ดูดๆ และโดดๆ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

คุณทักษิณ ชินวัตร โฟนอินมาแก่สมาชิกพรรคเพื่อไทยในวันเกิดของคุณยิ่งลักษณ์ พูดถึงลูกพรรคซึ่งส่วนหนึ่งถูก “ดูด” ไปอยู่กับพรรคที่สนับสนุน คสช.ว่า ประกอบด้วยคน 2 จำพวก คือหนึ่งคนที่อยากได้เงินสักก้อน ก่อนจะเลิกเล่นการเมืองไป และสองคนที่หวังจะได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากการร่วมในพรรคที่อาจได้จัดตั้งรัฐบาล

แล้วพวกเขาจะรู้สำนึก เพราะพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้น คุณทักษิณแสดงความเชื่อมั่นอีกครั้งหนึ่ง

ยังเป็นคุณทักษิณคนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือคัดค้านคนอื่น (ความเห็นอื่น, รสนิยมอื่น, ความภักดีอื่น ฯลฯ) โดยไม่ต้องเหยียดหยามเขาไม่เป็น

แต่จะจริงอย่างที่คุณทักษิณพูดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนไทยเลือกพรรคมากกว่าเลือกคนมาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และทำอย่างนั้นสืบมาจนถึงการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่มีการนับคะแนนเสียง สืบเนื่องติดต่อกันมา 10 ปี ผ่านการเลือกตั้งใหญ่ 4 ครั้ง นี่คือความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงถาวร หรือเป็นการตอบสนองต่อแรงกระตุ้นชั่วคราว (นโยบาย, ตัวคุณทักษิณ, ยุทธวิธีหาเสียง ฯลฯ) ก็ยากจะชี้ชัดลงไปได้ ยิ่งประเทศต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐประหารสืบเนื่องกันมา 4 ปี (กว่าจะเลือกตั้งอาจเป็น 5 ปี ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของช่วงที่คนไทยเลือกพรรคมากกว่าเลือกคน) คนไทยยังจะเลือกพรรคอยู่ต่อไป หรือหันกลับไปเลือกคนก็ไม่แน่

Advertisement

อย่าลืมด้วยว่ารัฐธรรมนูญทำให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายเองไม่ได้เหมือนเดิม และพรรคเพื่อไทยก็อาจขาดผู้นำที่อาจดึงดูดแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นได้เหมือนเก่า (เป็นฝีมือของ คสช.ทั้งสองอย่าง) ความหวังว่าคนไทยจะหันกลับมาเลือกคนมากกว่าพรรคจึงไม่ใช่ความเพ้อฝันเสียทีเดียว

ถ้าโพลของสวนดุสิตพอเชื่อถือได้ (นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ผมไม่เคยวางใจกับโพลสำนักใด ดูเหมือนความน่าเชื่อถือไม่ใช่เป้าหมายของการทำโพลเสียแล้ว) เมื่อถามว่าระหว่างผู้สมัครกับพรรค อะไรได้รับความสำคัญมากกว่า

Advertisement

ส่วนใหญ่ (41.63%) ตอบว่า “พอๆ กัน” ซึ่งไม่น่าแปลกใจอะไรเลยในวัฒนธรรมไทย หากถูกถามด้วยคำถามให้เลือกอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ คนไทยส่วนใหญ่จะตอบแบบกลางๆ เพราะปลอดภัยดี, เพราะไม่เคยคิดเลือกจริงจังมาก่อน, เพราะฟังดูฉลาดกว่าเพราะจะไม่ถูกถามต่อว่าทำไม ฯลฯ (นักทำโพลน่าจะรู้วัฒนธรรมข้อนี้ดี แต่ไม่เคยเห็นสำนักไหนพัฒนาคำถามที่ซับซ้อนกว่าถามตรงๆ แบบนี้สักที เมื่อไหร่จะกลับจากเมืองนอกมาอยู่เมืองไทยสักทีล่ะครับ)

ที่น่าสนใจคืออันดับสอง 36.92% ของผู้ถูกสำรวจตอบว่าผู้สมัครมีความสำคัญกว่า ในขณะที่คนซึ่งเห็นว่าพรรคสำคัญกว่ามีเพียง 21.45% เท่านั้น

นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ส.ส.ไม่อาจย้ายพรรคได้ตามใจชอบอีกต่อไป เพราะกลุ่มคนที่ร่างรัฐธรรมนูญมักเชื่อเหมือนคุณทักษิณว่า การย้ายพรรคเป็นการขายตัว

