วีรพงษ์ รามางกูร : พลวัตของสังคมการเมือง

นักวิชาการมักจะเปรียบเทียบสังคมมนุษย์ว่าเสมือนร่างกายของสิ่งมีชีวิต ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายที่มีเลือดเนื้อ หัวใจ สมอง และอื่นๆ รวมทั้งความรู้สึกนึกคิด ความจำ มีการเรียนรู้ การใช้ข้อมูลและประสบการณ์จากความทรงจำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับสูงต่างๆ และมีระดับความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นสำหรับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับสูงขึ้น จนถึงขั้นเผ่าพันธุ์มนุษย์

พุทธศาสนาอธิบายว่าสิ่งที่มีชีวิตย่อมประกอบด้วยขันธ์ทั้ง 5 อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม และอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ไม่มีตน เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นทุกข์ ยึดถือเอาไม่ได้

ลักษณะสำคัญของสังคมการเมือง หรืออย่าง socio-political ของชุมชนของมนุษย์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวิวัฒนาการชีวิตที่ดีขึ้น มีความเป็นอารยะที่สูงขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันและสามารถสืบพันธุ์ส่งต่อไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้ มนุษย์ได้พัฒนาชุมชนจนกลายเป็นสังคมที่ทำให้สมาชิกทุกคนหรือเกือบทุกคนมีอาหารบริโภค มีปัจจัย 4 สำหรับการดำรงชีพ และที่สำคัญที่สุดคือทุกคนมีโอกาสสืบพันธุ์สืบทอดเผ่าพันธุ์ของตนต่อไปได้ แทนที่จะเป็นสิทธิขาดของหัวหน้าฝูงหรือหัวหน้าเผ่าที่มีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุดเท่านั้น แม้บางเผ่าพันธุ์จะมีหัวหน้าเผ่าหรือหัวหน้าชุมชนยังติดสัญชาตญาณการแพร่พันธุ์ของตนเอง สามารถมีอภิสิทธิ์ที่จะมีโอกาสมีคู่ได้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีการแพร่พันธุ์ได้มากกว่าสมาชิกคนอื่นๆ ในเผ่า

พลวัตของเศรษฐกิจและสังคมเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายและปิดกั้นขัดขวางได้ยาก เพราะผลของการที่ตนเห็นจากเพื่อนบ้าน สังคมอื่นหรือประเทศอื่นที่เรียกว่า demonstration effect ด้วยพลังทางเศรษฐกิจ พลังการตลาดผ่านทางพลังของราคาสินค้าและบริการ ทำให้มีความพยายามที่จะลดการแตกต่างหรือช่องว่างของความเป็นอยู่และการดำรงอยู่

Advertisement

ตลอดเวลาในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา นอกจากคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความมีอายุยืนยาวของชีวิตของมนุษย์ จะได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น สามารถมองเห็นและเปรียบเทียบกัน ทำให้หยุดยั้งและปิดกั้นได้ยากขึ้น ประเทศหลายประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ที่พยายามปิดประเทศ ปิดกั้นการเปลี่ยนแปลง ขัดขวางการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น แต่ในที่สุดก็ทำไม่ได้ ไม่สามารถเอาชนะพลังเศรษฐกิจ พลังการตลาดที่สามารถพังทลายสิ่งที่ปิดกั้นกีดกันทั้งหลาย ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการตลาดให้ทลายลง ผ่านทางการค้าใต้ดินหรือการค้าผิดกฎหมาย

การเกิดขึ้นของ บิทคอยน์ ก็เป็นผลของพลังการตลาดที่หาทางออกให้กับตลาดใต้ดิน ธุรกรรมผิดกฎหมาย ลดต้นทุนของระบบการเงิน อันเป็นคำตอบของพลวัตทางเศรษฐกิจ พม่าเคยปิดกั้นพลังเศรษฐกิจไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

Advertisement

ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ ต้องเลิกและยอมให้เกิดพลวัตทางเศรษฐกิจ

สังคมก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้ง เช่น การศึกษา การฝึกทักษะ ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นนามธรรม ความเจริญงอกงามของวัฒนธรรม ความเป็นอารยะของสังคม ทางด้านแนวนอน เช่น การติดต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างครัวเรือน ระหว่างปัจเจกชน ก็มีความเป็นพลวัต เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนโครงสร้างอาชีพ เปลี่ยนโครงสร้างการผลิต

ที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ราคาโดยเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยการผลิต อันได้แก่ ค่าเช่า ค่าจ้างแรงงาน ดอกเบี้ยและอัตรากำไรเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตรมีน้อยลงเพราะผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนไป ที่เคยคิดว่าอาหารและสินค้าการเกษตรกรจะไม่พอกินพอใช้เพราะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรก็เปลี่ยนไป

กลายเป็นว่าถ้าทุกประเทศปล่อยให้ภาคเกษตรกรรมเป็นตลาดเสรี เป็นไปตามกลไกตลาด อาหารและสินค้าเกษตรจากประเทศต่างๆ จะล้นโลก เกินความต้องการ ราคาจะลดต่ำลงต่ำกว่าต้นทุนของวิธีการผลิตในปัจจุบัน จากเดิมที่ใช้ทุนและแรงงานมาก เปลี่ยนมาใช้แรงงานและที่ดินน้อย ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนและผู้ใช้แรงงานก็เปลี่ยนไป ความสำคัญของสหภาพแรงงานก็ลดลงจนไม่ได้ยินเสียง

