เปิดไทม์ไลน์ กว่าจะชื่อ ‘กรุงเทพฯ’ โลกรู้จักว่า ‘Bangkok’ ตั้งแต่ยุคอยุธยา

เกิดกระแสการตั้งคำถามอย่างหนัก เมื่อมติครม.ประกาศชื่อ กทม. เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) ตามสำนักงานสำนักงานราชบัณฑิตเสนอ แม้ต่อมาชี้แจงว่า สามารถใช้ได้ทั้ง 2 ชื่อ

‘มติชน’ ชวนย้อนไปดูหลักฐานชื่อเมืองหลวงของไทย ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ความทรงจำ สู่เอกสารลายลักษณ์ โดยชื่อบางกอกนี้ สันนิษฐานว่า เป็นชื่อเก่าตั้งแต่ก่อนขุดคลองลัดที่มีคลองสาขาเล็กๆ เรียก ‘คลองบางมะกอก’ เพราะมีต้นมะกอกน้ำจำนวนมาก จึงเรียกชื่อพื้นที่ปากคลองเชื่อมแม่น้ำสายเก่าว่า ‘บางมะกอก’ มีวัดของชุมชนเรียก ‘วัดมะกอก’ ซึ่งปัจจุบันคือ วัดอรุณราชวรารามฯ

  • Banckocq -BANKOC ในเอกสารฝรั่งสมัยอยุธยา ถึง ‘ธนบุรีศรีมหาสมุทร’

เป็นที่ทราบกันดีว่า ชื่อ Bangkok ที่โลกรู้จัก มาจาก บางกอก

ชาวต่างชาติรู้จักกรุงเทพ ในนาม บางกอก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นชุมชนอยู่อาศัย กระทั่งมีความสำคัญขึ้นตามลำดับหลังขุดคลองลัดที่ขยายออกเป็นเส้นทางการคมนาคมใหม่ที่ปลอดภัยระหว่างอ่าวไทยกับกรุงศรีอยุธยา เป็นจุดพักเรือนานาชาติ เติบโตเป็นเมืองในที่สุด

Advertisement

โดยรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ พ.ศ.2091-2111) ยกฐานะ บางกอก ขึ้นเป็นเมือง มีชื่อในทำเนียบหัวเมือง เรียก ‘ธนบุรีศรีมหาสมุทร’ สื่อถึงการอยู่ใกล้ทะเลสมุทรคืออ่าวไทย

นามบางกอกในเอกสารต่างชาติปรากฏหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต หรือ ฟาน ฟลีต พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ พ.ศ.2182 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยในตอนหนึ่ง กล่าวถึงนิทานเรื่อง ‘เจ้าอู่ทอง’ มีเนื้อหากล่าวถึงการสร้างเมือง 2 เมืองก่อนสร้างอยุธยา ความว่า

‘พระเจ้าอู่ทองก็ได้สร้างเมืองคองขุดเทียมและบางกอก’

Advertisement

โดยชื่อตามเอกสาร สะกดว่า Chongh Cout Thiam and Bangkocq

บางกอก คือ กรุงเทพในปัจจุบัน ส่วน คอขุดเทียม เชื่อกันว่าอาจหมายถึง บางขุนเทียน บนเส้นทางคลองด่านนั่นเอง

นอกจากนี้ ในเอกสารของ นิโกลาส์ แชรแวส ทูตฝรั่งเศส ปรากฏคำว่า BANKOC โดยระบุว่า

‘BANKOC เป็นสถานที่อันมีความสำคัญที่สุดแห่งราชอาณาจักรสยามอย่างปราศจากข้อสงสัย..’

  • บางกอก สู่ ‘กรุงเทพทวารวดี’ ถึงกรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์

ครั้นเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนาบางกอกขึ้นเป็นเมืองหลวง

พระราชทานนามใหม่ให้สอดคล้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า

‘กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’

หมายถึง พระมหานครที่ดำรงรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นแก้วอย่างดีมีสิริอันประเสริฐสำหรับพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ประดิษฐานกรุงเทพมหานครนี้

สำหรับชื่อเรียกในเอกสารร่วมสมัยในช่วงเวลาดังกล่าวคือ ‘กรุงรัตนโกสินทร์อินทรอยุธยา’

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัชกาลที่ 1- รัชกาลที่ 3 ยังปรากฏชื่อกรุงเทพฯ ว่า ‘กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์’ ดังเช่นนามเดิมของกรุงศรีอยุธยาที่ว่า ‘กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา’

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเชื่อว่า สิ่งนี้สะท้อนว่า คนยุคต้นกรุงฯ ยังเชื่อคติว่า กรุงเทพฯ มีบรรพบุรุษเป็น ‘ทวารวดี’ และ ‘ศรีอยุธยา’

  • เปลี่ยน ‘บวรรัตนโกสินทร์’ เป็น ‘อมรรัตนโกสินทร์’ สมัยรัชกาลที่ 4

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงสร้อยนามกรุงเทพฯ จาก บวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์ นอกนั้น คงไว้ตามเดิม

โคลงสามกรุง พระนิพนธ์ น.ม.ส. พรรณาว่า

กรุงเทพมหานครนี้     นามรบิล
อมรรัตนโกสินทร์     ต่อสร้อย
ย้ายจากฟากแผ่นดิน    ตะวันตก
ผาดผุดดุจดังย้อย    หยาดฟ้ามาดินฯ

แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาเขียนโดยชาวฝรั่งเศสปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17
แผนที่แสดงที่ตั้งบ้านเมือง 2 ฝั่งเจ้าพระยาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาถึงปากน้ำในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ วาดโดยชาวฝรั่งเศส
BANKOC ‘บางกอก’ ในแผนที่ฝรั่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์
แผนที่ ‘กรุงเทพฯ’ สมัยรัชกาลที่ 3
แผนที่กรุงเทพ สมัยรัชกาลที่ 5
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image