‘ปิยะสกล’ประกาศทุกรพ.ต้องจ่ายค่าจ้างตาม กม.ขั้นต่ำ พร้อมตั้งทีมหารือเคลียร์ปมปัญหา 3 เดือนรู้ผล!(ชมคลิป)

จากกรณีสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) จากทั่วประเทศประมาณ 400- 500 คน นำโดย นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสสลท. และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เดินทางมารวมตัวกันที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องประเด็นจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม ไม่ถึงเกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำ และได้เดินเท้าฝ่าสายฝนไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ปรากฏว่าต้องกลับมาค้างคืนที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรอหารือกับนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 16 พฤษภาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข และผู้บริหารสธ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.อริยะ พันธุฟัก ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ได้เชิญตัวแทนของสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) ที่ออกมาเรียกร้อง คือ นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธาน สสลท. เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการหารือร่วมกันได้ข้อสรุปว่า จากข้อร้องเรียนเรื่องโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม เรื่องนี้กำชับแล้วว่าต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และในประเด็นข้อเรียกร้องอื่นๆ อีก 3 เดือนจะมีการนัดหารือกัน โดยในวันที่ 15 สิงหาคม เวลา 09.30 น. จะเชิญทุกฝ่ายมาหารือกันอีกครั้ง โดยระหว่างนี้ก็จะมีคณะทำงานย่อยหาข้อมูลต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ทุกคนที่มาคือคนของกระทรวงสาธารณสุข อยู่กันมาเป็น 20 ปี เขาก็อยากได้สิ่งดีๆ ดังนั้น การมาเรียกร้องเรารับฟังและร่วมมือแก้ไขให้ดีขึ้น

เมื่อถามว่ากลุ่มที่มาเรียกร้องจะถูกหมายหัวหรือไม่ เนื่องจากมีข่าวว่ามีการเช็กชื่อ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขอยืนยัน จะไม่กระทบกับการทำงานแน่นอน ไม่ต้องห่วง ขอยืนยันว่า เราทำตามเป้าหมายของกระทรวงฯ คือ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข นี่คือสิ่งที่เราจะร่วมกันทำงานต่อไป ส่วนข้อเรียกร้องกรณีพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลจ้าง แทนเงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาลนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ต้องคุยในระดับนอกเหนือกว่านั้น เพราะถ้าทำได้ตนทำให้ไปนานแล้ว แต่ที่แน่ๆ กระทรวงฯ ทำได้คือ จากนี้ไป โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งต้องไม่มีการจ้างงานที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ปลัดสธ.ไปดำเนินการ ซึ่งกรณีนี้ทำได้เลย ส่วนอีก 3 เดือนจะเป็นการตามงานและร่วมกันปรับแก้ไขในประเด็นข้อเรียกร้องต่างๆที่เสนอมา

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรี ได้กำชับอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ เนื่องจากทางกลุ่มเรียกร้องได้เดินทางไปทำเนียบเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่คิดว่าท่านนายกฯ ให้ความสำคัญ ซึ่งเราก็ต้องดำเนินการ เพราะเราทุกคนอยู่ในกระทรวง เราคุยกันได้

เมื่อถามว่าจะมีการออกหนังสือกำชับห้ามรพ.จ้างงานต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องนี้ท่านปลัดสธ.ดำเนินการอยู่แล้ว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า เรื่องนี้เราทำมานานแล้ว และได้กำชับแล้วว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดสธ.ต้องจ้างค่าจ้างที่เป็นธรรม และไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องการจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุขมีหลายรูปแบบมากทั้งการจ้างรายวัน รายเดือน จ้างเหมา ก็จะต้องมาดู ตอนนี้แนวทางเราอยากให้การจ้างงานเป็นระบบจะทำให้สามารถดูแลเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิอื่นๆ ได้เป็นระบบมากขึ้น และฝ่ายบริหารก็ต้องดูด้วยว่าจะบริหารจัดการเรื่องงบประมาณอย่างไรให้สามารถดำเนินการเรื่องการจ้างงานที่เหมาะสมกับภาระงานมากขึ้น ตอนนี้จะเร่งดึงเรื่องค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานขึ้นมาดูทั้งหมดเพื่อการดูแลต่อไป

ด้านนายโอสถ กล่าวว่า จากการพูดคุยกันในวันนี้ ทางรัฐมนตรีฯ และท่านปลัดฯ ยืนยันว่า ตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อนั้น ในส่วนเงินงบประมาณนั้น กระทรวงก็จะมีคณะทำงานร่วมขึ้นมา และในวันที่ 15 สิงหาคมก็จะมาหารือกัน แต่ระหว่างนี้ก็จะมีชุดอนุกรรมการศึกษาแต่ละเรื่อง ส่วนเรื่องการจ้างลูกจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ท่านยืนยันว่า จะไม่มีอีกเด็ดขาด ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีการจ้างต่ำกว่าเกณฑ์มากน้อยแค่ไหน นายโอสถ กล่าวว่า มีหมดทั่วประเทศ มากน้อยเฉลี่ยกันไป บ้างก็ต่ำกว่า 10 % 20 % 30% อย่าง 10,200 บาท ในวุฒิการศึกษาปวส. ไปจ่ายแค่ 6,500 บาท

เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดจึงกลับมาค้างคืนที่กระทรวงสาธารณสุข นายโอสถ กล่าวว่า เดิมพวกตนตั้งใจไปเรียกร้องที่ทำเนียบ ซึ่งเมื่อไปถึงทางฝ่ายความมั่นคงได้มีตัวแทนมาหารือและไม่อยากให้พวกเราค้างคืน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายการชุมนุม แต่ขอให้เราประสานกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในนามตัวแทนรัฐบาล ให้มาหารือกันจะดีกว่า ซึ่งในวันนี้ (16 พ.ค.) ก็พอใจในระดับหนึ่งที่มีคณะกรรมการทำงานร่วมกัน และมีอนุกรรมการฯเพื่อดูแต่ละประเด็นเลย และสรุปกันอีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะมีการหารือร่วมกันและได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว แต่ปรากฏว่า ทางกลุ่มผู้เรียกร้อง ซึ่งประกอบด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว ยังไม่กลับ แต่ยังคงรอเพื่อให้มีการลงนามของทางรัฐมนตรีฯ เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่า จะมีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องแน่นอน

กระทั่งเวลา 13.10 น. ได้มีการแจกเอกสารข้อสรุปการหารือข้อเรียกร้องของกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยเป็นการลงนามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. และ นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย(สสลท.) เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้บริหารเห็นความสำคัญและจะดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.ขอให้พิจารณาจัดจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขด้วยเงินงบประมาณของรัฐโดยตรงไม่ใช่เงินบำรุงของโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการ 2.ขอให้พิจารณาลูกจ้างทุกคนในกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมารายเดือน รายวัน ให้ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขครบทุกคน 3.ขอทบทวนให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่บรรจุรอบก่อน ให้ได้รับการเยียวยาค่าประสบการณ์ ในการปฏิบัติงานมายาวนานตามอายุงาน 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี ตามที่สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน และ4. ขอให้ลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยตามนโยบายรัฐบาลและ คสช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยในเอกสารดังกล่าว ยังระบุว่ากรณีลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมเพื่อเรียกร้องครั้งนี้ ได้หารือกับฝ่ายความมั่นคงของศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นความผิดทางกฎหมายและสามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ จึงไม่ถือเป็นความผิดทางวินัยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการแจกเอกสารดังกล่าว กลุ่มผู้เรียกร้องต่างโห่ร้องดีใจ และทยอยแยกย้ายกันกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image