พรรคเพื่อไทยหายไปไหน (1) โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยหายไปไหน และหายไปตั้งแต่เมื่อไร จะได้โผล่กลับมาอีกหรือไม่

อดีต ส.ส.ของพรรคกำลังถูกพรรคทหารดูด ภารกิจของแกนนำพรรคจึงเหลือเพียงสองอย่าง หนึ่งตอบโต้ ประณาม เหยียดหยันสมาชิกที่ถูก “ดูด” ไป และสอง ปลอบประโลมสมาชิกที่ยังไม่ออกจากพรรคให้ยังมั่นคงอยู่กับพรรคต่อไป “รางวัล” รออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะท่วมท้น หรืออะไรอื่นที่คนนอกคาดไม่ถูก

แล้วประชาชนผู้ลงคะแนนให้ล่ะครับ จะได้อะไรจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะอย่างท่วมท้น หรือเพียงแค่เป็นฝ่ายค้าน (ซึ่งคงทำอะไรได้มากทีเดียว หากไม่นั่งคอตกหายใจทิ้งไปเรื่อยๆ) ไม่ใช่หน้าที่ของพรรคการเมืองหรอกหรือ ที่จะต้องคิดให้ดีว่าจะทำอะไรหลังเลือกตั้ง ชนะจะทำอะไร และแพ้จะทำอะไร มีประโยชน์แก่ประชาชนอย่างไร พรรคการเมืองอย่างนี้แหละครับที่หายไปจากเพื่อไทย อันที่จริงควรคิดเลยไปถึงว่า หากไม่มีการเลือกตั้งจะทำอะไรด้วย

ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทย พรรคทหารตั้งรัฐบาลได้ก็ด้วยสองปัจจัย หนึ่งเขียนรัฐธรรมนูญให้ตั้ง ส.ส.ประเภท 2 ไว้ครึ่งสภา หรือตั้งวุฒิสมาชิกที่มีอำนาจทางการเมืองเกือบเท่า ส.ส.ไว้เลือกนายกฯ อีกหนึ่งสภา นี่คือเงื่อนไขที่สำคัญกว่าเงินหรือตำแหน่งในการดูดอดีต ส.ส. มีเงื่อนไขนี้ในมือ ก็ทำเงื่อนไขที่สองได้ง่ายขึ้น คือลงมือดูดอดีต ส.ส.หรือดูดพรรคการเมืองได้เลย มันไม่ใช่ความโลภหรือความกลัวเพียวๆ ที่อดีต ส.ส.จะปล่อยตัวปล่อยใจไปตามแรงดูด

Advertisement

อำนาจที่หนุนหลังพรรคทหารนั้นใหญ่มาก จนกระทั่งเผาผลาญความใฝ่ฝันจะไปให้ถึงประชาธิปไตยของหลายคนให้กลายเป็นความเพ้อฝัน ดูมันไกลจากความเป็นจริงจนเหนื่อยเสียก่อนจะฝัน และอย่าหลอกตัวเองว่า พรรคทหารล้มเหลว จริงอยู่ที่การณ์ไม่เป็นไปตามที่พรรคทหารคาดหวังทั้ง 100% เพราะความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงย่อมเกิดขึ้นในทุกสังคม แต่เมื่อพูดถึงที่สุดแล้ว พรรคทหารไม่ว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลโดยตรงหรือไม่ ครองอำนาจทางการเมืองจากรัฐประหาร 2490 มา 10 ปี จึงสามารถรวบอำนาจให้แข็งแกร่งขึ้น (consolidation of power) แล้วจัดตั้งรัฐบาลโดยตรงต่อมาอีก 17 ปี รวมสองยุคนี้เข้าไป 27 ปี คือหนึ่งชั่วอายุคนเข้าไปแล้ว จากปี 2519-2529 เป็นเวลาอีก 11 ปี รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นอยู่ใต้เงาพรรคทหารตลอด พอเริ่มจะดิ้นหลุดจากเงาอำมหิตก็เกิดรัฐประหารอีกในปี 2534 เงาอำมหิตกลับมาใหม่ แต่เกิดพลาดพลั้งจนกระทั่งทำให้รัฐธรรมนูญ 2540 คลอดออกมาได้แต่ก็มีอายุไม่ถึง 10 ปีดี จากนั้นพรรคทหารก็กลับมายืนทะมึนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลพลเรือน ตลอดจน 2557 ก็ยกเลิกรัฐบาลพลเรือนเสีย

