44 ปี มติชน ประเทศไทยไปต่อ : อาคม เติมพลังปี’64 กระตุ้นไทยฉลุยปี’65

44 ปี มติชน ประเทศไทยไปต่อ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เติมพลังปี’64 กระตุ้นไทยฉลุยปี’65

ย้อนดูปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจ เป็นวิกฤตที่สาหัส ส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ แต่การบริหารจัดการของรัฐบาลทำได้ดี จนได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าสามารถจำกัดผู้ติดเชื้อรวมทั้งอัตราการเสียชีวิตได้ดี

หากเปรียบเทียบกับทั่วโลก ประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับต้นๆ และการติดเชื้อถือว่าต่ำมาก

Advertisement

รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยประกาศปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไม่ได้ นักท่องเที่ยวจำนวน 40 ล้านคนหายไปทันที คิดเป็น 12% ของจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากและส่งผลกระทบไปหลายส่วน อีกส่วนหนึ่งคือ 6% ของจีดีพี จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมกันแล้วเป็น 18% ที่หายไป

ดังนั้น มาตรการรัฐบาลจึงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น

รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยา ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่จ่ายให้ประชาชนคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งการแจกเงิน เป็นเพียงการเยียวยา ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระยะสั้นและใช้แล้วหมดไป

Advertisement

รัฐบาลมองว่าประชาชนบางส่วนนั้น มีเงินถืออยู่ในมือ แต่ไม่ยอมใช้จ่าย จึงมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ที่ภาครัฐช่วยจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง หรือ 50% แต่ไม่เกิน 150 บาท ที่ช่วยลดภาระค่าครองชีพ รวมไปถึงการสร้างรายได้ให้ร้านค้ารายย่อย ร้านหาบเร่แผงลอย นอกจากนี้ ยังเป็นการทำให้ประชาชนนำเงินออกมาใช้จ่าย ให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน รัฐบาลช่วยออกให้ 40% ทั้งค่าที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และมีบัตรกำนัล รวมทั้งขยายเวลาไปถึงเดือนเมษายน 2564 ตอนแรกนั้นคนไม่ค่อยใช้จ่าย แต่หลังจากที่โรงแรมหรูเริ่มเปิด ประชาชนจึงสนใจที่จะเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้เพิ่มรายได้ ได้ 3% ต่อจีดีพี แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศนั้นมีมูลค่า 6% ต่อจีดีพี รัฐบาลจึงต้องขยายระยะเวลาเพิ่ม เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ และสร้างรายได้กลับมาเท่าเดิม

ส่วนกลุ่มคนมีรายได้น้อย ที่ถือบัตรสวัสดิการ รัฐบาลก็เติมเงินให้อีก 500 บาทต่อเดือน ส่วนคนที่รายได้อยู่ในเกณฑ์เสียภาษี ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนหลังจากการใช้จ่ายผ่านช้อปดีมีคืน ได้สูงสุด 30,000 บาท ก็สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563 ทั้งหมดนี้คือ กำลังซื้อภายในประเทศที่รัฐบาลสร้างขึ้นมา ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ถึงตอนนี้ เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ในไตรมาส 2/2563 ที่ลบถึง 12.2% เป็นลักษณะคล้ายท้องช้าง ส่วนไตรมาส 3/2563 ติดลบเหลือ 6.4% หากเปรียบเทียบกันไตรมาส 3 เทียบไตรมาส 2 เศรษฐกิจบวกขึ้นเกือบ 6% ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี แต่รัฐบาลยังเชื่อว่าแรงฉุดกระชากตรงนี้ ยังมีความต่อเนื่องถึงปี 2564 จึงต้องมีมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจต่อไปตลอดปี

กลับมาดูเศรษฐกิจปัจจุบันปี 2564 เริ่มต้นปี การใช้จ่ายของประชาชนยังคึกคักระดับหนึ่ง ประกอบกับราคาสินค้าลดลง ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ใช้น้ำมันน้อยราคาจึงต่ำ เป็นประโยชน์ต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคปีนี้ โดยประมาณเงินเฟ้อสูงแค่ 1%