บางคนยังอาจเข้าใจอย่างตื้นๆ ว่า พอย้ายพรรคเสร็จ เขาก็จ่ายเงินให้ฟ่อนหนึ่งเอาเข้ากระเป๋าไป เป็นอันจบกันแค่นี้ แต่นี่ไม่ใช่การ “ขายตัว” ของนักการเมืองไทย (และผมเข้าใจว่านักการเมืองเอเชียอื่นๆ ด้วย) เพราะไม่มีพรรคไหนที่จะจ่ายเงินให้ผู้สมัครในนามของพรรคเป็นฟ่อน เขาผ่อนจ่ายเป็นงวด พร้อมกันไปกับการหยั่งคะแนนเสียงในพื้นที่ไปด้วย หากพบว่าเสียงของผู้สมัครไม่ขึ้นเอาเลย เขาก็หยุดจ่าย

จุดมุ่งหมายสำคัญของนักการเมืองไทยก็คือได้รับเลือกตั้งในทุกสมัย เพื่อจะบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว เขาต้องสร้างฐานคะแนนเสียง ไม่ใช่ผ่านหัวคะแนน แต่ผ่านการนำเอาทรัพยากรภาครัฐเข้ามาในเขตเลือกตั้งของตนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกระทั่งประชาชนในเขตเลือกตั้ง มองเขาเป็นประตูเพียงบานเดียวที่ทรัพยากรภาครัฐจะไหลผ่านสู่ท้องถิ่นได้

ผมคิดว่านักการเมืองที่ย้ายพรรค ก็เพราะหวังว่าจะเข้าถึงทรัพยากรภาครัฐ อาจได้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร หรืออย่างน้อยก็เป็น ส.ส.ในพรรครัฐบาล ซึ่งล้วนทำให้ได้ใกล้ชิดกับทรัพยากรภาครัฐทั้งสิ้น

ฉะนั้น พลังดูดจึงไม่ได้มาจากกำลังเงินที่อาจ “ซื้อ” นักการเมืองได้เพียงอย่างเดียว ที่สำคัญกว่าคือนักการเมืองระดับที่เคยเป็น ส.ส.มาก่อน คาดการณ์ว่าพรรคที่ดูดตัวเข้าไปน่าจะได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะคาดการณ์ถูกหรือผิด ก็ต้องนับว่าเป็นการคาดการณ์ที่สมเหตุสมผล ก็เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ แทบจะไม่เหลือช่องให้คนอื่นได้จัดตั้งรัฐบาลอยู่แล้วนี่นา

เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่กับนักการเมืองเป็นรายบุคคลเพียงอย่างเดียว พรรคการเมืองก็มีพฤติกรรมทำนองเดียวกัน แม้การ “ขายพรรค” ไม่อื้อฉาวเท่า “ขายตัว” พรรคที่ตกเป็นฝ่ายค้านต่อเนื่องกันหลายสมัย อาจเสื่อมความนิยมลงได้เพราะไม่สามารถดึงเอาทรัพยากรภาครัฐลงไปในเขตเลือกตั้งได้เป็นพิเศษ นานเข้าคนก็เบื่อ และหันไปเลือกพรรคอื่นหรือผู้สมัครอื่นที่มีโอกาสร่วมรัฐบาลมากกว่า นั่นคือเหตุผลที่บางพรรคพร้อมจะทิ้งระบบรัฐสภาแล้วลงไปใช้ท้องถนนเรียกทหารมายึดอำนาจ

(และแม้ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ก็น่าเชื่อว่าพรรคการเมืองนั้นพร้อมจะเป็นอะไหล่ให้รัฐบาลทหาร อย่างน้อยก็ดีกว่าจะว้าเหว่ห่างไกลจากทรัพยากรภาครัฐต่อไป)

ไม่ใช่เพียงนักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้นที่ย้ายพรรค นายทุนก็ย้ายพรรคเหมือนกัน เกือบจะร้อยทั้งร้อยของเจ้าสัวเมืองไทยนั้น เติบโตมาจากเส้นสาย (connections) ทางการเมืองทั้งนั้น ไม่เฉพาะแต่ในช่วงหลัง 2475 แม้ก่อนหน้านั้นก็ทำอย่างเดียวกัน ซ้ำเจ้าสัวยังมีอิสระมากกว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเสียอีก คือย้ายเมื่อไรก็ได้ หรืออุดหนุนเกินหนึ่งพรรคก็ได้เพื่อกันเหนียวไว้ก่อน

แต่ทั้งหมดเหล่านี้เปลี่ยนไปหมดเมื่อทหารยึดอำนาจ นักการเมืองย้ายพรรคได้ตามสะดวก รวมตัวเป็นพรรคใหม่เพื่อต่อรองกับรัฐบาลทหารได้ถนัดขึ้น พรรคการเมืองเก่าตั้ง “ราคา” การสนับสนุนรัฐบาลทหารไว้ในอัตราหนึ่งที่เหมาะสมกับสถานะของตน

