พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : กองทัพจะรัฐประหารไหม?

ผมไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับการพาดหัว รายงานข่าว หรือตีความคำพูดของผู้บัญชาการกองทัพคนใหม่ที่อธิบายถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดรัฐประหาร แต่ผมสงสัยว่าคำถามที่ถามไปว่ามีโอกาสไหมที่กองทัพจะทำรัฐประหาร หรือคำถามในทำนองที่ว่ากองทัพจะทำรัฐประหารหรือไม่ มันควรเป็นคำถามไหม

เพราะมันเป็นคำถามที่แย่ (ด้วยความเคารพผู้ถาม)

แต่เป็นข้อสงสัยที่ดี

เมื่อมันเป็นข้อสงสัยที่ดี เราก็ควรถาม แต่ควรถามยังไงมากกว่า

Advertisement

แทนที่จะถามว่ากองทัพจะทำรัฐประหารไหม ซึ่งมันเป็นทั้งการไปยอมรับอำนาจว่ากองทัพนั้นมีอำนาจและมีความเป็นไปได้ในการทำรัฐประหารแล้ว หรือจะอธิบายว่า การถามดังกล่าวเป็นการสะท้อนความอ่อนแอ หวาดกลัว และด้อยกว่าของอำนาจพลเรือน

เพราะมันเป็นการ “โทษเหยื่อ” (blaming the victims) เหมือนประเภทที่ไปถามว่า คุณจะทำร้ายเราไหม แล้วคนที่ถูกถามก็บอกว่า ถ้าคุณทำตัวดีๆ เราก็จะไม่ทำร้ายคุณหรอก ทั้งที่สิ่งที่สำคัญคือ คุณมีสิทธิไป
ทำร้ายเราไหม ไม่ใช่ไปถามว่าคุณจะทำร้ายเราไหม

คำถามที่ว่ากองทัพจะทำรัฐประหารไหม ยังจะไปสร้างความลำบากใจให้กำลังพลที่ดีๆ ในกองทัพเขาต้องลำบากใจในการตอบ เพราะกองทัพไม่ได้มีไว้ทำรัฐประหาร

Advertisement

ในห้วงขณะที่ถามนั่นแหละครับ คือ ห้วงขณะที่เรายอมรับและอ่อนข้อให้กับการใช้อำนาจนอกระบบในการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาทางการเมือง

คำถามว่าทหารจะรัฐประหารไหม ควรเป็นคำถามทางวิชาการในการวิเคราะห์ มากกว่าไปถามคนที่ทำรัฐประหารเอง เพราะตั้งแต่อดีต คนทำรัฐประหารส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดจะไม่บอกหรอกครับว่าจะทำรัฐประหาร แต่ก็ทำ

ถามไปให้ขัดรัฐธรรมนูญทำไม

มาช่วยกันถามใหม่ไหมครับ ลองถามผู้รับผิดชอบกองทัพว่า ท่านเห็นว่าการเอาผิดการทำรัฐประหารซึ่งการทำรัฐประหารเป็นการขัดรัฐธรรมนูญนั้นจะเกิดขึ้นได้ไหม และกองทัพพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการเอาผิดและตรวจสอบการยึดอำนาจที่ผ่านมาหรือไม่

และเพื่อไม่ให้คิดว่า นักการเมืองทำอะไรก็ได้จนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราก็ควรจะต้องถามนักการเมืองเหมือนกันว่า ท่านคิดว่าพวกท่านเป็นส่วนหนึ่งที่กลายเป็นเงื่อนไข หรือถูกอ้างเป็นเงื่อนไขของการทำรัฐประหารไหม และท่านจะมีวิธีการป้องกันอย่างไรที่จะไม่ทำให้กลายเป็นเงื่อนไขของการทำรัฐประหารอีก นอกเหนือไปจากถามว่าจะจัดการรัฐประหารอย่างไร