นักการเมืองที่ยังใฝ่ฝันถึงการเมืองประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นคนเพ้อฝัน ในขณะที่นักการเมืองที่ถูกดูด กลับเป็นฝ่ายที่มองสถานการณ์ตามความเป็นจริงมากกว่า (แยะ) แต่ความใฝ่ฝันที่แม้แต่ดูเหมือนเพ้อฝันนั้น สำคัญทางการเมือง ปราศจากเสียซึ่งความใฝ่ฝัน การเมืองย่อมจมปลักอยู่กับการแบ่งสรรผลประโยชน์กันในวันนี้ โดยไม่มีความหวังเหลือให้ใครสำหรับวันพรุ่งนี้อีกเลย

Advertisement

และในความเป็นจริง ความใฝ่ฝันของผู้คนต่อการเมืองประชาธิปไตยก็ผลักสังคมไทยให้ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางได้มากขึ้นอย่างช้าๆ ด้วย

ถึงกระนั้น ก็อย่าไปสนใจอดีต ส.ส.ที่ตัดสินใจให้ดูดเลย ระหว่างทางเลือกสองทาง เขาเลือกทางที่ดูเป็นจริงมากกว่าเท่านั้น เพื่ออะไรก็เรื่องของเขา พรรคเพื่อไทยถือตัวว่าสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งประสบความสำเร็จในการเสนอนโยบายในการเลือกตั้ง แทนการเสนอตัวบุคคล การเลือกตั้งสองครั้งของพรรคไทยรักไทยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนไทยจำนวนมากได้เปลี่ยนไปแล้ว ความผูกพันกับผู้อุปถัมภ์ในท้องถิ่น ถึงยังมีอยู่ ก็ไม่แรงเท่ากับความผูกพันที่มีต่อรัฐ หากรัฐมีนโยบายที่สามารถเข้าไปแทนที่การอุปถัมภ์ของบุคคลได้

ดังนั้น เพื่อไทยจะห่วงกับตัวบุคคลที่ถูกดูดไปทำไม ที่ควรห่วงกว่าก็คือจนถึงวันนี้ ไม่มีใครรู้ว่าเพื่อไทยมีนโยบายอะไร จะดำเนินงานทางการเมืองอย่างไร นอกจากเดินตามรัฐธรรมนูญที่พรรคทหารวางไว้ให้อย่างเซื่องๆ ประชาชนไม่ต้องรู้หรือว่า หากเลือกเพื่อไทยแล้ว เขาจะได้อะไร ซึ่งไม่ใช่รับจำนำข้าว หรือขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว แต่ภายใต้สถานการณ์ที่พรรคทหารจะยึดอำนาจต่อไปอย่างยาวนานนี้ ความใฝ่ฝันร่วมกันของพรรคการเมืองและประชาชนคืออะไร

ภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤตขนาดนี้ หากพรรคการเมืองไม่กล้าเป็นผู้นำของความฝัน จะมีพรรคการเมืองไปทำไม

ไม่ใช่อดีตนักการเมืองเท่านั้นที่เดินมาถึงทางสองแพร่ง คนไทยทั้งประเทศก็เดินมาถึงทางสองแพร่งทางการเมืองเช่นกัน คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไปแล้ว ไม่ว่าจะเลือกแพร่งไหน ผิดหรือถูก โง่หรือฉลาด ล้วนมีเหตุผลทั้งสิ้น พรรคการเมืองก็ต้องเลือกระหว่างทางสองแพร่งเหมือนกัน ซ้ำต้องเลือกให้ชัดด้วย ไม่ใช่เพื่อยกพวกไปตีกับคนที่เลือกทางอื่น แต่เพื่อสามารถทำให้คนซึ่งยังไม่เลือกหรือเลือกไปแล้วมองเห็นว่า ทางเลือกดังกล่าวของพรรคนั้นน่าจะสดใสกว่า และเป็นไปได้ยิ่งกว่าอย่างไร

คำสัญญาที่จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่คะแนนเสียงของพรรคเพียงอย่างเดียว ไม่ช่วยให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งนี้ไปได้ ลองคิดดูเถิด สมมติว่าพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แล้วไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าลดแลกแจกแถม สถานการณ์แบ่งขั้วในประเทศไทยเวลานี้ จะทำลายความชอบธรรมจากการเลือกตั้งลงในเวลาไม่นาน พรรคทหารก็จะกลับมายึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง หากไม่ทำผ่านข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ก็ทำโดยเปิดเผยหน้าด้านๆ เลยก็ได้

วิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเกิดขึ้นในทศวรรษ 2550 และ 2560 สังคมไทยได้เปลี่ยนไปเกินกว่าจะย้อนกลับไปหายุค 2500 ได้อีกแล้ว แม้แต่ย้อนกลับไปสู่ยุคทศวรรษ 2520 ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น แต่ในขณะเดียวกัน การเมืองประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญ 2540 ให้มา ก็ทำความประหวั่นพรั่นพรึงให้เสียงข้างน้อยซึ่งเคยคุมอำนาจการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