ที่สำคัญเจ้าสัวหยุดการส่งส่วยให้พรรคการเมืองไปทันที แต่หันไปส่งให้แก่อำนาจปืนซึ่งเจ้าสัวไทยมักเชื่อว่ามีเสถียรภาพมากกว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าอำนาจปืนใน พ.ศ.2534 และ 2549 ตั้งอยู่ไม่นานพอจะอำนวยประโยชน์โพดผลให้แก่ เจ้าสัวได้ แต่อำนาจปืนใน พ.ศ.2557 นี่ต่างหากที่เป็นอุดมคติของเจ้าสัวไทยเลย คือตั้งมั่นอยู่มาได้ถึงเกือบ 5 ปี ซ้ำยังอาจเสริมความชอบธรรมจากการเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นให้ตั้งมั่นอยู่ต่อไปได้อีก 4 ถึง 8 ปีข้างหน้า

นับเป็นการลงทุนทางการเมืองที่คุ้มที่สุด อย่างที่เจ้าสัวไม่เคยนึกฝันว่าจะเป็นไปได้นับตั้งแต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา

ผมคิดว่านี่คือที่มาของพลังดูด ซึ่งคาดเดากันว่าเป็นจำนวนมหาศาล และกระจายไปยังหัวหน้ากลุ่มหลายคน ไม่ใช่รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง หรือรองนายกฯ คนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพราะรัฐบาลทหารหลังการเลือกตั้ง จะประกอบขึ้นจากพรรคการเมืองขนาดกลางหลายพรรคในสภา

ทั้งนี้เพราะผมเชื่อจากประวัติศาสตร์ว่า ไม่เคยมีนายทหารไทยคนไหนควักกระเป๋าตัวเองมาลงเล่นการเมือง ทุกคนเล่นการเมืองด้วยเงินคนอื่นทั้งนั้น แม้แต่นักการเมืองเองก็ไม่ต่างกันเท่าไร มีเพียงบางคนที่ไร้เดียงสาทางการเมืองเท่านั้น ที่จะควักกระเป๋าตัวเอง (หรือกระเป๋าพ่อ) ลงเล่นการเมือง ส่วนใหญ่คนไร้เดียงสาเหล่านี้ไปไหนไม่ได้ไกล และมักออกจากการเมืองไปตั้งมหาวิทยาลัย

ยิ่งคนฉลาดอย่างคุณทักษิณ ซ้ำสร้างชื่อเสียงลือลั่นทางการเมืองได้สำเร็จเช่นนี้ ยิ่งไม่ควักกระเป๋าตัวเองลงเล่นการเมืองขึ้นไปใหญ่

ด้วยเหตุดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งที่ (ควร) จะมาถึงข้างหน้าเสียทีนี้ พรรคการเมืองทุกพรรคที่ยังไม่ยอมโดนดูด ล้วนอ่อนแอลงทั้งสิ้น เพราะต่างไม่มีกระเป๋าของเจ้าสัวให้ควักเหมือนๆ กัน ถ้าเงินยังมีความสำคัญในการเลือกตั้ง (โดยไม่ต้องซื้อเสียงนี่แหละครับ เพียงแค่หาเสียงให้คนจำหน้าจำเบอร์ได้ ก็ไม่รู้จะกี่ล้านเข้าไปแล้ว) การสัประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้จะดูกร่อยๆ ไปถนัดทีเดียว

เพื่อความเป็นธรรม ผมควรยกเว้นพรรคอนาคตใหม่ด้วย เพราะพรรคนี้ประกาศชัดเจนว่าไม่มีนายทุนพรรค (ซึ่งควรหมายความว่าทั้งในที่ลับและที่แจ้ง) แต่จะระดมทุนจากประชาชนผู้สนับสนุนโดยตรง นี่เป็นวิธีการใหม่ด้านการเงินของพรรคการเมืองไทย หากประสบความสำเร็จ จะพลิกโฉมหน้าการเมืองไทยไปอย่างมโหฬาร จะบีบบังคับให้นายทุนไทยต้องคิดและเลือกให้ดีระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ว่าอย่างไหนจึงรักษาสมบัติของเขาได้ปลอดภัยและยั่งยืนกว่ากัน และจะเป็นครั้งแรกที่นายทุนไทยถูกบังคับให้คิดอะไรนอกเหนือจากผลกำไรด้วยวิธีสกปรกอะไรก็ได้

แต่จะสำเร็จละหรือ? ผมได้แต่เอาใจช่วย

ผมไม่ได้หมายความว่า ทุนนิยมเส้นสายซึ่งครอบงำเอเชียตะวันออกทั้งหมดจะหายไปจากเมืองไทยนะครับ เพียงแต่ว่านายทุนจะสาน “เส้น” กับนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบเผด็จการทหาร ต้องคิดให้ดีเท่านั้น เพียงแค่นี้ก็ก้าวหน้าไปแยะแล้ว

