บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ สร้าง”คน”ยุคเปลี่ยนผ่าน สร้าง”โอกาส”ผ่านการศึกษา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เทคโนโลยี” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมโลกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความผันผวนรุนแรง ในช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อหันมองรอบข้าง วันนี้ผู้คนตระหนักแล้วว่าเทคโนโลยี ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของมนุษย์

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลสะเทือนแทบทุกมิติ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทำให้ทุกคน ทุกองค์กร ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อก้าวตามโลกให้ทัน

รวมถึง สถาบันการศึกษา เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคนแห่งอนาคต

Advertisement

ซึ่ง “คน” ในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นผู้ที่ก้าวทันโลก และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

สอดคล้องกับแนวคิดของ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า วันนี้โลกมีความเปลี่ยนแปลงเยอะมากและมหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัว

“ถ้ามองถึงบริบทโลกที่ประชาชนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย มีเรื่องการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เรื่องของสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงการศึกษาเท่านั้น ภาคธุรกิจ เรื่อง Disruptive Technology เป็นปัจจัยทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันเราก็มองในเรื่องของโอกาส เปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่ จึงคิดว่าจุฬาฯจะต้องปรับตัว และหากจะให้ดีต้องปรับตัวไปดักหน้าการเปลี่ยนแปลง ถ้าคนเราไม่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ก็จะล้าสมัย ล้มหายตายจาก” ศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

Advertisement

ซึ่งหากมองบทบาทของมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป หรือฟังก์ชั่นเดิม มหาวิทยาลัยทำหน้าที่คือ 1.สร้างบัณฑิต 2.สร้างความรู้หรือทำงานวิจัย 3.ช่วยเหลือสังคม และช่วยแก้ไข้ปัญหาประเทศ เป็น 3 บทบาทของมหาวิทยาลัยที่เราคุ้นชิน ซึ่งในมุมมองของอธิการบดีจุฬาฯ มองว่า จะต้องเพิ่มเติมอีก 3 บทบาทด้วยกัน

1.มหาวิทยาลัยต้องเป็นแหล่งที่เปิดโอกาสให้นำความคิดใหม่ๆ ได้นำมาทดลองใช้ เป็นเหมือนสนามทดลองให้แก่นิสิตและคณะครูอาจารย์ ได้ศึกษาร่วมกัน 2.มหาวิยาลัยต้องเป็นเครื่องมือที่จะเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก 3.มหาวิยาลัยต้องสนับสนุนเรื่องนวัตกรรม สนับสนุนให้นิสิตมีกระบวนการทางความคิด

ทั้ง 3 บทบาทที่เพิ่มเติมนี้เอง นำมาสู่แนวทางการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ

1.เรื่องของการเรียนการสอน โดยแนวโน้มจะต้องปรับจากห้องเรียนที่อาจารย์ ศึกษาความรู้มาเพื่อที่จะถ่ายทอดให้นิสิตฟัง เป็นให้นิสิตเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น มีอาจารย์เป็นผู้ชี้แนะ สู่การเป็นคนในศตวรรษที่ 21 เป็นคนที่สามารถอัพเดตความรู้ด้วยตัวเองตลอดแม้จะจบจากจุฬาฯ ก็ยังต้องเรียนรู้ตลอดเพื่อให้ทันสมัย เพราะโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเร็วเหลือเกิน จึงต้องสอนให้นิสิตเรียนรู้ด้วยตนเอง

2.เรื่องรายวิชา สิ่งที่เราปรับเป็นรูปธรรมเลยก็คือ รายวิชา วันนี้นิสิตสามารถหาข้อมูลและเรียนรู้ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท เราก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง โดยนิสิตจุฬาฯไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย โดยจะเปลี่ยนแปลงจากนิสิตไป “เป็นใครก็ได้” นี่คือเป้าหมาย

3.เรื่องการหลอมรวมศาสตร์ จะเห็นได้ว่าโลกปัจจุบันมีการหลอมรวมกันมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เราจะเรียนเป็นศาสตร์ อาทิ แพทยศาสตร์ อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ แต่วันนี้ความรู้ด้านศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเอาไปให้งาน เอาไปแก้ไขโจทย์ในสังคมโลก “ไม่พอ” ต้องหลอมรวมศาสตร์ให้เยอะขึ้น เพื่อให้คนของเรามีสมรรถนะในการแข่งขันเพื่อเป็นคนที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ

