วีรพงษ์ รามางกูร : จะไปทางไหนกันแน่

ในฐานะที่เป็นประชาชนพลเมืองของประเทศไทย และมีส่วนได้ส่วนเสียกับความเป็นมา และกำลังที่จะเป็นไปของการเมืองในประเทศ มากกว่าการเมืองของประเทศใดๆ หรือแม้แต่การเมืองของโลก

จะทำหูไปนาทำตาไปไร่ ไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง เหมือนกับประชากรของประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง ดัตช์บ้าง ก็ดูจะไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เกิดมาในประเทศเอกราช ประเทศที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น หรือเคยตกเป็นทาสของผู้ใด ที่ไม่มีสิทธิที่จะถามหาอนาคตของบ้านเมืองว่าจะไปในทิศทางใด

ผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาชนที่เป็นคนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ซึ่งมีระดับการศึกษา มีอาชีพที่มั่นคงและมีระดับรายได้ที่สูงกว่าเกษตรกรในชนบท ซึ่งบัดนี้ก็พัฒนาไปไกลแล้ว น่าจะตั้งคำถามว่า อนาคตของระบบการเมืองการปกครองของเราจะมีทิศทางไปในทางใด

ได้ฟังผลของการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันการศึกษา 2-3 แห่ง ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน มีทั้งที่ชัดเจนและคลุมเครือ ที่ชัดเจนก็คือ 96.7 เปอร์เซ็นต์ ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ส่วนจะเลือกตั้งอย่างไร แบบไหน ยังไม่ได้ทำการสำรวจ หรือสำรวจแล้วแต่ไม่ทันได้ยินได้ฟัง ส่วน 3.3 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างที่เขาไปสุ่มสำรวจบอกว่าไม่ต้องการ ถ้าตัวอย่างที่สุ่มสำรวจความคิดเห็นเป็นตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับประชากรทั้งประเทศ ก็น่ายินดีว่าคนไทยยังคงมีความเป็นอารยะในสัดส่วนที่สูงอยู่

Advertisement

แต่พอถามว่าต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี คำตอบก็คือ อยากให้นายกรัฐมนตรีคนเดิมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เมื่อถามต่อไปว่า ถ้าวันนี้มีการเลือกตั้งทั่วไปจะเลือกพรรคการเมืองไหน คำตอบคือพรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับหนึ่ง พรรคที่ทหารจะจัดตั้งเป็นพรรคที่รองลงไป ต่อไปก็เป็นพรรคของคุณธนาธร กับ ดร.ปิยะบุตร และพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคในลำดับถัดไปอีก

ทำให้ผู้สังเกตการณ์การเมืองอย่างพวกเราไม่เข้าใจว่า คนไทยเข้าใจระบอบการเมืองแบบรัฐสภาของตนหรือไม่ หรืออาจจะเป็นว่าจำได้แต่ชื่อพรรคใหม่ๆ ที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนเดิมเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้จำชื่อพรรคการเมืองที่ กปปส.จัดตั้งขึ้น แล้วไปเชิญหม่อมเต่าหรือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล มาเป็นหัวหน้าพรรค แล้วยังมีพรรคเล็กพรรคน้อย หรือพรรคขนาดกลางที่เป็นพรรคเก่า แต่ก็จำชื่อไม่ได้ เพราะมีชื่อแปลกๆ เกิดขึ้นหลายพรรค รู้แต่ว่าจะมีพรรคของ “สามมิตร” เกิดขึ้น แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่เป็นพรรค แต่เคลื่อนไหวติดต่อหาสมาชิกพรรคได้ ต่างกับพรรคเก่าอย่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทยที่ทำไม่ได้ ขืนทำอาจจะถูกมาตรา 44 ยุบพรรคได้ และถ้าหากถูกยุบพรรคในช่วงเวลานี้ ก็ไม่มีเวลาจะไปหาพรรคใหม่มาสวมได้