วารสารออนไลน์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย New Mandala ลงบทความของคุณ James Chin ในวันที่ 22 มิ.ย. ศกนี้ พูดถึงการย้ายค่ายของนักการเมืองและเจ้าสัวมาเลเซียหลังชัยชนะของพรรค Pakatan Harapan ไว้น่าสนใจดี เพราะมาเลเซียนั้นปลอดจากการรัฐประหารของกองทัพแน่ ฉะนั้นถึงอย่างไร “เส้น” ของนายทุนก็ต้องเป็นนักการเมืองอยู่ดี

นักการเมืองมาเลเซียไม่มีความจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับอำนาจใหม่ตลอดมา เพราะอำนาจใหม่ไม่เคยโผล่มาจากการเลือกตั้งได้สักที จนกระทั่งพรรค PH ได้ชัยชนะในครั้งนี้ ทำให้นักการเมืองมาเลเซียพากัน “หันหลังกลับ” (pusing ในภาษามาเลเซีย) กันใหญ่ ไม่ใช่จากพรรคเล็กพรรคน้อยนะครับ จากพรรค BN ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลตลอดมา ยังไม่พูดถึงสมาชิกพรรค BN และพรรคในสังกัด ซึ่งพากันย้ายค่ายมาอยู่กับพันธมิตรของ PH ที่ชนะการเลือกตั้งประจำรัฐ และกำลังจัดตั้งรัฐบาลประจำรัฐขึ้นหลายแห่ง

สำนวนการเมืองไทยอาจเรียกปลาไหล แต่สำนวนชาวซาราวักเรียกว่า “กบการเมือง”

ส่วนนายทุนมาเลเซียก็เหมือนนายทุนไทย ไม่มีเจ้าสัวคนใดสามารถตั้งตัวเป็นมหาเศรษฐีได้โดยไม่มีเส้นสายทางการเมือง และถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าสัวจะย้ายการสนับสนุนของตนไปยังนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง และจะดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร มหาธีร์สมัยเป็นนายกฯครั้งก่อน ก็เลือกเอาไว้ฝูงหนึ่งเป็นเจ้าสัวของตัว นาจิบ ราซัค ก็เลือกไว้อีกฝูงหนึ่งเหมือนกัน ตอนนี้ก็ต้องวิ่งวุ่นเพื่อย้ายค่ายกันให้ทันการณ์ มีหลายคนชิงเผยความลับของตนเองว่า พวกเขาแอบสนับสนุนพรรค PH มาตั้งน้านนานแล้ว

และเหมือนเจ้าสัวไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ เจ้าสัวมาเลเซียไม่ต้องอายกับการย้ายค่ายด้วย พวกเขาเรียกมันอย่างตรงไปตรงมาว่า carimakan แปลว่า “(ทำมา) หากิน” ในภาษาไทยเป๊ะเลย

นักการเมืองมาเลเซียทำอะไรได้ 2 อย่าง ที่นักการเมืองไทยเคยทำมาแล้ว แต่ถูกรัฐธรรมนูญ 2540 ห้ามเอาไว้ อย่างแรก คือ ย้ายพรรค จะโดยโดนดูดหรือโดดไปเองก็ตาม และอย่างที่สองก็คือ ใช้เงินงบประมาณของรัฐโดยตรง หรือที่เรียกว่างบพัฒนา ระหว่างที่ BN มีอำนาจอยู่ รัฐจะจัดสรรงบประมาณไว้ตั้ง 1-5 ล้านริงกิตแก่ ส.ส.รัฐบาลทุกคน เพื่อนำไปทำโครงการอะไรก็ได้ในเขตเลือกตั้งของตน โดยไม่ต้องขออนุมัติจากหน่วยเหนือ ส่วน ส.ส.ฝ่ายค้านไม่มีให้ พรรค PH ก็ยังรักษานโยบายนี้ต่อมา เพียงแต่ลดจำนวนเงินลงและจ่ายให้แก่ฝ่ายค้านด้วย ส.ส.รัฐบาลจะได้ 500,000 ริงกิต ส.ส.ฝ่ายค้านได้รับเพียง 100,000 ริงกิต

นี่คือหลักประกันว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะสามารถรักษาฐานเสียงในเขตเลือกตั้งของตนได้ดีกว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน อันเป็นเป้าประสงค์ที่แท้จริงของ ส.ส.ทั้งมาเลเซียและไทย ที่ไหลและโดดไปตามแรงดูดก็เพราะเหตุนี้ ไม่ใช่เงินที่จะเข้ากระเป๋าทันทีทันใดเหมือนการ “ขายตัว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image