“ต่อไปคนที่เรียนอักษรศาสตร์ แต่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ แต่สนใจเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีการขนส่ง ก็เรียนเฉพาะเรื่องนี้ ซึ่งเรียกว่าเรียนรายหัวข้อ เพราะฉะนั้นความแข็งตัวของเนื้อหาที่แต่เดิม ต้องเรียนวิชาพื้นฐานหลายด้าน แต่วันนี้ไม่จำเป็น สามารถเลือกเรียนเฉพาะเรื่องที่นิสิตสนใจหรือถนัดได้” ศ.ดร.บัณฑิต อธิบาย

นอกจากนี้ จุฬาฯยังปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการศึกษาใหม่ ภายใต้แผน CU Transformation เพื่อสร้างคนที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สร้างสิ่งใหม่ สร้างการเชื่อมโยงกับวิชาการ และสามารถช่วยเหลือสังคมไทยได้ดีขึ้น ทำให้จุฬาฯก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการชื่นชม และยอมรับในระดับนานาชาติ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ศ.ดร.บัณฑิตระบุว่า จุฬาฯมีระบบ (Learning Management System : LMS) ที่นิสิตสามารถพบอาจารย์ได้ตลอดเวลา ทุกที่ทุกเวลา ส่งงานกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องมาส่งที่คณะ ยังมีการเปิดตัวเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) ซึ่งเป็นการโอเพ่นแพลตฟอร์ม เป็นระบบเปิดสู่สังคม ซึ่งอยู่ในแผน CU Transformation

“เราเชื่อว่าจุฬาฯใกล้ชิดสังคม วันนี้เราปรับแผน CU Transformation ไม่ใช่แค่บอกว่าสนใจแต่เรื่องวิชาการแต่เราต้องสร้างผลกระทบสู่สังคม ต้องเอาองค์ความรู้ไปทำงานร่วมกับประชาชน ชุมชน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เราได้ทำ”

การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของจุฬาฯครั้งนี้ นับเป็นการพลิกโฉมการศึกษาครั้งสำคัญ ในการสร้างคนแห่งอนาคต

สาระสำคัญของ CU Transformation มีการปรับเปลี่ยนเรื่องใดบ้าง?

การจะสร้างคนยุคใหม่ นอกจากจะมีความรู้เชิงศาสตร์ จะต้องมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการผูกโยง มองปัญหาที่ซับซ้อน สามารถวิเคราะห์ได้ และมีวิธีการนำเสนอ ดังนั้นแผนของ CU Transformation จะรองรับสิ่งเหล่านี้ โดยเป็นการวางแผนระยะยาว โดยเบื้องต้นปีนี้จะทำด้วยกัน 3 เรื่อง คือ

1.ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางโดยเฉพาะด้านไอที เพื่อติดอาวุธ เครื่องไม้เครื่องมือให้นิสิต และอาจารย์วิ่งได้ฉิวขึ้น เร็วขึ้น ทางสะดวกขึ้น และใช้เทคโนโลยีประกอบการขับเคลื่อนการเรียนการสอน ยังมีเรื่องระบบบริหารงานในจุฬาฯก็ปรับด้วย รวมถึงสร้างอีโคซิสเต็ม (Eco System) ภายในจุฬาฯสิ่งแรกที่เราเห็นว่ามีความใกล้ชิดกับนิสิต คือ บัตรนิสิต มีการปรับเป็น Single Card ใช้ซื้อของ ใช้จ่ายเงินในมหาวิทยาลัย บัตรรถไฟฟ้าต่างๆ โดยมีระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงกันหมด

2.การเรียนรู้รายบุคคล (Personal Education) คือ จะมีการทดสอบวิเคราะห์นิสิตใหม่ ว่าถนัดเรื่องอะไร และไม่ถนัดเรื่องอะไร ทั้งนี้ จะนิสิตเป็นคนเลือกเองว่าจะเสริมหรืออดรูรั่วเรื่องไหน โดยเปิดระบบโอเพ่นให้นิสิตเลือกได้เองให้มากขึ้นว่าอยากจะเรียนอะไร แต่เนื่องจากวันนี้เรายังมีกฎระเบียบของรัฐ ที่เรายังต้องสอดรับจึงไม่อิสระทั้งทีเดียว แต่ก็จะมีหลักสูตรใหม่ที่นิสิตอยากเรียนอะไรแล้วได้เรียน

ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนจากอดีตถึงปัจจุบันห้องเรียนหนึ่งมีผู้เข้าเรียน 50-100 คน แต่ทุกคนต้องเรียนด้วยความเร็วเท่ากัน เนื้อหาเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วคนทุกคนไม่เหมือนกัน การเรียนรู้ของคนไม่เท่ากัน บางคนอาจจะเรียนแค่ครั้งเดียวก็พอแล้ว แต่บางคนอาจจะต้องเรียนหลายครั้ง จึงต้องเปลี่ยนการเรียนคลาสใหญ่ๆ ให้เล็กลง ให้อยู่ในเชิงของห้องเรียนที่เหมาะสมกับตัวนิสิตในแต่ละคนมากขึ้น

3.การศึกษาของสาธารณชน (Public Education) อย่างที่บอกว่า นิสิตจุฬาฯไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สามย่าน ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนิสิตมาเรียน จะเป็นใครก็ได้ เรามีแพลตฟอร์ม Online Education นิสิตสามารถเจออาจารย์ได้ทุกที่ทุกเวลา เราเปิด Move Massive Online Open Course เปิดเป็นรายวิชา ปัจจุบันเปิดสอนประมาณ 7 เดือน มีคนที่เข้ามาเรียนประมาณ 40,000 คน และสอบผ่านได้ใบประกาศนียบัตรจุฬาฯ แล้วประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นอัตราการสอบผ่านจากครอสออนไลน์ที่สูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

การปรับเปลี่ยนมีการเริ่มต้นอย่างไร?

ซึ่งการปรับเปลี่ยนก็ต้องดูว่าเรามีฐานอะไรอยู่ เเล้วสิ่งที่ทำจะต้องมีผลในอนาคต ซึ่งผมให้เป็นนโยบายไว้ 3 หลัก คือ 1.จุฬาฯมีฐานความรู้ มีคนที่มีศักยภาพ ตรงนี้เป็นฐานที่เรามีอยู่ 2.เน้นทำเรื่องที่สังคมโลกให้ความสนใจ คือเรื่องที่สังคมในอนาคตจะให้ความสนใจแม้เราจะทำเรื่องนี้ขึ้นในขึ้นวันนี้ เเต่อีก 2-3 ปี คนก็ยังให้ความสนใจอยู่ 3.ทำเรื่องอะไรก็ตามที่อยู่ในเมืองไทย ที่ทำแล้วเมืองไทยได้เปรียบหรือไม่เสียเปรียบ

เป็น 3 หลักที่ผมยึดมาตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งเเละจะทำต่อเนื่องจนผมหมดวาระ เพราะสิ่งที่มีอยู่เป็นแบบนี้มา 100 ปีแล้ว

ส่วนการปรับตัวถ้าปรับไม่ถูกทิศก็แย่เหมือนกัน ดังนั้น การปรับตัวต้องไปให้ถูกทิศด้วย เหมือนการปฏิรูปการศึกษาไทยที่ปฏิรูปมาหลายรอบแล้ว เเต่ยิ่งปฏิรูปก็ยิ่งอ่อนแอ เพราะการปรับจะต้องปรับให้เข้ากับบริบทที่เป็นไปไม่ใช่บอกว่าผมทำแล้ว เรานั่งประชุมกรรมการแล้วแบบที่บ้านเราชอบ ตั้งกรรมการ ตั้งการประชุม วัดผลจากการประชุม ที่คนเข้าประชุมรู้เรื่องหรือไม่ก็ไม่รู้ นี่ก็คือเรื่องที่เกิดขึ้น

มองคนจุฬาฯในวันนี้เป็นอย่างไร ทำไมต้องปรับตัว?