คนชั้นกลางระดับบนๆ ในเขตเมืองนั้น มีส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองสูง และยิ่งสูงขึ้นตามลำดับ เมื่อล้มรัฐบาลทหารได้ใน 2516 และ 2535 แต่คนชั้นกลางระดับนี้คือเสียงข้างน้อยทางการเมือง ที่ยังคุมอำนาจทางการเมืองไว้ได้ก็เพราะคะแนนเสียงของเสียงข้างมากจากชนบทแตกออกเป็นหลายเสี่ยง จึงไม่เคยกำกับควบคุมรัฐบาลซึ่งได้รับคำรับรองจากเสียงข้างน้อยในเขตเมืองได้เลย จนกระทั่งรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งที่จริงก็ยังไม่ได้พิสูจน์ตนเองให้ชัดเท่าไรนักว่า เป็นรัฐบาลของเสียงข้างมากในชนบทจริง แม้กระนั้นก็พอจะเห็นได้ว่าเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทย มาสู่การเมืองที่เสียงข้างมากเริ่มจะเข้ามาแทนที่เสียงข้างน้อย

ไม่มีที่ไหนในโลก ที่เมื่อเสียงข้างน้อยซึ่งเคยคุมอำนาจไว้สูงกำลังจะสูญเสียอำนาจนั้นไป แล้วต่างยอมสยบต่อความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ลุกขึ้นมาปกป้องอำนาจของตนเองเลย การเปลี่ยนผ่านตรงนี้สำคัญ ซึ่งทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคิดถึงน้อยเกินไป ในที่สุดจึงลงเอยด้วยข้อเสนอของฝ่ายเสียงข้างน้อยให้ทำลายหลักความเสมอภาค ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และอาจนำไปสู่ความรุนแรง (เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เสียงข้างมากจะยอม นอกจากถูกบังคับ) ในขณะที่รัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงข้างมาก ได้แต่คิดอย่างตื้นเขินว่าถึงอย่างไรตัวก็กุมเสียงข้างมากไว้ได้แน่ ถึงกับกล้า “สุดซอย” กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเท่ากับตบหน้าเสียงข้างน้อยอย่างไม่ต้องเกรงใจใดๆ เลย

แนวโน้มของการแยกขั้ว อันเกิดขึ้นจากพัฒนาการทางการเมืองของสังคมเอง มีอยู่ แต่ไม่มีใครตอบสนองแนวโน้มนี้อย่างจริงจัง ในที่สุดก็นำมาสู่การแยกขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการเมืองสมัยใหม่ของไทย ไม่มีประชาธิปไตยอะไรอยู่รอดในสภาวะแยกขั้วทางการเมืองที่แรงขนาดนี้ ในขณะเดียวกัน เผด็จการทหารก็ไม่น่าจะอยู่รอดในภาวะนี้เช่นกัน

หากภาวะนี้จบลงด้วยการนองเลือดก็ยังดี แต่ที่น่าเศร้าก็คือแม้นองเลือดแล้ว ก็ยังไม่จบต่างหาก การแยกขั้วไม่ยุติลง มีแต่จะยิ่งแยกกันแรงมากขึ้น

พรรคการเมืองต้องเข้าใจวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่นี้ให้ดี ถ้าไม่ต้องการให้พรรคทหารกำกับการเมืองไทยตลอดไป ก็ต้องระวังอย่าให้เกิดการนองเลือด เพราะจะยิ่งมีความชอบธรรมที่พรรคทหารจะต้องคอยกำกับการเมืองตลอดไป ดังนั้น ขบวนการเสื้อแดงซึ่งเป็นพันธมิตรนั้น ต้องรักษาไว้ แต่อย่าคิดเป็นอันขาดว่าขบวนการเสื้อแดงคือเครื่องมือต่อรองทางการเมืองกับพรรคทหาร เวทีต่อสู้ของพวกเขาควรอยู่ที่หีบบัตรเลือกตั้ง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเพื่อไทยได้จัดองค์กรเพื่อการนี้มากน้อยแค่ไหน และมีประสิทธิภาพเพียงไร

เพื่อไทยต้องหยุดต่อสู้กับพรรคทหารด้วยเกมเดียวกัน (ซ้ำเป็นเกมที่พรรคทหารเป็นฝ่ายกำหนดเสียด้วย) คือเกมเสนอตัวบุคคล ไม่ว่าตัวบุคคลที่จะเป็นนายกฯ หรือตัวบุคคลที่จะเป็น ส.ส. คนไทยจะออกจากถ้ำได้อย่างไร สำคัญกว่าใครจะเป็นผู้พาออกไป ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ หรือหน่วยซีล ก็ได้ทั้งนั้น เพื่อไทยยังไม่เคยพูดให้เข้าใจสักครั้งว่า แล้วเราจะออกจากถ้ำได้อย่างไร โดยไม่บาดเจ็บล้มตายด้วย

