เปิดระเบียบกกต.วิธีการคัดเลือกส.ว.

หมายเหตุ – ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ที่ออกโดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561

————

ตามที่บทเฉพาะกาล มาตรา 90 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ได้กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกให้มีสมาชิก ส.ว. จำนวน 250 คน โดยแบ่งเป็น 2 วิธี

วิธีแรก ให้มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นการทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน ไม่เกิน 12 คน ดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่ได้คัดเลือกก่อนเสนอให้ คสช.เป็นผู้เลือกให้เหลือ 194 คน เพื่อนำไปรวมกับตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพอีก 6 ตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมเป็น 200 คน

Advertisement

วิธีที่สอง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว.ตามกลุ่มอาชีพ จำนวน 200 คน แล้วจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อเสนอต่อ คสช. โดยแยกผู้ได้รับเลือกตามกลุ่มอาชีพ และตามวิธีการสมัคร เพื่อให้ คสช.คัด เหลือ 50 คน

ทั้งนี้ ทั้ง 2 วิธีตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.กำหนดให้แล้วเสร็จก่อนวันที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่า 15 วัน 

สำหรับการคัดเลือก ส.ว. 200 คนตามกลุ่มอาชีพ ตามวิธีที่สอง ถือเป็นวิธีการใหม่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานได้คิดขึ้น และบังคับใช้เป็น “บทหลัก” ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

Advertisement

แต่เนื่องด้วยเหตุผลจาก “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ตามที่ คสช. โดย “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการ คสช.ในขณะนั้น ได้มีข้อเสนอถึง กรธ.เพื่อปรับปรุงในส่วนของบทเฉพาะกาล โดยเสนอให้ ส.ว.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีที่มาจากการสรรหา แต่นายมีชัยได้ขอให้ใช้วิธีการเลือกแบบกลุ่มอาชีพไว้จำนวนหนึ่งสำหรับเป็นการทดลอง

ที่สุด จึงมีวิธีเลือกตามแบบกลุ่มอาชีพ 200 คน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเสนอ 200 คนที่คัดเลือกมาให้ คสช.เป็นผู้ชี้ขาดให้เหลือ 50 คนสุดท้าย

ทั้งนี้ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 กำหนดให้ภายใน 20 วันหลังระเบียบฯมีผลบังคับใช้ กกต.ต้องประกาศกำหนดวันลงทะเบียนองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับเป็น ส.ว.

โดยผู้ที่จะสมัครรับเลือก ส.ว.สามารถยื่นสมัครได้ตนเอง หรือจะสมัคร โดยการแนะนำจากองค์กรนิติบุคคลที่มีมาแล้วตามกฎหมายไม่น้อยกว่า 3 ปี และมิได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ภายใน 10 กลุ่ม โดยให้เลือกกลุ่มได้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
10 กลุ่มอาชีพตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วย

(1) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

(2) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

(3) กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัยผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

(4) กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

(5) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

(6) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

(7) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และผู้ประกอบกิจการอื่นๆ ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม ผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

(8) กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคมองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

(9) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

(10) กลุ่มอื่นๆ

สำหรับวิธีการเลือกตั้ง ส.ว.นั้น ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 กำหนดให้ดำเนินการตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศตามลำดับ โดยระดับอำเภอกำหนดให้ นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต เป็นประธานคณะกรรมการระดับอำเภอ

การเลือกระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะกรรมการระดับจังหวัดและการเลือกตั้งในระดับประเทศ กำหนดให้ประธาน กกต.เป็นประธานคณะกรรมการระดับประเทศ

สำหรับการประกาศวันรับสมัครนั้น ให้ กกต.ดำเนินการภายใน 5 นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือก ส.ว.มีผลใช้บังคับ จากนั้นจะเริ่มรับสมัครภายใน 15 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก ส.ว.มีผลใช้บังคับ โดยกำหนดให้มีระยะเวลาการรับสมัคร 5-7 วัน

ส่วนระยะเวลาในการเลือกในแต่ละระดับนั้น ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิก ส.ว. พ.ศ.2561 กำหนดให้ในระดับอำเภอจะใช้เวลาไม่เกิน 20 วัน หลังเสร็จสิ้นการสมัคร เพื่อเข้าสู่การเลือกระดับจังหวัดจะดำเนินการภายใน 7 วัน หลังการเลือกระดับอำเภอก่อนไปสู่ระดับประเทศ โดยใช้ไม่เกิน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด

ขณะที่วิธีการลงคะแนน ตามข้อที่ 93 จะใช้วิธีการเลือกตรง โดยให้ผู้เขียนหมายเลขผู้สมัครที่ต้องการเลือกในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันด้วยหมายเลขอารบิกในช่องเขียนหมายเลขผู้สมัครได้ช่องละ 1 หมายเลข และให้ผู้สมัครได้ไม่เกิน 2 คน โดยสามารถลงคะแนนให้ตนเองได้ แต่จะลงคะแนนให้ผู้สมัครใดเกินหนึ่งคะแนนไม่ได้

ส่วนวิธีการคะแนน กำหนดแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครให้กระทำ ณ สถานที่เลือก โดยเปิดเผยและติดต่อกันให้เสร็จจะเลื่อนหรือประวิงเวลาไม่ได้

สำหรับผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกในส่วนของการเลือกระดับอำเภอ ทั้งสมัครตรง และรับรองโดยองค์กร รวม 60 คน ก่อนส่งขึ้นไปเลือกในระดับจังหวัด

ทั้งนี้ ในกรณีที่กลุ่มใดและวิธีการสมัครใดมีผู้ได้คะแนนเลือกอยู่ในลำดับที่มีคะแนนเท่ากัน อันเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 3 คน ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจัดให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันจับสลากทันทีเพื่อเลือกกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือก

เมื่อถึงการเลือกในระดับจังหวัด ผู้มีสิทธิจะเลือกตรงในกลุ่ม และวิธีการสมัครเดียวกัน โดยคนที่ได้คะแนนสูงสุด 4 ลำดับแรก จากแต่ละกลุ่มและวิธีการสมัครเดียวกัน รวม 80 คน ให้ถือเป็นผู้ที่ได้รับเลือก และส่งขึ้นไปเลือกในระดับประเทศต่อไป

การเลือกตั้งระดับประเทศนั้น ให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 10 คน ในแต่ละกลุ่ม และวิธีการสมัคร รวม 200 คน

เมื่อได้ 200 คนในระดับประเทศแล้ว ให้ กกต.รอรับรายงานผลการนับคะแนนไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน หากเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ กกต.ดำเนินการแจ้งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ คสช.คัดเลือกเป็น ส.ว. ในขั้นตอนสุดท้ายให้เหลือ 50 และสำรองรายชื่อไว้อีก 50 คน

จึงถือว่า เป็นการเสร็จสิ้นทุกกระบวนการ

แต่ทั้งนี้ ตามข้อ 153 วรรคสองของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ยังกำหนดด้วยว่า หาก กกต.ดำเนินการสืบสวนและไต่สวนแล้ว ปรากฏว่ามีผู้สมัครกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ กกต.สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลนั้นไว้เป็นเวลา 1 ปี โดยให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้สั่งเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งของบุคคลนั้นด้วย

พร้อมทั้งให้เลื่อนลำดับของผู้ที่ได้คะแนนในลำดับถัดไปของกลุ่มและวิธีการสมัครนั้นขึ้นมาแทนที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image