นิสิตจุฬาฯ ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีความรู้ในเชิงวิชาการดี แต่สิ่งที่ควรจะได้รับการส่งเสริม คือ การรู้จักการวิเคราะห์ การรู้จักแยกแยะ เวลาเจอปัญหาซับซ้อนสามารถโยงความรู้จากเรื่องนั้นเรื่องนี้มาแก้ไขได้ รวมถึงเรื่องของบุคลิกที่ต้องมีความสงสัย ช่างถาม มีเหตุผล ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ สามารถเจาะลึกเข้าไปทำความเข้าใจ และพร้อมปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

มีการปรับแผนแล้ว อยากเห็นนิสิตจุฬาฯจะเก่งขึ้น ในเรื่องการวิเคราะห์ แยกแยะ สื่อสาร สามารถทำเรื่องที่ซับซ้อน และอธิบายความรู้เรื่อง รวมถึงการปรับตัวเข้ากับโลกที่มันหมุนเร็ว และสู้กับชาวโลกได้

วันนี้ต้องยอมรับว่าภายใต้ความรู้เฉพาะเชิงวิชาการอย่างเดียว ขาดเรื่องเรื่องความสงสัย เมื่อไปสู้กับต่างชาติแล้วเรามักจะสู้ไม่ค่อยไหว เรามักจะต้องเป็นผู้ตามบางครั้งก็ตามเขาไม่ค่อนทัน แล้วยิ่งเราสร้างเด็กมาตั้งแต่ประถม มัธยม ให้เป็นเด็กที่เชื่อฟังครูอย่างเดียว ทำตามครูบอก ไม่สงสัยอะไรเลย หากมองระยะยาวถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงอย่างไร? 

สิ่งที่เราคาดหวังจากการทำ CU Transformation คือ 1.นิสิตเราต้องเปลี่ยน 2.ครูอาจารย์ต้องเพิ่มผลผลิต เพิ่มผลงานด้านวิชาการมากขึ้น บุคลากรสายสนับสนุนระบบงานต้องดีขึ้น และนำเทคโนโลยีเข้ามา ปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3.ระบบการค้นหาคนที่มีคุณภาพและคล่องตัว และสะท้อนต่อไปทุกๆเรื่อง

เริ่มเห็นความเปลี่ยนเเปลงของนิสิตบ้างหรือยัง?

เริ่มมีสตาร์ตอัพที่ เด็กๆ ทำงานร่วมกันเองตั้งบริษัท เป็นทำงานข้ามศาสตร์ระหว่างวิศวกรรมศาสตร์กับ คณะพาณิชย์บัญชี คณะสถาปัตย์ เกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งวันนี้เรียกว่าเกิดขึ้นพอสมควรเเล้วแต่จะทำยังไงให้เกิดขึ้นเยอะมากกว่านี้ อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องสร้างต่อเนื่อง เพราะถ้าเราไม่ทำต่อเนื่องหรือหยุดทำแล้วกลับไปเป็นเหมือนหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องทำ และทุกโรงเรียนต้องเปลี่ยน

ใช้เวลานานเเค่ไหนในการปรับเปลี่ยนจุฬาฯเต็มรูปแบบ? 

เต็มรูปแบบภายใต้เงื่อนไขที่เรามีจากรัฐ คิดว่าไม่น่าเกิน 2 ปี ปีนี้เราเปิดไปเยอะแล้ว ที่กำลังคุยตอนนี้ไม่ใช่ความฝันเเต่เป็นสิ่งที่ทำไปแล้วหลายเดือน อย่างเรื่องของนิสิตใหม่ที่มีการทดสอบจุดอ่อนและจุดแข็งก็ซุ่มทำกันมาเป็นปีเเล้ว ตลอดจนการเข้ามารับตำเเหน่งของผมก็เริ่มปรับปรุงมาเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาจากยุคที่แล้วเพราะเรื่องการศึกษาไม่ใช่เรื่องที่เสกได้ภายใน 5-6 เดือน เราต้องใช้เวลาในการปรับ แล้วเราก็ยังมีของดีของเดิมแต่เราจะ Transform อย่างไรให้ดียิ่งขึ้น

วันนี้ถือว่าจุฬาฯปรับตัวได้เร็วแล้วหรือยัง?