อีกส่วนที่จะเห็นต่อเนื่อง คือ การลงทุนภาครัฐ การก่อสร้างถนน-รถไฟฟ้า นั้น แม้ช่วงล็อกดาวน์ก็ไม่หยุดการดำเนินการก่อสร้าง แต่ก็ดูแลสุขอนามัย และป้องกันเชื้อโรค ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว ซึ่งการลงทุนของภาคเอกชน ก็เห็นได้มากขึ้น ทั้งที่ผ่านมาตรการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และไม่ได้ผ่านบีโอไอ การลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีโครงการขนาดใหญ่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย มีเป้าหมายอยู่ที่ 10 อุตสาหกรรมใหม่ที่เราอยากจะเห็น รวมทั้งมาตรการในการเร่งให้บริษัทที่ได้รับการอนุญาตจากบีโอไอไปแล้ว ดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

⦁เชื่อว่าการลงทุนต่อเนื่องตลอดปี 2564 จะดีขึ้น

เรื่องตลาดทุนสะดุดบ้างจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่นักลงทุนยังเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย คนที่ไม่ได้อยู่ในตลาดทุนก็ลงทุน หลายบริษัทออกหุ้นกู้ช่วงโควิด-19 เพื่อขยายกิจการ

ปี 2564 เราจะเห็นภาพเมืองที่เปลี่ยนไป ไม่แค่ กรุงเทพฯที่จะมีระบบรถไฟทันสมัย มีรถไฟความเร็วสูงช่วยลดระยะเวลาเดินทาง และแก้ปัญหารถติด สถานีกลางบางซื่อ จะกลายเป็นสถานีศูนย์รวมขนาดใหญ่ เชื่อมเส้นทางกรุงเทพฯ กับพื้นที่ต่างๆ จะมีพื้นที่ให้ภาคเอกชนลงทุน พัฒนาเป็นย่านการค้า โรงแรม ที่พักอาศัย ผ่านโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) นอกจากนี้ มีโครงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนพักผ่อนใจกลางเมือง อาทิ สวนเบญจกิติ การปรับปรุงทัศนียภาพตามแม่น้ำและคลอง จะช่วยให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองสวยงามและทันสมัยมากขึ้น (สมาร์ท ซิตี้)

ภาคการส่งออก ตัวเลขติดลบลดลงเรื่อยๆ ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวกลับมาเป็นบวก สะท้อนได้อีกจาก ยอดขายรถในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้น แต่กว่าจะกลับมียอดเท่ากับก่อนโควิด-19 ต้องใช้เวลา อย่างน้อยเราก็เห็นสัญญาณฟื้นตัว

ยกเว้นภาคการท่องเที่ยว เริ่มต้นตั้งจากศูนย์ แม้ประเทศไทยประกาศพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ต่างชาติจะเดินทางมาไหม ก็อยู่ที่การแพร่ระบาดของโควิด เป้าหมายต่ำสุดจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งไว้ 5 ล้านคน คนไทยก็จะเที่ยวในไทยพื้นที่ปลอดภัยจากโควิด-19 การท่องเที่ยวหายไปอย่างไรก็ไม่ได้เต็มร้อย ถ้ายึดจากตัวเลข 40 ล้านคนต่อปี คงใช้เวลา 4 ปี ถึงจะเท่าเดิม รัฐยังเชื่อว่าจะเห็นบรรยากาศท่องเที่ยวกลับมาบ้างแล้ว

โควิด-19 ปัจจัยเสี่ยงที่เราเคยมีประสบการณ์แล้ว แรกๆ คนอาจตกใจ จนยกเลิกเที่ยวบิน ยกเลิกจองโรงแรม แต่ตอนนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการการล็อกเฉพาะพื้นที่เสี่ยง และควบคุมไม่ให้คนที่ติดเชื้อเดินทาง ไปแพร่กระจายเชื้อในพื้นที่อื่น ตอนนี้รัฐบาลมีความสามารถติดตามผู้ติดเชื้อได้ เมื่อพบที่ไหนต้องมีการกักตัวทันที เชื่อว่าเรามีประสบการณ์มาแล้ว น่าจะจัดการกับปัญหานี้ได้ จากปัญหาโควิดระบาดในพื้นที่สมุทรสาคร มีโรงงาน 7 พันแห่ง ยังมีรายการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ถ้าปิดโรงงานจะทำให้ส่งมอบสินค้าไม่ทัน ดังนั้น เราต้องเข้มงวดเรื่องตรวจสุขภาพของแรงงาน เอาผิดแรงงานลักลอบผิดกฎหมาย

