Empowering Thailand 2021 “คมนาคม” โชว์แผนอัพเกรด 4 มิติ ดันไทยศูนย์กลางคมนาคม-โลจิสติกส์-เสือ ศก.ใหม่

Empowering Thailand 2021 “คมนาคม” โชว์แผนอัพเกรด 4 มิติ ดันไทยศูนย์กลางคมนาคม-โลจิสติกส์-เสือ ศก.ใหม่

“120 วัน” คือตัวเลขทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเดิมด้วยโครงการนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เพื่อพลิกเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง

หนังสือพิมพ์มติชน ภายใต้ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างเฉียบคมมาตลอดระยะเวลา 43 ปี พร้อมก้าวสู่ปีที่ 44 อย่างแข็งแกร่ง เห็นว่าประเทศจะก้าวต่อไปได้ หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญคือ การลงทุนของภาครัฐ จึงจัดเวทีใหญ่ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่อาคารมติชน ถือเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่แห่งปี! ที่สามารถระดม “คีย์แมน” ระดับชาติ โดยเฉพาะ กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม หนึ่งในปัจจัยเร่งการขับเคลื่อนประเทศ เสริมเขี้ยวเล็บการแข่งขันให้ไทยไม่แพ้ใครในระดับโลก พร้อมด้วย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมเวทีจัดเต็มวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ บอกเล่าทิศทางการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่างๆ ที่จะเป็นความหวังครั้งใหญ่ของประเทศ

เนื้อหาสาระและความเข้มข้นบนเวที ไม่ว่าจะเป็น โครงการแลนด์บริดจ์ โครงข่าย MR-MAP การเพิ่มศักยภาพเรื่องดิจิทัลของสนามบิน ฯลฯ “มติชน” ส่งตรงถึงทุกคนในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง ผ่านเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และมติชนสุดสัปดาห์ พร้อมช่องทางยูทูบมติชนทีวี และข่าวสดทีวี นับเป็นงานใหญ่ครั้งที่ 4 ของหนังสือพิมพ์มติชนในปีนี้ ภายใต้แคมเปญ “ประเทศไทยไปต่อ” ที่เครือมติชนจัดต่อเนื่องตลอดปี 2564

เริ่มด้วย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” ต่อด้วย สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ขึ้นเวทีร่วมกันในช่วงเสวนา “ลงทุนไทย เคลื่อนประเทศไทย” ปิดท้ายด้วยแม่ทัพระบบคมนาคมครบทุกรูปแบบ “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” ทั้ง ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และ ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กับการเสวนา “เปิดแผนคมนาคม เปิดประเทศ ขับเคลื่อนอนาคตไทย”

Advertisement

ทั้งหมดเพื่อเติมเต็มประเด็นแหลมคม หนุนภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันผนึกกำลังผลักดันให้ “ประเทศไทยไปต่อ” อย่างแข็งแกร่ง!

ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม 4 ด้าน สร้างไทยเป็น “เสือเศรษฐกิจ”

การพัฒนาระบบคมนาคม “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” ควบคู่กัน คือสิ่งที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ย้ำในปาฐกถาพิเศษ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่หากช้าไปเพียงนิด ประเทศไทยก็อาจตกขบวนได้

Advertisement
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

รมว.คมนาคม เริ่มด้วยการกล่าวถึงความพร้อมของกระทรวงฯ ในโครงการนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” ว่า ขณะนี้ ระบบขนส่งทุกมิติที่เชื่อมต่อกับจังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมเต็มร้อย แม้จะมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพของภูเก็ตที่เป็นเกาะ ทำให้สามารถควบคุมการเข้าออกพื้นที่ได้ทุกช่องทาง อีกทั้งแผนการฉีดวัคซีนที่จะเดินหน้าฉีดให้ประชาชนในภูเก็ตทั้งหมด ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทางหนึ่ง

รมว.คมนาคม ยังกล่าวถึงแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาประเทศและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนด้วยว่า จำเป็นต้องพัฒนาทุกด้าน