อยากไปพบคุณทักษิณ ชินวัตร ก็ไปเลย อย่างน้อยคุณทักษิณเคยเป็นหัวหน้าพรรค และริเริ่มกระบวนการทางการเมืองแบบที่สมาชิกเพื่อไทยอ้างว่าศรัทธา เราไม่ทิ้งเพื่อนยามที่เพื่อนตกทุกข์ได้ยาก ผมเข้าใจว่าเป็นคุณธรรมที่คนไทยส่วนใหญ่ยังยกย่องอยู่ แต่อย่าฝากความหวังไว้กับคุณทักษิณเลย ไม่มีหรอกครับนักการเมืองคนไหนในโลก ที่ออกไปจากวงจรการเมืองเป็นสิบปีเช่นนี้ จะยังมี “เสียง” ดีโดยไม่ตกเลย แม้แต่ท่านมหาตมะ คานธี หยุดบทบาทในพรรคคองเกรสไปนาน แต่ไม่ได้ไปนั่งปั่นด้ายอยู่ที่อาศรมเฉยๆ ท่านรักษาสายใยกับวงจรการเมืองอย่างไม่ปล่อยให้ขาด ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ และการพบปะกับแกนนำในพรรคตลอดมา ฉะนั้น เมื่อเวลามาถึง เพียงแต่ก้าวออกจากอาศรม คนอินเดียก็พร้อมจะเดินตามทันที

คุณทักษิณไม่ได้ทำอย่างนั้น (เพราะทำไม่ได้ หรือเพราะอะไรก็ตามที) ถ้าสมาชิกเพื่อไทยอยากฟังความเห็น หรือแม้แต่นโยบายจากคุณทักษิณก็ฟังเลย เพียงแต่ว่าหากรับนโยบายนั้น มันก็คือนโยบายของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ของคุณทักษิณ (ไม่ใช่เพราะกฎหมายพรรคการเมืองห้ามไว้นะครับ แต่พรรคเพื่อไทยต้องพร้อมที่จะให้คนเกลียดทักษิณเลือกด้วย ซึ่งสำคัญกว่าให้คนรักทักษิณเลือก เพราะถึงอย่างไร เขาก็เลือก และดังที่กล่าวข้างต้น นับวันคนประเภทนี้จะมีแต่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติของการเมือง)

การชูทักษิณก็ไม่ต่างอะไรกับการชูประยุทธ์ของพรรคทหาร ความหวั่นไหวที่อดีต ส.ส.ของพรรคถูกพรรคทหารดูด ก็เป็นเรื่องเดียวกับการดูดอดีต ส.ส.ของพรรคทหาร เพียงแต่ยึดติดตัวบุคคลกันคนละด้านเท่านั้น

พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้บอกเลยว่า ทำไมผมและคนไทยอื่นๆ จึงควรเลือกพรรคเพื่อไทย ผมจะออกจากถ้ำด้วยองคาพยพครบ 32 ได้หรือไม่ หรือต้องออกจากถ้ำหนึ่ง เพื่อมาติดอีกถ้ำหนึ่ง อย่างที่ 13 หมูป่าโดนอยู่เวลานี้

พรรคการเมืองต้องมีนโยบาย ยิ่งในภาวะวิกฤตทางการเมืองอันใหญ่หลวงครั้งนี้ ยิ่งต้องมีนโยบายที่ตอบโจทย์ได้หลายด้านมากขึ้น มัวแต่เล่นการเมืองที่แวดล้อมตัวบุคคลอยู่ ทำให้มองไม่ออกว่าเพื่อไทยกับพรรคทหารต่างกันอย่างไร

หากจะแก้ตัวว่า ที่ไม่แถลงนโยบายก็เพราะ คสช.ยังไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมือง ก็ยิ่งน่าทุเรศหนักขึ้น พรรคการเมืองไม่มีทางสื่อสารให้สังคมรู้หรอกหรือ ว่าในยามหน้าสิ่วหน้าขวานถึงเพียงนี้ จุดยืนของคุณอยู่ตรงไหน ทำไมถึงต้องยืนที่จุดนั้น และยืนที่จุดนั้นแล้วจะมีผลดีแก่ส่วนรวมอย่างไร ทำแค่นี้ก็ยังทำไม่ได้ ยังเป็นพรรคการเมืองอยู่หรือ

พรรคเพื่อไทยหายไปไหน

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image