พลวัตทางการเมืองของโลกก็กลายเป็นกระแสของประชาธิปไตยไปทั่วทั้งโลก สร้างความกดดันให้ประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร เช่น สเปน โปรตุเกส ประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้ รวมทั้งประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต รวมทั้งสาธารณ
รัฐประชาชนจีน เวียดนาม ลาว คิวบา ก็ต้องผ่อนคลาย เปิดประเทศเข้าหาระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหรือ market economy มากขึ้นตามลำดับ

พลวัตของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเกิดขึ้นทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะถอยห่างจากการเป็นระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบอบเผด็จการทหารอย่างตรงไปตรงมา หรือเผด็จการโดยพรรค เช่น พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคอื่นๆ หรือเผด็จการโดยรัฐสภาก็ผ่อนคลายความแข็งทื่อของความเป็นเผด็จการลง

หันมามองประเทศไทย เป็นเวลา 85-86 ปีหลังจากคณะราษฎรได้เข้าทำการยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 มาเป็นระบอบคณาธิปไตยบ้าง มาเป็นระบอบเผด็จการทหารบ้าง ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง เต็มใบบ้าง หลังจากนั้นระบอบการเมืองของบ้านเราก็หยุดนิ่ง ไม่มีการพัฒนาก้าวหน้าเลย

เคยดีใจว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยคงจะพัฒนาไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบ 2 พรรค เหมือนกับนานาอารยประเทศ เมื่อปล่อยให้มีการเปิดเสรีทางการเมืองอย่างต่อเนื่องจนในที่สุดก็จะเกิดระบบ 2 พรรค

ยกเว้นญี่ปุ่น ที่พัฒนาเป็นระบอบพรรค การเมืองพรรคเดียวแบบญี่ปุ่น เป็นพรรคเดียวที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภามาเกือบตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ภายในพรรคเสรีประชาธิปไตยก็มีการแข่งขันต่อสู้กัน ภายในพรรคมีการแบ่งออกเป็น “มุ้ง” ต่างๆ

ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจหลังจากถูกพันธมิตรทำลายด้วยระเบิดปรมาณู เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ และเมืองสำคัญรวมทั้งโตเกียว ที่ถูกระเบิดทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง ระบอบประชาธิปไตยแบบพรรคเดียวภายใต้รัฐธรรมนูญที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ยกร่างให้ก็ดำรงคงอยู่อย่างถาวรมาจนถึงปัจจุบัน นานๆ จึงจะมีการแก้ไข ล่าสุดก็คือให้ญี่ปุ่นมีทหารประจำการและสามารถส่งออกไปสู้รบนอกประเทศในนามของสหประชาชาติได้ และกำลังจะแก้ไขให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงสละราชสมบัติได้

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นการดึงระบอบการเมืองของประเทศให้ถอยหลังกลับไปสู่ระบอบเผด็จการโดยการทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มาโดยระบอบรัฐสภา โดยอ้างว่า “เลือกตั้งสกปรก” ในการเลือกตั้งในปี 2500 ในที่สุดจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องออกไปลี้ภัยที่ญี่ปุ่น ประเทศพันธมิตรระหว่างสงครามโลกและถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น ระบอบการเมืองที่เพิ่งจะเริ่มและเป็นครั้งแรกที่สภา
ผู้แทนราษฎรได้อยู่จนครบวาระ มีการเลือกตั้งซ้ำและพรรครัฐบาลได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด และถ้าต้องการก็สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เช่นเดียวกับรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลของประเทศในยุโรปได้

ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองใหญ่ที่แพ้การเลือกตั้งก็ปลุกกระแสว่า การที่มีพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งมีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดหรือ absolute majority เป็นระบอบเผด็จการโดยรัฐสภา เป็นการบิดเบือนโดยแท้

การปกครองโดยเสียงข้างมากในรัฐสภา ประกอบกับการมีวินัยพรรคที่เข้มแข็ง ก็ย่อมเป็นรัฐบาลเผด็จการโดยเสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่เสียงข้างน้อยก็ยังได้รับการรับฟัง เพราะสมาชิกพรรคต้องลงมติในสภาตามแนวทางของพรรค หรือ party line อยู่แล้ว จะออกนอกแนวทางของพรรคไม่ได้ ขืนทำจะถูกพรรคลงโทษ เราจึงเห็นเสมอว่าสมาชิกพรรคฝ่ายค้านจะไม่ยกมือลงคะแนนเสียงให้กับญัตติที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะการผ่านร่างกฎหมายและญัตติสำคัญอื่นๆ รัฐบาลต้องหาพันธมิตรให้พอในการลงมติ ถ้าไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายหรือญัตติสำคัญๆ ก็ต้องลาออกเพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าจะให้ฝ่ายรัฐบาลกลับมาตั้งรัฐบาลอีกหรือไม่

การปลุกกระแสเพื่อปูทางให้ทหารทำรัฐประหารโดย กปปส. ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ประสานกับการคว่ำบาตรการเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน เพราะรู้ดีว่าถ้ามีการเลือกตั้งตนจะแพ้การเลือกตั้ง ถ้าร่วมมือกับทหารก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยการจัดตั้งกันในกรมทหารจะดีกว่า เพราะพรรคไม่เคยชนะการเลือกตั้งมาก่อนเลย พรรคไม่เคยชนะใจ
ประชาชนโดยการสร้างผลงานหรือโดยการเสนอนโยบายที่ถูกใจประชาชน แต่ใช้วิธีหาเสียงโดยการทำลายฝ่ายตรงกันข้ามมาโดยตลอด ที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็คือการที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจากจังหวัดอุบลราชธานี ไปตะโกนบนเวทีโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ปูทางให้จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหาร แล้วเชิญจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ทุกวันนี้การเมืองไทยก็ยังเหมือนเดิม พรรคการเมืองเก่าเดิมๆ ยังค้านแบบเดิมๆ เศร้าใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image