พูดกันอย่างแฟร์ ถ้าประเภทที่อ้างว่าฉันมาจากการเลือกตั้งแล้วทำอะไรก็ได้นี่ก็น่าลำบากใจอยู่ครับ คำตอบที่ควรจะได้ควรจะได้จากนักการเมืองคุณภาพ น่าจะมาในแนวทางของการอธิบายการมีระบบตรวจสอบภายในของระบอบประชาธิปไตยเองด้วย

อีกอย่างที่สำคัญ ที่ผมบอกว่าคำถามที่ถามตัวแทนกองทัพว่าจะทำรัฐประหารไหมเป็นคำถามที่แย่ก็เพราะว่า เมื่อไหร่ที่เกิดการถามคำถามนี้กับกองทัพ โดยเฉพาะกับตัวผู้นำกองทัพนั้น ในอดีตการที่ผู้นำกองทัพเลือกตอบว่าจะไม่ทำรัฐประหารนั้น เอาเข้าจริงมันเป็นการเริ่มนับหนึ่งกับการทำรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นการทำให้การทำรัฐประหารเป็นเรื่องที่เริ่มคิดกันได้ (thinkable) และทำให้ผู้นำกองทัพมีอำนาจและความชอบธรรมในการทำรัฐประหารขึ้นมาทันที

สามครั้งสุดท้ายก็เป็นเช่นนี้ครับ

ประเด็นต่อมา ลองคิดสิครับว่าการทำรัฐประหาร “จนเป็นผลสำเร็จ” นั้นเกิดขึ้นจากกองทัพเท่านั้นหรือไม่ เวลาที่เราเห็นการทำรัฐประหารในบ้านเราจริงๆ

มีหรือครับที่กองทัพสามารถไปสั่งให้ใครๆ ยอมจำนนต่อกองทัพได้ทั้งหมด

เห็นมีแต่คนและกลุ่มคนที่กระตือรือร้นมีส่วนร่วมในการยึดอำนาจรัฐอยู่มากมาย

ไม่นับคนที่ออกบัตรเชิญรัฐประหารในหลายรูปแบบ ซึ่งหลายครั้งก็พบเห็นว่า ทหารนั้นอาจจะไม่ได้เริ่มวางแผนทำรัฐประหารแต่แรก แต่ทหารถูก “อ่านขาด” ว่าถ้าสถานการณ์บ้านเมืองถูกชักจูงไปในทิศทางเหล่านั้น ทหารย่อมจะต้องออกตามเงื่อนไขที่ถูกวางไว้แน่ๆ

ในแง่นี้ต้องเข้าใจว่า การวางแผนรัฐประหารนั้นมีสองแบบ หรือสองขั้นในสังคมไทย ขั้นแรกคือ การทำให้เกิดสภาวะที่ทหารต้องตัดสินใจรัฐประหาร ซึ่งบ่อยครั้งกระทำโดยคนที่ไม่ใช่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากชนชั้นนำ หรือกลุ่มคนที่เสียอำนาจ ส่วนขั้นที่สองก็คือ การที่กองทัพเมื่อตัดสินใจทำการยึดอำนาจแล้ว เขาต้องวางแผนปฏิบัติการในการยึดอำนาจ (แต่ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าการรัฐประหารทุกครั้งในสังคมไทยจะต้องเป็นแบบนี้ บางครั้งอาจจะมีแต่ขั้นของกองทัพวางแผนทำรัฐประหารเลยก็มี)

อธิบายง่ายๆ ว่าอาจจะมีอยู่บางครั้งที่ขั้นตอนแรกนั้นสำคัญและอยู่นอกเหนืออำนาจของกองทัพ และกองทัพไม่ได้เสียประโยชน์ตรงจากระบบการเมืองที่เป็นอยู่ เช่น ไม่ได้ถูกตัดงบประมาณ หรือถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ตามตำราที่อธิบายการทำรัