ท่องฟ้า?หา “กลอรี่” โดย ‘บัญชา ธนบุญสมบัติ’

เมื่อเดินทางด้วยเครื่องบิน คุณผู้อ่านชอบนั่งตรงไหนครับ? สำหรับผมเลือกที่นั่งติดหน้าต่างเสมอ เพราะชอบดูเมฆบนฟ้า แถมยังมีโอกาสลุ้นชมปรากฏการณ์สนุกๆ หลายอย่างระหว่างการเดินทาง

ลองดูภาพถ่ายนี่สิครับ ตอนนั้นผมนั่งติดหน้าต่างทางฝั่งขวามือของเครื่อง แถมยังนั่งอยู่หลังปีกออกมานิดเดียว ส่วนดวงอาทิตย์อยู่สูงกำลังดีทางฝั่งซ้าย ที่ว่า “สูงกำลังดี” ก็คือ หากทางขวามีเมฆอยู่ต่ำลงไปเป็นฉากรับ ก็จะปรากฏเงาเคลื่อนที่ไปพร้อมๆ กับเครื่องบิน ซึ่งเป็นเรื่อที่เข้าใจได้ง่ายมาก

แต่ที่น่าฉงนก็คือ รอบๆ เงาเครื่องบิน?มีวงแสงสีรุ้งเคลื่อนเกาะติดเงาไปด้วย!

วงแสงกลอรี่รอบเงาเครื่องบิน
ภาพโดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

วงแสงสีรุ้งนี้บางคนคิดว่าเป็นรุ้งกินน้ำ (rainbow) แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะขนาดวงแสงเล็กกว่ารุ้งกินน้ำมาก แถมยังเป็นวงกลมสีรุ้งซ้อนกัน บางครั้งก็เห็นแค่วงเดียว แต่ถ้าโชคดีอาจเห็นมากถึง 4 วง วงแสงสีรุ้งนี้ เรียกว่า กลอรี่ (glory) จัดเป็นปรากฏการณ์น่าทึ่งที่ใครได้เห็นเป็นครั้งแรกมักจะประทับใจเสมอ

Advertisement

จะเห็นกลอรี่ได้ต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง? แน่นอนว่าต้องมีแหล่งกำเนิดแสงจ้า ในที่นี้คือดวงอาทิตย์ มีเมฆ (หรือหมอก) เป็นฉากรับ เมฆดังกล่าวต้องประกอบไปด้วยหยดน้ำขนาดเล็กจิ๋ว ทีนี้หากดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลังแล้วเรามองลงไปที่เมฆ ตัวเครื่องบินจะบดบังแสงส่วนหนึ่งเกิดเป็นเงา ส่วนแสงที่ไม่ถูกบดบังจะเข้าไปในหยดน้ำในเมฆ เกิดการหักเห สะท้อนกลับภายในหยดน้ำ เมื่อแสงออกมาจากหยดน้ำจะเกิดการแทรกสอดเป็นวงแสงสีรุ้ง หรือกลอรี่ นั่นเอง ที่ว่าไปนี่เป็นการอธิบายอย่างง่ายๆ เพราะถ้าอธิบายจริงๆ จะซับซ้อนกว่านี้

ที่น่าสนใจก็คือ จุดศูนย์กลางของวงแสงกลอรี่จะอยู่ตรงตำแหน่งของใคร หรืออะไรก็ตาม ที่กำลังเฝ้าสังเกตมันอยู่ ในกรณีที่เรานั่งเครื่องบิน จุดศูนย์กลางของวงแสงกลอรี่จะตรงกับตำแหน่งที่นั่งของเราพอดี

สมมติว่าคุณผู้อ่านเดินทางไปกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง แต่บังเอิญไม่ได้นั่งติดกัน โดยคุณนั่งติดหน้าต่างอยู่หน้าปีก ส่วนเพื่อนนั่งติดหน้าต่างฝั่งเดียวกันอยู่หลังปีก ทั้งคุณและเพื่อนจะเห็นเงาเครื่องบินและกลอรี่ทั้งคู่ แต่กลอรี่ของคุณจะมีจุดศูนย์กลางของวงแสงอยู่หน้าปีก ส่วนกลอรี่ของเพื่อนจะมีจุดศูนย์กลางของวงแสงอยู่หลังปีก

Advertisement

นั่นคือ ทั้งคุณและเพื่อนต่างมีกลอรี่เป็นของตนเอง?.ของใครของมัน!

