คิดเห็นแชร์ : เร่งเครื่องอุตสาหกรรมไทย ต้องใช้สมการสยามสแควร์ (SIAM)2

สวัสดีมิตรรักแฟนคอลัมน์ “คิด เห็น แชร์” ทุกท่านครับ..กลับมาพบกันอีกครั้งหลังจาก 2 บทความ
ก่อนหน้า ผมได้มีโอกาสแบ่งปันเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยกับการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมสู่ยุค Industry 4.0 และสยามโมเดล (SIAM) ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยเร่งเครื่องอุตสาหกรรมไทย “Gear up SIAM industry” ให้ทะยานไกลสู่อนาคต..เพื่อปูพื้นคุณผู้อ่านได้เห็นภาพการพัฒนาและการขับเคลื่อนนโยบายภาคอุตสาหกรรมของบ้านเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ในอนาคตอันใกล้ เราจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก ซึ่งเป็นบททดสอบที่ท้าทาย และเป็นภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะอยู่เคียงข้างและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้พร้อมรับมืออยู่เสมอ

การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลกครั้งสำคัญมาจากนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก ซึ่งมีวลีเด็ดที่ชาวโลกรู้จักกันดีว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” นั่นคือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฎี
สัมพัทธภาพพิเศษและเป็นที่มาของสมการเปลี่ยนโลก E=mc2 (อีเท่ากับเอ็มซีสแควร์) ซึ่งเป็นรากฐานความสำคัญของฟิสิกส์ยุคใหม่

เราได้ลองจินตนาการสูตรสมการที่จะสามารถปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเร่งเครื่องต่อยอดการทำงานจากนโยบายสยามโมเดล (SIAM) และเพิ่มความเข้มข้นแบบยกกำลังสองเข้าไป ทำให้ได้สมการเป็น I4.0 = (SIAM)2 หรือ “อุตสาหกรรม 4.0 เท่ากับสยามสแควร์”

(SIAM)2 เป็นพื้นที่ที่สามารถ “กำหนดความนิยม” หรือ “Trend Setter” หากจะเปรียบเทียบช่วงการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve นับว่า “สยามสแควร์” อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของกระแสใหม่ๆ โดยเป็นแหล่งเอกลักษณ์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นผู้นำกระแสได้เสมอ เปรียบได้ถึงกระบวนการเร่งเครื่องอุตสาหกรรมด้วยการสร้างสรรค์และต่อยอดจากมาตรการเดิม และขับเคลื่อนให้เกิดการผลักดันและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีรายละเอียดของแต่ละตัวแปร ดังนี้

Advertisement

“S2 : Second Stage of S-Curve and Innovation” คือ มาตรการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายระยะที่ 2 ประกอบด้วยโครงการย่อยรายสาขาอุตสาหกรรม เพื่อเร่งเครื่องการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยปลายปีนี้จะมีโครงการย่อยที่ต้องเร่งดำเนินการ 4 โครงการ คือ โครงการรถยนต์อีโคคาร์ไฟฟ้า (ECO EV), โครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ระยะที่ 2, โครงการกำเนิดอุตสาหกรรม
ระบบรางของไทย และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)

“I2 : I-Industry Big Data” คือ โครงการเร่งเครื่องการสร้าง Big Data Platform สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยภายในปลายปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการขยายผลโครงข่ายระบบ i-Industry ทะเบียนผู้รับบริการจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมครบทุกมิติ เพื่อให้เป็น Digital Service ขยายผลการจัดเก็บข้อมูลจากภาคอุตสาหกรรม ในด้านการรายงานผลการประกอบการ เช่น การรายงานผลการผลิตรายเดือนตามแบบ ร.ง.8 (พ.ร.บ. โรงงาน) และการรายงานผลการใช้ใบอนุญาต มอก. ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อการประเมินสภาวะอุตสาหกรรมภาพรวมและรายพื้นที่ และการวิเคราะห์กำหนดนโยบายด้านอุตสาหกรรมที่ตรงประเด็น รวมถึงการนำเสนอดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ซึ่งเป็นดัชนีล่าสุดที่จะเริ่มใช้ในช่วงปลายปีนี้ รวมทั้งการต่อยอดการพัฒนาระบบ Big Data ลงในระดับพื้นที่
โดยการพัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS)

“A2 : Automation for All” คือ การขยายผลการใช้งานระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สู่ผู้ประกอบการทุกขนาดและ SMEs ทั่วประเทศ และครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรม เน้นการพัฒนาระบบการผลิตอัตโนมัติที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ในราคาที่เข้าถึงได้ ใช้กลไกของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) 12 ศูนย์หลัก และ Mini ITC จะไม่มีพื้นที่ “ไกลปืนเที่ยง” สำหรับเทคโนโลยีนี้อีกต่อไป

Advertisement

“M2 : Maximize Manpower” คือ การติดอาวุธปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับผู้ประกอบการไทย 4.0 ซึ่ง AI ในที่นี้ นอกจากจะสื่อถึง Artificial Intelligence แล้วยังสามารถสื่อถึงการพัฒนาในหลายด้าน คือ Automated & Advance Industries, Applied Innovation และ Analytical Information เป็นอาวุธสำคัญในการยกระดับและพัฒนาตนเองเป็น workforce 4.0 โดยมีแนวร่วม Big Brother ทั้งในภาคการศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และภาคอุตสาหกรรม ร่วมพัฒนาบุคลากร

เพื่อขับเคลื่อนสยามประเทศในภาวะที่ไม่มีบริบท “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อีกต่อไปแล้ว แต่การยก
ระดับภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวข้ามสู่อุตสาหกรรมในยุคใหม่ ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจอย่างดุเดือด จำเป็นต้องคำนึงถึงความสามารถในการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ให้ทันต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ในช่วงจังหวะแห่งการปฏิรูปซึ่งเป็นโอกาส “น้ำขึ้นให้รีบตัก”

สมการสยามสแควร์ (SIAM)2 จะช่วยตอบโจทย์ในการสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างมั่นคง..เพราะเราจะไม่ทิ้งผู้ประกอบการไทยไว้ข้างหลัง

 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image