เริ่มจากโครงสร้างคมนาคม “ทางบก” เกิดเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land bridge) ซึ่งแต่เดิมมีความพยายามเชื่อมต่อการเดินทางจากอันดามันมาฝั่งอ่าวไทยด้วยการขุดคอคอดกระ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปมาก การเดินทางเชื่อมสองฝั่งไม่จำเป็นต้องขุดคลอง เพราะใช้งบประมาณมหาศาลและเป็นการทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคมจึงศึกษาและพัฒนาเป็นโครงการแลนด์บริดจ์ พัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพรและท่าเรือน้ำลึกระนอง พร้อมนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ เชื่อมด้วยโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับระบบราง (MR-Map) ซึ่งจะไปสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อสร้างให้เป็นเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ในภูมิภาคอาเซียน

“ผมบอกท่านนายกฯ ว่า อาจไม่สำเร็จในรุ่นเรา แต่จะเป็นพื้นฐานการเดินทางในอาเซียนต่อไป” รมว.คมนาคม กล่าว พร้อมบอกด้วยว่า ปัจจุบัน มีทูตและนักลงทุนหลายประเทศถามถึงรายละเอียดโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งในที่สุดจะเป็นเรื่องการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ไม่ใช่แค่นักลงทุนในประเทศอย่างเดียว เพราะคนที่ใช้เส้นทางดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะคนไทย แต่เป็นเส้นทางระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมต้องยึดหลักกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล พร้อมสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ด้านระบบคมนาคม “ทางอากาศ” รมว.คมนาคม บอกว่า ทุกวันนี้ไทยมีสนามบินนานาชาติ 6 แห่ง คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ ซึ่งรองรับผู้โดยสารไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างรันเวย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มอีก 1 เส้น จากเดิมที่มี 2 เส้น และมีโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) เพิ่มอีกที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เป็น 90 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันที่รองรับได้ 60 ล้านคนต่อปี ขณะเดียวกัน ก็ต้องขยายสนามบินดอนเมือง เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินอู่ตะเภาคาดว่าจะรองรับได้ราว 60 ล้านคนต่อปี เพราะฉะนั้น สนามบินทั้งหมดน่าจะรองรับได้ 200 ล้านคนต่อปี

ส่วนระบบคมนาคม “ทางราง” รมว.คมนาคมเผยว่า มีการพัฒนาทั้งรถไฟทางคู่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้มาก และมีแผนจะผลักดันให้การขนส่งสินค้าเข้าไปอยู่ในระบบรางราว 30% จากการขนส่งทั้งหมด มีการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งปัจจุบันมี 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร รวมทั้งพัฒนารถไฟรางเบา เช่นที่พิษณุโลก ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีกด้วย และระบบคมนาคม “ทางน้ำ” จะจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ที่ตอบโจทย์การขนส่งในประเทศฝั่งอ่าวไทย รวมทั้งมีสายตะวันออกและสายตะวันตก ที่จะวิ่งไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งสองฝั่งของไทย

“หากเดินหน้าได้หมดก็เชื่อว่าไทยมีอนาคต คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน เขื่อมั่นประเทศไทยด้วยกัน แล้วไทยจะกลับมาเป็นเสือเศรษฐกิจได้” รมว.คมนาคม ย้ำ

ภาคเอกชนหนุนเปิดประเทศ ชี้ “วัคซีน” คือความหวัง

เปิดประเทศครั้งนี้ ประเทศไทยจะฟื้นตัวได้ไหม แล้วจะเดินหน้าต่ออย่างไร สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมให้มุมมองในช่วงเสวนา “ลงทุนไทย เคลื่อนประเทศไทย”

ประธานหอการค้าเผยว่า ในนามหอการค้าฯ และสภาหอการค้าฯ เห็นว่านายกฯ ตัดสินใจถูกต้องและมีความชัดเจนในการเปิดประเทศ “คำว่า 120 วันของท่านนายกฯ ท่านคงจะเห็นว่าจำนวนวัคซีนในมือ อย่างน้อยน่าจะฉีดเข็มแรกได้ถึง 50 ล้านคน” ดังนั้นจึงเป็นภารกิจของทุกคนในประเทศที่จะพาประเทศไทยเดินหน้า

ประธานหอการค้ายังให้ความสำคัญกับ “การท่องเที่ยว” ซึ่งมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นหลังการเปิดประเทศ โดยเผยว่า สิ่งที่ต้องทำหลัง 120 วัน คือโอกาสที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ และพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่จะมาเยือนไทย ซึ่งจะถือเป็น “เงินใหม่”

 

