฐเตลังกานาของอินเดีย จังหวัดคยองกีของเกาหลีใต้ และมณฑลไหหลำของจีน ซึ่งทำคู่กับผลักดันการค้าภายในประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ด้วยทีมเซลส์แมนจังหวัด ในรูปแบบการขยายตลาดสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ 4 ช่องทาง ทั้งช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์ (โมเดิร์นเทรด สมาร์ทโชห่วย ธงฟ้า โมบายมาร์เก็ต ตลาดกลาง ตลาดนัด ตลาดต้องชม ร้านค้าธงฟ้า) เกษตรพันธสัญญา และเคาน์เตอร์เทรด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ เมื่อเขามีศักยภาพ เราก็จะให้พื้นที่การเปิดในต่างประเทศสัดส่วน 10-15% ของการจัดงานแต่ละครั้ง

เรื่องที่สองของการค้าระหว่างประเทศ คือ ผลักดันการใช้ประโยชน์ จากความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยทำกับนานาประเทศ โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ อาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2563 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้บรรลุการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่เจรจา รวม 16 ประเทศ ที่จะมีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน และขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งแต่ละประเทศอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอเข้าที่ประชุมวุฒิสภา และเร่งรัดให้สรุปได้ก่อนปิดสมัยเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็จะมีการลงสัตยาบันและมีผลบังคับใช้ได้ทันที ซึ่งทำให้การส่งออกนำเข้าสินค้าระหว่างกันได้ง่ายขึ้น ต้นทุนราคาลดลงจากภาษีนำเข้าส่วนใหญ่เป็นศูนย์ ซึ่งจะสามารถทดแทนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ได้อีกทางหนึ่ง ผนวกกับแผนเจาะตลาดเมืองหรือมณฑลในประเทศใหญ่ แบบมินิเอฟทีเอ ก็จะทำให้การส่งออกปี 2564 ก็ได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ ตั้งไว้ 4% อยู่บนเงื่อนไขไวรัสโควิด-19 ไม่รุนแรงกว่าปีนี้ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว สงครามการค้าไม่ดุกว่าปีนี้ และค่าเงินบาทไม่ได้แข็งจนแข่งขันไม่ได้กับประเทศคู่แข่ง

อยากให้กำลังใจธุรกิจว่า อย่างไรเราต้องไปด้วยกัน ก็อยากให้คิดว่า โควิด เป็นทั้งอุปสรรค เหมือนเราขับรถโควิดคือสิ่งที่ทำให้ถนนลื่น หรือ ขรุขระ รถที่เคยวิ่งได้ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็เหลือ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image