แขกปล่อยกู้กับความขัดแย้ง ด้านเชื้อชาติในยุคอาณานิคม โดย ลลิดา หาญวงษ์

เชตเทียร์ในสิงคโปร์, ต้นศตวรรษที่ 20 (ภาพจาก Pinterest)

เมื่ออังกฤษเข้ามายึดครองพม่าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 อังกฤษเล็งเห็นว่าพม่ามีประชากรไม่มากนัก อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ในพม่าตอนบน รายล้อมราชธานีเก่าของพม่าทั้งมัณฑะเลย์ อังวะ อมรปุระ และชเวโบ แต่พื้นที่แรกๆ ที่อังกฤษยึดได้และเข้าไปบุกเบิกคือพื้นที่ในพม่าตอนล่าง เริ่มตั้งแต่พม่าหัวเมืองมอญทางตอนใต้ เช่น เมาะละแหม่ง ไปจนจรดทวาย มะริด และตะนาวศรี ก่อนที่จะยึด
“อู่ข้าวอู่น้ำ” ของพม่าแถบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีแถบเมืองย่างกุ้ง พะสิม และพะยาโปงได้สำเร็จหลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 2 ในปี 1852 (พ.ศ.2395) เศรษฐกิจในพม่าตอนใต้เติบโตอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางกระแสการค้าเสรี และระบอบอาณานิคมที่โหมกระพือไปทั่วโลก อังกฤษเห็นช่องทางการค้าในพม่า พื้นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำหลายสายที่มีดินอัลลูเวียน หรือดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวเพื่อส่งออกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในเวลาไม่กี่สิบปี นโยบายในช่วงแรกของอังกฤษคือการปล่อยให้เกษตรกรทั้งจากพม่าตอนล่าง ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก และผู้คนจากพม่าตอนบน และจากอินเดียให้เข้ามาหาประโยชน์จากพื้นที่รกร้าง แต่สามารถแผ้วถางเพื่อทำการเกษตรได้อย่างเสรี

ชาวอินเดียที่เข้ามาในพม่านั้น ส่วนใหญ่อพยพมาจากอินเดียใต้และอินเดียตะวันออก โดยเฉพาะจากแคว้นทมิฬนาฑูและแคว้นเบงกอลตะวันออก (ต่อมาจะกลายเป็นประเทศปากีสถานตะวันออกหลังแยกจากอินเดียในปี 1955/2498 และเป็นประเทศบังกลาเทศตั้งแต่ปี 1971/2514) นอกจากชาวอินเดียนับล้านๆ คนที่เข้าๆ ออกๆ พม่าจะมาจากกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มศาสนาที่หลากหลาย พวกเขายังมีอาชีพที่ต่างกัน แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานไร้ทักษะ แต่ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่มีความสามารถด้านการค้า บ้างมีการศึกษาดีและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการอาณานิคมในพม่า เพราะคนอังกฤษไม่ไว้ใจคนพม่าให้ทำงานในระบบอาณานิคม และยิ่งไม่ไว้ใจคนพม่าเพียงพอที่จะฝึกให้พวกเขาเป็นตำรวจหรือทหารเพื่อรักษาความสงบ

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อมีการบุกเบิกพื้นที่ปลูกข้าว (Rice Frontier) ในพม่าตอนล่าง และการเปิดคลองสุเอซเพื่อย่นระยะทางขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยุโรปในปี 1867 (พ.ศ.2410) เงินทุนส่วนใหญ่ยังจำกัดในหมู่ชาวตะวันตก สำหรับคนพื้นเมืองที่มี “เครดิต” ไม่ค่อยดีนัก การกู้เงินนอกระบบจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่การกู้เงินกับผู้ปล่อยกู้ชาวพม่ามีอัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว ทั้งชาวพม่าและชาวอินเดียระดับล่างจึงหันมากู้เงินกับ “ธนาคารย่อมๆ” อย่างกลุ่ม “แขกปล่อยกู้” ที่รู้จักกันในนาม “เชตเทียร์” (Chettier) หรือ
เชตตี้ (Chetty)

เชตเทียร์เป็นชาวฮินดูกลุ่มหนึ่งที่มาจากเมืองเชตตินาด ในแคว้นทมิฬนาฑู วรรณะพ่อค้ากลุ่มนี้เติบโตขึ้นจากธุรกิจการเงินเพราะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าผู้ครองที่ดินในท้องถิ่น หรือ “ซามินดาร์” (zamindar) และเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนพื้นเมืองกับธนาคารของตะวันตก เชตเทียร์เริ่มดำเนินกิจการนอกแคว้นทมิฬนาฑู และเขตมัดราส (Madras Presidency) เมื่ออังกฤษเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าไปในซีลอน (ศรีลังกา)
สเตรทเซทเทิลเมนต์ (มาเลเซียและสิงคโปร์) สยาม อินโดจีน อินเดียตะวันออกของดัตช์ (อินโดนีเซีย) และพม่า

Advertisement

แต่ในบรรดาอาณานิคมของตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด พม่าเป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเชตเทียร์มากที่สุด เชตเทียร์ไม่ได้มีหน้าที่ปล่อยกู้เท่านั้น แต่พวกเขาเป็นธนาคารย่อมๆ หรือที่เรียกว่าสถาบันการเงินแบบจุลภาค (microfinance) ที่รับขึ้นเช็ค รับฝากเงิน และแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แต่แน่นอนว่ากิจการที่เชตเทียร์ได้กำไรมากที่สุดคือการปล่อยกู้