ส่วนที่กลุ่ม “สามมิตร” จะไปดำเนินการตั้งพรรค เพื่อสามารถรับเงินสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง เป็นกิจจะลักษณะ จะใช้ชื่อพรรคว่าอะไร ขณะที่เขียนอยู่นี้จำไม่ได้เสียแล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนเขียนก็ได้พยายามท่องเอาไว้อยู่ ตอนจับปากกาก็ยังจำได้ แต่พอเขียนก็ลืมเสียแล้ว เพราะไม่มีความสำคัญพอที่จะจำ เลือกตั้งเสร็จ ชื่อพรรคก็หมดความหมาย ไม่มีความจำเป็น ให้เรียกว่า “พรรคทหาร” ก็เป็นอันรู้กัน ส่วนพรรคหม่อมเต่าก็จำว่า “พรรค กปปส.” ส่วนพรรคคุณธนาธรกับคุณปิยบุตร ก็จำว่าเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ 8 ล้านคน และพรรคเสี่ยหนูคือพรรคคุณเนวินเก่า ชื่อพรรคภูมิใจไทยก็คงไม่ผิด ส่วนพรรคชาติไทยของท่านบรรหาร ก็เป็นพรรคชาติไทยพัฒนาของคุณท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา ที่มีคุณตือ คุณนิกรและคุณธีระเป็นพี่เลี้ยง ส่วนพรรคกิจสังคมของซือแป๋ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังไม่ได้ยินและคงจะสูญพันธุ์ไปแน่คราวนี้

Advertisement

ทำรัฐประหารมา 2 ครั้ง 2 คราวในรอบ 12 ปีสำหรับการปฏิรูปการเมือง สิ่งที่ได้ก็มีเพียงองค์ประกอบของพรรคเล็กพรรคน้อยพรรคเฉพาะกิจที่เปลี่ยนไป ส่วนพรรคใหญ่เหมือนเดิม ที่เถียงกันมาหนักหนาว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือปฏิรูปหลังเลือกตั้ง ผลการสำรวจที่ออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เห็นพรรคเพื่อไทยยังจะได้ที่นั่งในสภามากที่สุด ส่วนจะมากกว่าพรรคอื่นๆ เท่าไหร่ต้องรอผลการเลือกตั้ง ถ้าหากจะมีการเลือกตั้งระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 5 พฤษภาคมปีหน้านี้ เอาเป็นว่ามีเลือกตั้งก็แล้วกัน

ที่ตั้งเป้าหมายว่า “พรรคทหาร” โดยกลุ่ม 3 มิตรบวกกับพรรคอื่นๆ จะได้เสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรวมกับสมาชิกวุฒิสภาที่นายกรัฐมนตรีตั้งมากับมือ ก็คงไม่มีปัญหาอะไรที่จะไม่เลือกนายกรัฐมนตรีคนเดิมเป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนคราวที่เรามีระบอบการปกครองระบอบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ตามรัฐธรรมนูญปี 2520 แต่ประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยนั้นบางทีก็มีปัญหาเหมือนกัน บางทีนายกรัฐมนตรีต้อง “ลาออกกลางสภา” เพราะกลุ่มนายทหารหนุ่มไม่เอา บางทีต้องยุบสภาเพื่อให้พรรคการเมืองมาเชิญให้กลับไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก ปี 2531 นายกรัฐมนตรีต้องออกมากล่าวว่า “ผมพอแล้ว” เพราะอำนาจวุฒิสภาหมดไป

การเมืองไทยเป็นการเมือง “ศรีธนญชัย” จะไปยึดไปถือตามที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่ได้ มีคนพูดอย่างเปิดเผยในรายการโทรทัศน์ว่า ในเมืองไทยนั้น ผู้บัญชาการกองทัพบกเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่เป็นที่ 2 รองจากนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือแม้แต่รัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบอย่างรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือรัฐบาลไหนๆ ของประเทศไทยก็ตาม

ส่วนประชาชนนั้นอาจตั้งรัฐบาล “จำอวด” สลับฉากได้ ถ้าอยู่นานก็จะถูกโห่ไล่ลงจากเวทีไปอยู่ต่างประเทศบ้าง ไปบวชพระบ้าง ตามคำพังเพยว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นรัฐบาล”

สมมุติว่ามีการเลือกตั้งตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชนและต่างประเทศ จนกระทั่งจะ “ตระบัดสัตย์” ได้ยาก และสามารถรวบรวม ส.ส.เก่าและ ส.ส.สอบตกมาอาบน้ำแต่งตัว รวมกับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นของตายอยู่แล้ว เหมือนกับสมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และใช้เสียงจากวุฒิสภา 250 เสียง ปล่อยให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคเดียว ก็ไม่แน่ว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพอย่างรัฐบาล พล.อ.เปรมหรือไม่ เพราะรูปแบบอย่างเดียวกัน จอมพลถนอมก็ดี พล.อ.เกรียงศักดิ์ก็ดี พล.อ.สุจินดาก็ดี ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังต้องพึ่งเสียงจากกองทัพสนับสนุนผ่านทางวุฒิสภา