ยังครับ ถ้าเอาจุฬาฯเป็นตัวแทนของประเทศไทย ด้วยความเร็วของจุฬาฯถือว่าตามหลังต่างประเทศมาก ประเทศอื่นเขาทำกันไปหมดแล้ว เพียงแต่ทำต่างกันไปบ้าง

มองว่าทิศทางการศึกษาในอนาคตต้องปรับรูปแบบใหม่ทั้งหมด?

ผมคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงเยอะแต่ไม่เปลี่ยนทั้งหมด เป็นการเพิ่มเติมเเละปรับเปลี่ยนมากกว่า วันนี้เด็กส่วนใหญ่ต้องการผลเร็ว ไม่อดทนรอเหมือนสมัยก่อน เพราะฉะนั้นความน่าสนใจ ความเร็วในการเข้าถึงต้องมากขึ้น เเล้วปัจจุบันเด็กสามารถเลือกศึกษาด้วยตัวเองได้ผ่านสื่อต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องอย่างเดียว สมมุติ เช่น สนใจวิชาการถ่ายภาพ เด็กสามารถเรียนถ่ายภาพจากศิลปินระดับโลกได้บนยูทูบ ไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียน ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการศึกษาในอนาคต

ถ้ายังไม่มีการปรับ หรือปรับช้าจะมีผลมากแค่ไหน?

นอกจากจะตามคนอื่นไม่ทันเเล้วที่ชัดเจนอีกเรื่องคือนักเรียนไทยน้อยลง วันนี้จะเริ่มเห็นมหาวิทยาลัยล้น มีนิสิตน้อยลง และต่อไปจะมีน้อยลงอีกเพราะเด็กเกิดใหม่น้อย ฉะนั้นถ้าไม่ปรับตัว คุณภาพไม่ดีสถาบันการศึกษาหลายแห่งอาจจะต้องปิดตัวลง เเล้วในอนาคตต่อไปจะเน้นคุณภาพ จ่ายครบจบแน่น้อยลง เพราะหากจบไปแล้วไม่รู้เรื่องก็ไม่มีงานทำ ยกตัวอย่างเช่น เด็กสายอาชีวะ ปัญหาหนึ่งที่เรามักพูดถึงคือ อาชีวะขาด ภาคการผผลิตมีสายอาชีวะไม่พอ เเต่ไปคุยกับภาคเอกชนหลายราย เขาบอกเขามีตัวเลือกเยอะ แต่ปัญหาที่ขาดคือทักษะของเด็กไม่ได้ มีในเชิงปริมาณเเต่ยังขาดคุณภาพอยู่ หลายบริษัทจึงต้องตั้งโรงเรียนเอง เพราะต้องการได้คนที่มีคุณภาพตรงกับงาน

ดังนั้น สถาบันการศึกษาจะต้องปรับตัว ซึ่งก็เหมือนกับสัตว์โลกทั่วไป เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงถ้าสัตว์ไม่ปรับตัว ไม่วิวัฒนาการตามการเปลี่ยนแปลงของโลกในที่สุดสัตว์ก็สูญพันธ์ การศึกษาก็เหมือนกันถ้าไม่ปรับตัวก็ล้มหายตายจาก จุฬาฯก็เช่นกัน ถ้าไม่ปรับตัวความเข้มแข็งก็จะค่อยๆ ด้อยลง และในระยะยาวก็จบลง

ผมคิดว่าหากทุกมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงอีกไม่นานประเทศไทยจะถดถอย ด้วยสังคมสูงวัยคนไทยมีไม่พอ จำนวนคนไทยที่มีคุณภาพตามที่ต้องการจะมีไม่พอที่จะช่วยพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นหลักสูตรไทย หรือมหาวิทยาลัยไทย หรือสถาบันการศึกษาของไทยต้องมีศักยภาพสูงพอที่จะดึงดูดต่างชาติเข้ามาเรียนที่ประเทศไทย โดยเรียนแล้วต้องทำงานในประเทศไทย เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ผมมองและเป็นเป้าหมายที่ จุฬาฯต้องปรับตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image