ฌอน เทอร์เนลล์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย (ปัจจุบันเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของด่อ ออง ซาน ซูจี)
ตั้งข้อสังเกตว่าเชตเทียร์น่าจะเข้ามาทำธุรกิจปล่อยกู้ในพม่าตั้งแต่อังกฤษทำสงครามครั้งแรกกับพม่า เชตเทียร์มาพร้อมกับกองทัพจากอินเดียที่อังกฤษส่งเข้ามารบกับพม่า แต่กิจการของเชตเทียร์หัวการค้าจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเมื่ออังกฤษผนวกพม่าตอนล่างส่วนสุดท้ายได้ และเริ่มเคลียร์พื้นที่ในพม่าตอนล่างให้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว เชตเทียร์กลุ่มแรกตั้งสำนักงานของตนที่เมาะละแหม่งในปี 1850 (พ.ศ.2398) เมื่อถึงปี 1905 (พ.ศ.2448) เชตเทียร์มีสำนักงานของตนเองทั่วพม่า 30 แห่ง แต่อีกไม่กี่สิบปีต่อมา เชตเทียร์จะขยายกิจการจนมีสำนักงานมากถึงเกือบ 2,000 แห่ง! ตัวเลขนี้บ่งชี้ว่ากิจการปล่อยกู้ของเชตเทียร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง และเชตเทียร์ในฐานะที่เป็นสถานะทางการเงินสามารถแทรกซึมผ่านทุกอณูในเขตชนบทของพม่า อย่างที่ไม่มีธนาคารใดสามารถทำได้ นอกจากนี้ เชตเทียร์ยังเป็นพ่อค้าปล่อยกู้ที่เงินหนา ว่ากันว่าทุนของเชตเทียร์เฉพาะในพม่านั้นมีมากพอๆ กับธนาคารของอังกฤษในพม่าทุกแห่งรวมกันเสียอีก

กลุ่มลูกค้าหลักของเชตเทียร์คือเกษตรกร ลักษณะที่สำคัญที่สุดของการปล่อยกู้ตามแบบเชตเทียร์ในพม่าคือการรับจำนองที่ดิน กล่าวคือ ผู้กู้กู้เงินจากเชตเทียร์ โดยสัญญาจะจ่ายดอกเบี้ย หากไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ในเวลาที่กำหนด ก็จะเสียที่ดินให้กับเชตเทียร์ เมื่อเกิดวิกฤตการเงินของโลก (The Great Depression) ครั้งแรกขึ้นในต้นทศวรรษ 1930 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ในไทย) เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะชะงักงัน พม่าที่มีรายได้หลักจากการส่งออกข้าวก็ไม่สามารถส่งออกข้าวได้ตามปกติ ราคาข้าวดำดิ่งสุดขีด จากเดิมที่ราคา 202 รูปีต่อ 100 ตะกร้า (ตะกร้าหนึ่งหนัก 21 กิโลกรัม) ในปี 1926 (พ.ศ.2469) ลดลงเหลือเพียง 64 รูปีต่อ 100 ตะกร้าในปี 1933 (พ.ศ.2476)

Advertisement

ในสภาวะแร้นแค้นเช่นนี้ เชตเทียร์เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้ผล กระทบ แต่แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถเก็บเงินกู้ในรูปของตัวเงินได้ แต่ก็สามารถยึดที่ดินที่เกษตรกรพม่านำมาจำนองได้เป็นจำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวพม่า โดยเฉพาะนักชาตินิยมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเดียวกันนี้ เชตเทียร์เริ่มเป็นเป้าโจมตีในหนังสือพิมพ์พม่า และถูกมองว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรพม่ายากจนลง เชตเทียร์เปรียบเหมือน “เหา” ที่ดูดเลือดดูดเนื้อคนพม่าบนแผ่นดินของพม่า ในเวลานั้น กระแสการต่อต้านชาวอินเดียเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน เกิดการจลาจลใหญ่เล็กกระจายไปทั่วพม่า โดยรวมชาวพม่าไม่พอใจบทบาททางด้านเศรษฐกิจของชาวอินเดีย ตั้งแต่แรงงานระดับล่าง จนถึงข้าราชการในกระทรวงทบวงกรม นอกจากคนพม่าจะมองว่าคนอินเดียทำงานให้กับอังกฤษ ซึ่งเป็นศัตรูของตนแล้ว ยังได้ฉวยโอกาสนี้ดูดกินทรัพยากรที่สมควรเป็นของคนพม่าไปจนหมดสิ้น

ในความเป็นจริง กิจการของเชตเทียร์คงจะอยู่ต่อไปแม้จะมีการต่อต้านจากคนพื้นเมืองในพม่า แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นในปี 1939 (พ.ศ.2482) ชาวอินเดียนับล้าน ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจพม่ามาตลอด หนีการยึดครองของญี่ปุ่นและกลับไปยังอินเดีย นับตั้งแต่นั้นมา การเงินการธนาคารในพม่ายุคหลังสงครามก็ไม่เคยกลับมาเป็นดังเดิมอีก เพราะขาดผู้มีประสบการณ์ด้านการเงินและการบริหารอย่างชาวอินเดียนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image