อีกปัจจัยสำคัญ คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ต้องจับตานโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ นายโจ ไบเดน ในเรื่องนโยบายกีดกันทางการค้าและใช้มาตรการต่างๆ อย่างกระทรวงการคลังของสหรัฐ จัดไทยอยู่ในประเทศต้องจับตามองเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เจรจากับสหรัฐยืนยันไทยไม่มีการแทรกแซงค่าเงิน

ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 จนถึงขณะนี้ รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพื่อให้มีงบประมาณใช้จ่ายเพียงพอ รัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แบ่งใช้จ่ายในด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะใช้ให้การสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่วนการเยียวยา 5.55 แสนล้านบาท ใช้ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน รวมทั้งจ่ายในโครงการคนละครึ่ง และ ส่วนการฟื้นฟู อีก 4 แสนล้านบาท ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 3.47 แสนล้าน จึงยังเหลือเงินอยู่สำหรับใช้เยียวยาและฟื้นฟู ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม และบริหารจัดการ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
ที่จะสิ้นสุดเดือนกันยายน 2564

วงเงินก้อนสอง คือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) 5 แสนล้านบาท แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก จึงมีเงินใช้ไปเพียง 1.22 แสนล้านบาท ส่วน พ.ร.ก.เพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดทุน 4 แสนล้านบาท ขณะยังไม่มีการใช้เงินส่วนนี้ เนื่องจากตลาดทุนไม่ได้รับผลกระทบ

⦁ชูพลัง 3 ประสานสู้โควิด

เห็นได้ว่ารัฐบาลนั้นมีรายจ่าย ดังนั้น ในการทำนโยบายมหภาค ต้องประกอบด้วย 3 เรื่องด้วยกัน หรือ เรียกว่าพลัง 3 ประสาน คือ นโยบายด้านการเงิน การคลัง และตลาดทุน โดยทั้ง 3 ด้านต้องประสานกัน กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือกันตลอด เพื่อให้นโยบายการเงิน ออกมาสอดคล้องและเอื้อกับกระทรวงการคลัง ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เหมือนทุกประเทศก็ผ่อนคลายมาตรการเงินหมดแล้ว

44 ปี มติชน ประเทศไทยไปต่อ

การทำงบประมาณต้องทำปีต่อปี โดยงบประมาณกลางเผื่อกรณีฉุกเฉิน ถ้าไม่เพียงพอต่อการแก้ผลกระทบจากโควิด-19 ได้สามารถกู้เงินเพิ่ม แต่ถ้านโยบายการเงินไม่เอื้ออำนวย มองว่าการกู้เงินสิ้นเปลือง กลัวเงินเฟ้อและเพิ่มดอกเบี้ย แบบนี้จะทำให้การกู้เงินทำได้ยาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ก็ถือว่าเหมาะสมในตอนนี้ ด้านการกู้เงิน รัฐบาลมีกฎหมายกำกับ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) วินัยการเงินการคลัง คุมวินัยไว้ที่ไม่เกิน 60% และการกฎหมายเรื่องการใช้จ่ายเงินล่วงหน้า มาตรา 28 ของวินัยการเงินการคลัง ซึ่งงบประมาณประจำปี วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ถ้ามีความจำเป็นจะใช้เงิน และไม่ได้อยู่ในงบประมาณ สามารถเบิกงบประมาณใช้ได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรวม หรือประมาณ 9.9 แสนล้านบาท ส่วนนี้เอาไปใช้ในการประกันรายได้เกษตรกร หรือภัยพิบัติ ซึ่งเป็นส่วนที่นอกเหนือจากเงินงบประมาณ และเมื่อเบิกจ่ายไปแล้ว ต้องไปตั้งงบประมาณปีถัดไปชดเชยให้ การจัดทำกฎหมายหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไว้ไม่เกิน 60% เนื่องจากในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นั้น หนี้ต่อจีดีพีขณะนั้นสูงเกิน 60% ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายวินัยทางการเงินการคลัง จึงเป็นที่มาว่าเราจะเปล่าให้หนี้สาธารณะขึ้นสูงไปกว่านั้นไม่ได้ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ จึงกำหนดไว้ไม่เกิน 60%

คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 อยู่ที่ 4% จากทั้งปี 2563 ลบประมาณ 6% นี่คือฐานที่ใช้ในการประมาณการปี 2565 จะบวก 3.5% ดังนั้น ต้องเตรียมแผนของงบประมาณปี 2565 แล้ว โดยงบประมาณประจำปี ได้มีกำหนดให้ตั้งเป็นแบบขาดดุล 20% ตามกฎหมาย ซึ่งปี 2565 ยังทำงบประมาณขาดดุลอยู่ เนื่องจากเราต้องใช้จ่าย คาดว่าจะขาดดุลประมาณ 7 แสนล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่า ข้อจำกัดทางด้านรายได้ และการจัดเก็บที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจปิดหยุดลง กำไรลดลง รวมทั้งการเลื่อนชำระภาษีของปี 2563 ไปชำระปี 2564

ดังนั้น ปี 2565 ยังกระทบอยู่ จากผลปี 2564 รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น รายได้ยังขาดอยู่ จึงเป็นที่มาว่ารัฐบาลต้องทำนโยบาย 3 ประสานเพื่อเปิดช่อง เราต้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ด้วย เพื่อให้รัฐบาลมีเงินเพียงพอ เพราะว่ารายได้ต่อจีดีพีของไทยยังต่ำ 15-16% และจากที่รัฐบาลมีมาตรช่วยเหลือ ลดแลกแจกแถม รวมทั้ง ลดหย่อน และยกเว้นค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้ขยายฐานภาษีได้มาก

อีกทางคือรายได้นำส่งจากรัฐวิสาหกิจ แต่ปี 2563 ปิดสนามบิน การท่าอากาศยานหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนำส่งได้มากที่สุดในอดีต ก็ลดนำส่งลง เชื่อว่าปี 2565 ถ้าเรามีการจัดการจัดเก็บภาษีได้มากยิ่งขึ้น จะทำให้ฐานะการคลังอยู่ระดับมั่นคง ส่วนฐานะการคลังไทย ยังแข็งแรงและมั่นคง ทั้งเรื่องหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ทุนสำรองระหว่างประเทศ และ ฐานะการเงินการคลัง ยังมีฐานะเป็นบวก ดังนั้น เชื่อว่าฐานะการเงินการคลังของไทยยังมั่นคงและไม่มีปัญหา

⦁ปูอนาคต 10 อุตสาหกรรม

การลงทุนภาคอุตสาหกรรม 10 ใหม่ เน้นเป็นพิเศษ คือ 1.ธุรกิจด้านดิจิทัล และธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้เท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งระบบการชำระเงิน ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ถ้าปรับเปลี่ยนเป็นการเก็บเอกสารจากรูปแบบกระดาษเป็นรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ จะประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น

2.ธุรกิจสีเขียว หรือธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์เรื่องลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม เช่น PM2.5 รัฐบาลต้องส่งเสริมด้านนี้อย่างเข้มข้น โดยการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้รถไฟระบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนเครื่องจักรแบบดีเซล หรือการสนับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่อาจจะเริ่มจากส่วนราชการก่อน

3.ธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งในเรื่องการแพทย์นั้นไทยเป็นประเทศที่เป็นเลิศให้ด้านนี้ ส่วนด้านสุขภาพนั้น อาจจะมีบัตรกำนัลให้สำหรับคนที่มีสุขภาพดี เพื่อจูงใจให้คนรักษาสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีโครงการด้านการแพทย์และสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาทิ โครงการบ้านพักผู้สูงอายุ รามา-ธนารักษ์ ซึ่งการลงทุนนั้นทางกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในเรื่องภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุน

เป็นทิศทางเศรษฐกิจที่ทำให้มองเห็นว่า ประเทศไทยจะไปต่ออย่างไร…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image