44 ปี มติชน ประเทศไทยไปต่อ : สุชาติ ปฏิรูป‘ประกันสังคม’เพิ่มคุณภาพชีวิตให้‘แรงงาน’

 

สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ปฏิรูป‘ประกันสังคม’เพิ่มคุณภาพชีวิตให้‘แรงงาน’

ประเทศไทยในปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 รอบใหม่ ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ยังคงมุ่งเน้นดูแลทุกข์สุขของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบเป็นหลัก ซึ่งการดูแลนั้นรวมถึงแรงงานต่างด้าวด้วย

สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าใน “วิกฤต” แต่มี “โอกาส” ในวันที่ “วัคซีนโควิด-19” ใช้ได้ คนทั่วโลกจะหันมาเที่ยวประเทศไทย เพราะเราคาดว่าจะฟื้นตัวก่อน และปลอดภัยกว่าอีกหลายๆ ประเทศ และที่สำคัญค่าใช้จ่ายในประเทศไทยไม่สูง

Advertisement

ณ วันนี้ สถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศไทย ธุรกิจท่องเที่ยวได้มีการปรับปรุง รีโนเวทสถานที่ใหม่ เพื่อกลับมารอรับนักท่องเที่ยว เชื่อว่ากลางปี การท่องเที่ยวจะกลับมาสู่สภาวะปกติ

จากการสำรวจสถานการณ์แรงงานในประเทศไทย ตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2563 มีสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป 485,672 แห่ง ลูกจ้างผู้ประกันตน จำนวน 16,264,626 คน แบ่งเป็น ผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 11,036,662 คน มาตรา 39 จำนวน 1,768,176 คน และ มาตรา 40 จำนวน 3,459,788 คน

ผมได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังปัญหาข้อขัดแย้ง ข้อพิพาทแรงงานที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงปลายปี 2563 จากการเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน เงินโบนัส และสวัสดิการต่างๆ รวมไปถึงปัญหาด้านแรงงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผล
กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการบริการ โดยให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจ และช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติในพื้นที่โดยเร็ว ซึ่งผลจากการดำเนินงานของ กสร.เป็นที่น่าพอใจ สามารถช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง แก้ไขปัญหาข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทแรงงานให้ยุติลงโดยเร็ว จนทำให้ตัวเลขสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ลดลงในทุกด้าน โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม จนถึงเดือนธันวาคม 2563 พบตัวเลขการยื่นข้อเรียกร้องจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 283 แห่ง การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 44 แห่ง การขนส่ง จำนวน 25 แห่ง และอื่นๆ อีก 351 แห่ง รวมทั้งสิ้น 703 แห่ง

Advertisement

กสร.สามารถดำเนินการให้ข้อเรียกร้องยุติแล้ว 531 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 75.53 ส่วนข้อพิพาทแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 121 แห่ง ยุติแล้ว 104 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85.95 สำหรับข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กิจการโรงแรม และอื่นๆ มีจำนวน 54 แห่ง 27 แห่ง 12 แห่ง และ 43 แห่ง ตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 136 แห่ง ดำเนินการให้ข้อขัดแย้งยุติแล้ว 134 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98.53 ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2564 มีการจดทะเบียนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว จำนวน 131 แห่ง ทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินกว่า 7,600 ล้านบาท

“จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ในช่วงปลายปีของเดือนตุลาคม-ธันวาคม ในปี 2562 เกิดข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทแรงงาน และข้อขัดแย้งในสถานประกอบกิจการ จำนวน 278 แห่ง 49 แห่ง และ 26 แห่ง ตามลำดับ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 พบว่ามีข้อเรียกร้อง จำนวน 244 แห่ง ลดลง 34 แห่ง ข้อพิพาทแรงงาน มีจำนวน 33 แห่ง ลดลง 16 แห่ง และข้อขัดแย้ง มีจำนวน 23 แห่ง ลดลง 3 แห่ง แสดงให้เห็นว่าภาพรวม ในปี 2563 สถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ลดลงทุกด้าน คิดเป็นร้อยละ 15.01”

เห็นได้ว่าผลจากการเฝ้าระวังและเข้าไปแก้ไขปัญหาเชิงรุก สามารถยุติปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบกิจการได้เป็นอย่างดี และมีแนวโน้มว่าการเกิดข้อพิพาทแรงงานจะลดลงด้วย ดังตัวเลขที่ปรากฏ