การจะพยากรณ์การเมือง การคาดว่าจะขึ้นหรือลงจากตำแหน่งได้ ต้องเป็นการเมืองของระบอบที่มีการจัดระเบียบไว้แน่นอน เช่น การปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นระบอบรัฐสภา หรือระบอบประธานาธิบดี หรือระบอบคอมมิวนิสต์ อย่างอังกฤษ หรืออเมริกา หรือจีน ส่วนระบอบการปกครองเผด็จการทหารในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ ไม่สามารถพยากรณ์การขึ้นและลงจากอำนาจของหัวหน้ารัฐบาลได้ เพราะฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลเผด็จการคือ “ประชาชน” ไม่ใช่พรรคการเมือง การเปลี่ยนแปลงไม่อาจจะเกิดขึ้นโดยพรรคการเมือง แต่จะเกิดขึ้นโดยประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย โดยมีปัญหาเศรษฐกิจเป็นภูมิหลัง ซึ่งไม่ใช่เดี๋ยวนี้ อย่างน้อยความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจต้องติดต่อกันอีก 2-3 ปี

เมื่อมีประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทุกคนก็ยินดีปรีดา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์พุ่งขึ้นถึง 25 จุดในวันเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็เกิดความรู้สึกไม่แน่ใจว่าจะมีเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามกำหนด หรือความรู้สึกเช่นว่า เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผลและเกิดขึ้นเอง หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศความมั่นใจว่า พรรคตนจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ความรู้สึกไม่แน่นอนก็เกิดขึ้นทันทีว่าจะยอม “เสียของ” อีกหรือ

ทันทีที่เกิดข่าวนี้ ประจวบเหมาะกับการเปิดศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นเรื่องปกติของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลังขบวนการที่จะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ การเกิดวาทกรรมจากอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อาวุโสที่แบ่งผู้นำพรรคออกเป็น “ประชาธิปัตย์แท้” กับ “ประชาธิปัตย์เทียม” หลังจากที่เคยเปรียบเทียบพรรคไทยรักไทยว่าเป็นสินค้าแบกับดินจะสู้สินค้าในห้างสรรพสินค้าได้อย่างไร ผลก็คือประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งตลอดมาจนบัดนี้

ถ้าพรรคเพื่อไทยยังแน่ใจอยู่ว่าตนจะได้ที่นั่งเกินครึ่งในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าจะได้มีการใช้ “กลุ่มสามมิตร” ให้เป็นเครื่องสูบน้ำไดโว่ ที่สามารถเดินทางตระเวนหาสมาชิกพรรคได้เพียงกลุ่มเดียว แต่บรรยากาศก็ดูจะเหงาๆ ชอบกล ดูไม่ได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านเท่าที่ควร เห็นมีแต่ข่าว
เชลียร์ จากทีมข่าวการเมืองของหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ละทิ้งอุดมการณ์ เป็นสื่อมวลชนที่ไม่ยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชน แต่กลับไปยืนอยู่กับฝ่ายที่เห็นประชาชนเป็นศัตรู ฝ่ายที่ยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน ลดศักดิ์ศรีของประชาชนลงจากการเป็นเจ้าของอธิปไตยที่มีสิทธิเสรีภาพมาเนิ่นนาน แล้วก็อ้างว่าทำผิดกฎหมาย

เมื่อเห็นจุดยืนของสื่อมวลชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยแล้ว ก็เศร้าใจแทนผู้ทำสื่อมวลชนในอดีต สมัยที่ผู้ทำสื่อหลายคนถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับไปขังไว้ที่กรมตำรวจ โดยไม่มีการไต่สวนสืบสวน หรือยื่นฟ้องต่อศาลแต่ประการใด แต่สื่อมวลชนของไทยก็ไม่ท้อถอย ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยแทนประชาชน โดยไม่ได้เอาความเกลียดชังบุคคลเป็นที่ตั้ง จนลืมหลักการว่าตนเองมีอาชีพเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน แต่หลายคนกลับกลายเป็นปากเสียงของเผด็จการไปเสียแล้ว

เมื่อสื่อมวลชนไม่ได้อยู่ข้างประชาชนเสียแล้ว ความหวังที่จะเห็น “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ก็คงจะไม่เกิด ด้วยเหตุนี้จึงไม่รู้ว่า

จะเอาอย่างไรกันแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image