“เราคาดคะเนแล้วว่า เดือนตุลาคม-ธันวาคมปีนี้ อย่างน้อยเราจะได้เงินใหม่ขึ้นมา 5 หมื่นล้านบาท-1 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ตัวเลขนี้วางอยู่บนพื้นฐานการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีมาก่อน 1 ล้านคน ใช้จ่ายอย่างน้อยคนละ 50,000 บาทต่อทริป ดังนั้นอย่างน้อยเราก็ได้ 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ หอการค้าฯ ยังมีการจัดโปรโมชั่น อย่าง ‘ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์’ ที่เราจัดโปรโมชั่นร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ผมคิดว่าวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าไทยสามารถสร้างความมั่นใจได้ และเป็นการทดสอบระบบในการเปิดประเทศ” ประธานหอการค้าบอก

สนั่นยังหนุนให้ภาครัฐและเอกชนจับมือส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ เพราะที่ไหนเปิดก่อน ปลอดภัยก่อน นักท่องเที่ยวก็จะไป ยกตัวอย่างประเทศมัลดีฟส์ ที่เร่งฉีดวัคซีนให้ประชากร และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเมื่อหลายเดือนก่อน รวมทั้งพฤติกรรมการท่องเที่ยวยุคโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวสามารถทำงานได้จากทุกที่ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเที่ยวเฉพาะวันหยุดอีกต่อไป แต่สามารถทำงานและเที่ยวไปด้วยกันได้ในทริปเดียว จึงเป็นโอกาสของจังหวัดต่างๆ ในการเตรียมตัวรับนักท่องเที่ยว

ประธานหอการค้ายังสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ต้องมี “ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น” ซึ่งจะช่วยเสริมความเชื่อมั่นด้านการลงทุนมากขึ้น

สนั่น อังอุบลกุล

“เราต้องมีความเชื่อว่าทำไมเราถึงมีความจำเป็นในการเปิดประเทศ ผู้นำรัฐบาลกล้าตัดสินใจแล้ว เราต้องสนับสนุนทุกเรื่อง อย่าไปตั้งเงื่อนไข ภาคเอกชนพร้อมเสมอในการผลักดันและขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น” สนั่นปิดท้าย

ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า วันนี้นายกฯ เตรียมแผนการฉีดวัคซีนและฉีดต่อเนื่องไปกว่า 5 ล้านคนแล้ว และยังมีวัคซีนเพิ่มเดือนละ 10 ล้านโดส ทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น แม้จำนวนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะมากขึ้น แต่หลังจากนี้จะค่อยๆ ลดลงแน่นอน

สุพันธุ์ มงคลสุธี

“วันนี้เราไม่สามารถทำธุรกิจได้เลย และถ้าเราไม่เปิดประเทศก็จะมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้องยอมรับว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดบางส่วนเพิ่มขึ้นมา แต่เชื่อว่ารัฐและเอกชนพร้อมช่วยกันทุกเรื่อง เราเริ่มมีวัคซีนทางเลือกเข้ามา ดังนั้นต้องสร้างความมั่นใจ ถ้าเราไม่มั่นใจและต่างคนต่างถอย ก็จะเกิดภาวะอย่างนี้ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ภาคเอกชนก็ต้องพร้อมในการเตรียมตัว บริษัทใหญ่จะช่วยเหลือดูแลบริษัทเล็กได้อย่างไร จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่หายใจได้น้อยลงเรื่อยๆ อย่างไร ต้องหาทางช่วยกัน” ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ บอก

ในแง่การช่วยเหลืออุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น สภาอุตสาหกรรมฯ มีนโยบาย อาทิ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประสานดูแลเรื่องการเงิน มีการทำแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ช่วยกระจายสินค้า มีสินค้า “เมด อิน ไทยแลนด์” ที่ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ให้โครงการภาครัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในไทย 60% รวมทั้งขอตั้งกองทุนนวัตกรรม เพื่อหนุนให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาทักษะและสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ยังหนุนให้สถาบันการเงินแก้เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงของผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถหายใจได้คล่องขึ้น และเดินหน้าฟื้นฟูุธุรกิจของตัวเองได้ในช่วงเวลาต่อจากนี้ที่ไทยจะเริ่มเปิดประเทศ

“โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมมีส่วนสำคัญต่อโอกาสการลงทุน เอาแค่วันนี้ถ้าเราไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิ การท่องเที่ยวของเราจะชะงักหมด ถ้าโครงสร้างพื้นฐานของเราพร้อมก็ไม่ต้องห่วง ถ้านักลงทุนเห็นโอกาส เขามาแน่ ซึ่งถ้าเขามาแล้วเราก็ต้องได้ด้วย ผมคิดว่าโอกาสมีมากสำหรับไทย” ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว

พัฒนาประเทศด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

เพื่อต่อภาพของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เวทีใหญ่ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” จึงมี ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และ ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร มาร่วมเสวนา “เปิดแผนคมนาคม เปิดประเทศ ขับเคลื่อนอนาคตไทย”

 

ปลัดกระทรวงคมนาคม เกริ่นว่า เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมมี 2 มิติซ้อนกันอยู่ มิติแรกเป็นนโยบายที่นายกฯ มอบมายัง รมว.คมนาคม และ รมว.คมนาคม แปลงนโยบายดังกล่าวมาเป็นนโยบายกระทรวงที่ชัดเจน และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมเดินหน้าเต็มที่ ซึ่งมิตินี้คือภาพใหญ่ที่ทำมาก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่วนอีกมิติคือนโยบายที่ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องในช่วงการระบาดของโควิด-19

“เรื่องคมนาคมขนส่งคือเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เราต้องทำโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ไทยที่เป็นศูนย์กลางอยู่แล้วในเชิงที่ตั้ง ได้เป็นศูนย์กลางจริงๆ ทั้งในแง่การท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า กระทรวงคมนาคมจึงมีโครงการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ดังกล่าว โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แม้ไม่มีโควิด-19 ไทยก็จำเป็นต้องทำโครงสร้างพื้นฐาน เพราะไทยมีโอกาสอีกมากที่จะไปคว้าเงินทองจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศ” ปลัดกระทรวงคมนาคมเผย

ชยธรรม์ พรหมศร

ด้านอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า หากรวมเส้นทางของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เข้าด้วยกัน จะมีมากกว่า 1 แสนกิโลเมตร คิดเป็น 20% ของเส้นทางทั้งหมดของประเทศ ความสำคัญของโครงข่ายและการลงทุนคมนาคมทางบกจึงมีค่อนข้างเยอะ สะท้อนจากงบประมาณภาครัฐซึ่งลงที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเป็นหลัก ดังนั้น งบลงทุนกรมทางหลวงประมาณ 1 แสนล้านบาท มีโครงการใหม่แต่ละปีทั้งใหญ่และเล็กราว 5 พันโครงการ ส่วนถนนชนบทมีโครงการเล็กๆ ย่อยๆ อีกกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งทั้งหมดคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการลงทุน

สราวุธ ทรงศิวิไล

ส่วนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ก็เผยถึงงานของกรมฯ ว่า โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทางรางมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐจึงลงทุนกับระบบรางราว 1.2 ล้านล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ในต้นทุนที่ถูกลง เช่นเดียวกับระบบโลจิสติกส์ที่ใช้ระบบราง ก็จะช่วยให้สินค้าถึงที่หมายได้รวดเร็วและมีต้นทุนต่ำกว่าเดิมด้วย

กิตติพันธ์ ปานจันทร์

ขณะที่อธิบดีกรมเจ้าท่า เผยถึงความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทางน้ำว่า ต้นทุนขนส่งทางน้ำถูกกว่าการขนส่งทางอื่น หากเทียบกับการขนส่งทางบกแล้วอยู่ที่ 1:8 เทียบกับการขนส่งทางรางอยู่ที่ 1:5 นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

วิทยา ยาม่วง

อธิบดีกรมเจ้าท่า ยังเผยถึงการปรับปรุงท่าเรือต่างๆ ด้วยว่า ท่าเรือหลักต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร อาทิ ท่าช้าง ท่าราชินี ท่าวัดโพธิ์ ท่าพระนั่งเกล้า ฯลฯ จะสวยงามและปลอดภัย เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศได้แน่นอน ที่สำคัญยังสามารถเชื่อมต่อการเดินทางระบบอื่นได้ด้วย เช่น ท่าราชินีเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ท่าสาทรเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส ท่าพระนั่งเกล้าเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นต้น ดังนั้น แหล่งท่องเที่ยวจากกลางเมืองจะขยับไปอยู่ริมแม่น้ำมากขึ้น เนื่องจากเดินทางสะดวก ส่วน “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” ที่จะเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ กรมเจ้าท่าก็เตรียมความพร้อมไว้แล้ว อย่าง ท่าเรือที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งจะปรับปรุงเสร็จในเดือนกรกฎาคม ก็สามารถเชื่อมการเดินทางระหว่างภูเก็ต-กระบี่ ส่วนท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง ที่เชื่อมไปเกาะต่างๆ ก็จะปรับปรุงเสร็จในเดือนสิงหาคม