 

 

แผนภาพ-Glory-ไทย : การเกิดกลอรี่

 

ถึงจุดนี้ คงมีหลายท่านอยากจะเก็บภาพกลอรี่เอาไปอวดเพื่อนๆ บ้าง คำถามคือต้องทำยังไงหากขึ้นเครื่องบินคราวหน้า?

หลักการง่ายมาก คือ คุณจะต้อง?

– เลือกช่วงเวลาเดินทางที่ดวงอาทิตย์ไม่อยู่ต่ำหรือสูงจนเกินไป

– เลือกที่นั่งทางฝั่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ และอยู่ห่างปีก

จากนั้นก็ภาวนาให้กระจกเครื่องบินใสปิ๊ง ไม่มีรอยขีดข่วน (ฮา) หากมองต่ำลงไปมีเมฆลอยอยู่ ก็กวาดสายตาหาเงาเครื่องบิน กลอรี่จะอยู่รอบเงานั้น

ลองดูสถานการณ์ตัวอย่างครับ สมมติว่าคุณจะบินออกจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ ตอนช่วงสายๆ ระหว่าง 9 น. กับ 10น. แบบนี้ก็มีสิทธิ์ลุ้นกลอรี่ เพราะก่อน 9 น. ดวงอาทิตย์อยู่ค่อนข้างต่ำ (ต่ำกว่าราว 40 องศา) แต่หลัง 10 น. ดวงอาทิตย์อยู่ค่อนข้างสูง (สูงกว่า 55 องศา)

บินไปเชียงใหม่ตอนสายๆ คือ มุ่งขึ้นเหนือโดยมีดวงอาทิตยอยู่ทางขวามือ ดังนั้น คุณจะต้องนั่งทางฝั่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ คือฝั่งซ้ายของเครื่อง ระวังอย่าไปเลือกที่นั่งติดปีกเข้าล่ะ

สมมติว่าคุณนั่งเครื่องของ Nok Air แบบ Boeing 737-800 ที่นั่งฝั่งซ้ายของเครื่องคือ แถว A ถ้าเลือกนั่งหน้าปีก ก็ขอแนะนำ 31A-36A แต่ถ้าเลือกนั่งหลังปีก ก็ขอแนะนำ 55A-61A (ดูที่วงไว้ในแผนภาพ)

แอบกระซิบดังๆ สำหรับเครื่องรุ่นนี้ด้วยว่า ผมชอบที่นั่ง 60A เพราะมี 2 หน้าต่าง จะได้มีมุมให้เลือกชมเมฆ เก็บกลอรี่ ได้มากกว่าที่นั่งอื่นที่มีหน้าต่างเดียว 😉

 

map-Flight-Bangkok-to-Chiang_Mai-Sun-Final แผนภาพแสดงเส้นทางการบินจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ในช่วงสายๆ
diagram-Best_airplane_seats – แผนผังที่นั่งในเครื่องบิน และตำแหน่งที่ดีในการลุ้นหากลอรี่

 

เมื่อทราบเคล็ดวิชาแล้ว ใครสนใจขอให้ตัดคอลัมน์นี้เก็บเป็นคู่มือ ขึ้นเครื่องบินครั้งหน้า จะได้มีคาถาเสกกลอรี่ให้ปรากฏ หากคุณผู้อ่านเก็บกลอรี่ได้ ก็ส่งภาพมาอวดผมได้ที่ [email protected] นะครับ

ขุมทรัพย์ทางปัญญา อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับกลอรี่เพิ่มเติม ขอแนะนำ http://atoptics.co.uk/droplets/glory.htm

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image