“ยอมรับว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ก็มีแรงงานหดหายไป แต่ถามว่ามีกลับมาใหม่หรือไม่ ก็มีตัวเลขล่าสุดการกลับมาใหม่ช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม 2563 ตัวเลขของผู้ไม่เคยทำงานเลยและกลับเข้ามาสู่ระบบการรับจ้างงาน มี 234,000 ราย แต่ตัวเลขที่น่าสังเกตคือ การใช้สิทธิว่างงาน 3 กรณี การเลิกจ้าง หมดสัญญาจ้าง และลาออก ตัวเลขคร่าวๆ ในเดือนเมษายน จำนวน 160,000 ราย เดือนพฤษภาคม 110,000 ราย เดือนมิถุนายน 120,000 ราย เดือนกรกฎาคม 150,000 ราย แต่เดือนตุลาคม มีแค่ 50,000 ราย ใช้สิทธินี้ นับตัวเลขตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคม มีประมาณ 798,000 ราย ที่ใช้สิทธิกรณีว่างงาน ตัวเลขนี้บ่งชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้าย เศรษฐกิจยังไปต่อได้ และมีตัวเลขอีกตัวเลขที่ทำให้เรามองเห็น คือ ตัวเลขผู้ใช้สิทธิว่างงาน 798,000 ราย กลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานใหม่ คือ ลาออกจากบริษัทหนึ่ง เพื่อไปทำอีกบริษัทหนึ่ง ประมาณ 80,000 ราย

แต่อีกราว 700,000 ราย อาจจะยังได้เงินชดเชยอยู่ 200 วัน แต่ตัวเลขที่เรากำลังประเมินคือผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือนเมษายนมีประมาณ 11,500,000 รายแต่เดือนตุลาคม 11,036,000 ราย ซึ่งหายไปเกือบ 500,000 ราย แต่ในเดือนพฤศจิกายนตัวเลขผงกหัวขึ้น เป็น 11,750,000 ราย แต่ว่ามีการทำงานเข้าสู่ระบบเพิ่มอีกกว่า 20,000 ราย”

ยังมีแรงงานนอกระบบ ซึ่งเรายังไม่มีฐานข้อมูล เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย อาชีพแม่บ้าน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 10 ล้านคน และรัฐบาลได้ดูแลแรงงานนอกระบบอย่างดี โดยร่วมกับกระทรวงการคลัง เช่น หาบเร่แผงลอยมีโครงการคนละครึ่งเพื่อกระตุ้นให้เขามีการค้าขายที่ดีขึ้น

ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่แล้วกว่า 1 ล้านคน และยังมีความต้องการเพิ่มเติมนั้น ต้องยอมรับว่าเวลานี้เราไม่สามารถเปิดเอ็มโอยูกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังแรง แต่ได้มีการดูแลกลุ่มแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย และถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

“เป็นห่วงบริษัทที่ขาดแรงงานต่างด้าว จะหาตรงไหนให้เขาวันนี้ เรามีโครงการช่วยเหลือ อย่าลืม! ว่าเรามีคนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศมาก เช่น กลุ่มก้อนที่ชัดเจน คือ มาเลเซีย ที่เราบูรณาการร่วมกันกลับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งมีตัวเลขที่ชัดเจนคือ 17,000 ราย ที่กลับเข้ามา ต้องเอาคนเหล่านี้มาทำงานในพื้นที่ที่มีงาน และที่ต้องการแรงงานต่างด้าว แต่ขณะนี้ยังไม่มี เช่น บริษัทใน จ.เพชรบุรี ล่าสุดส่งแรงงานที่กลับมาจากมาเลเซียไปแล้วกว่า 1,000 คน และปีนี้ จะมีการดำเนินการในลักษณะกับจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการแรงงานด้วย

อีกทั้งมีแผนจัดฝึกอาชีพอัพสกิล/รีสกิล (Up skill/RE skill) ฝึกอบรมภาษาต่างประเทศ เตรียมกำลังคนไว้ป้อนตลาดแรงงานในต่างประเทศที่เขาต้องการแรงงานฝีมือจากไทย เช่น อิสราเอล ต้องการแรงงานทำงานภาคเกษตร ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ต้องการแรงงานไทยเป็นหมื่นคน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ปีละแสนๆ ล้าน โดยตั้งเป้าหมายส่งออกประมาณ 2 แสนคน หรือคิดเป็น 1 เท่าตัว จากที่เคยส่งออกไป

ส่วนเรื่องประกันสังคม ล่าสุดได้ออกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 และมีความพร้อมรองรับการให้บริการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม เป็นต้นไป โดยผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิ ต้องเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน จึงจะเกิดสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน แต่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคหรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน

ยังมีการแบ่งเบาภาระของนายจ้าง และลูกจ้างด้วยการลดการจ่ายเงินสมทบจากเดิมจ่ายฝ่ายละ ร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มเดือนมกราคม-มีนาคมนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่แรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน

นอกจากนี้ มีแนวคิดจะแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินชราภาพออกมาใช้กู้ หรือค้ำประกันในยามฉุกเฉินจำเป็นได้ หรืออาจจะมีการสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบสำหรับโรงพยาบาลในเครือข่ายที่มีอยู่ 240 แห่ง ต่อไปในอนาคตด้วย ซึ่งทุกอย่างอาจใช้เวลากว่าจะเห็นเป็นรูปธรรม แต่ต้องเริ่ม! นับหนึ่งตั้งแต่วันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image