“การท่องเที่ยวในภาคใต้จึงไม่ใช่แค่จังหวัดภูเก็ต แต่ยังเชื่อมต่อการเดินทางทางน้ำไปจังหวัดอื่นได้ด้วย เรายังทำระบบควบคุมความปลอดภัยทางน้ำ มีระบบติดตามเรือท่องเที่ยว ทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว” อธิบดีกรมเจ้าท่าเผย

ด้านการคมนาคม “ทางอากาศ” ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนฯ บอกว่า การลงทุนระยะต้นๆ ยังไม่ต้องลงเพิ่ม เพราะโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางอากาศค่อนข้างดี แต่ต้องมีการวางแผนการลงทุนระยะยาว เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าไทยมากขึ้น พร้อมฉายภาพรวมการเดินทางทางอากาศว่า ปี 2562 เป็นปีแรกที่ไทยมีเที่ยวบินมากสุดคือ 1,050,000 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารต่างชาติราว 40 ล้านคน แต่หากต้องการผลักให้ไทยก้าวไปข้างหน้า ต้องมีผู้โดยสารมากกว่าจำนวนประชากร

สุทธิพงษ์ คงพูล

“การพูดถึงตัวเลขนักท่องเที่ยว 200 ล้านคนต่อปีจึงไม่เกินเลย เพราะอุตสาหกรรมการบินเป็นตัวสร้างรายได้ 15-16% ของจีดีพี แผนระยะยาวจึงเป็นการปรับปรุงทางกายภาพของสนามบินต่างๆ และต้องไปสู่ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้มากขึ้น” ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนฯ กล่าว

ด้านกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ก็เสริมว่า ปี 2562 สนามบิน 6 แห่งภายใต้การดูแลของ ทอท. รองรับผู้โดยสารราว 142 ล้านคน จากศักยภาพ 100 ล้านคน แต่พอเกิดโควิด-19 ผู้โดยสารลดเหลือ 12,000 คนต่อวัน จากที่เคยรองรับสูงสุด 400,000 คนต่อวัน ปี 2565 คาดว่าจะมีผู้โดยสารน้อยกว่า 100 ล้านคน ปี 2566 น่าจะกลับมาแตะศักยภาพเดิม และปี 2567 น่าจะกลับไปเกินศักยภาพอีกครั้ง ดังนั้น ทอท. จึงเตรียมงบประมาณเกือบ 4 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ ที่จะช่วยนำรายได้มหาศาลเข้าประเทศในระยะยาวได้อีกครั้ง

นิตินัย ศิริสมรรถการ

ปิดท้ายที่ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ที่ภารกิจคือการผลักดันให้รูปแบบของโครงการแลนด์บริดจ์แล้วเสร็จภายในต้นปี 2565 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ไทยมีประตูการค้าทางใต้ และเป็นประตูสำหรับภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมอื่นๆ ในพื้นที่โครงการ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ หากโครงการสำเร็จก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

ปัญญา ชูพานิช

เมื่อภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็อาจอยู่ไม่ไกลอย่างที่คิด

********************************

#มติชน #เครือมติชน #EmpoweringThailand 2021 #เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน #ประเทศไทยไปต่อ #ศักดิ์สยามชิดชอบ #กระทรวงคมนาคม #สนั่นอังอุบลกุล #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สุพันธุ์มงคลสุธี #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #ชยธรรม์พรหมศร #ปลัดกระทรวงคมนาคม #สราวุธทรงศิวิไล #กรมทางหลวง #กิตติพันธ์ปานจันทร์ #กรมการขนส่งทางราง #วิทยายาม่วง #กรมเจ้าท่า #สุทธิพงษ์คงพูล #สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย #นิตินัยศิริสมรรถการ #ท่าอากาศยานไทย #ปัญญาชูพานิช #สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image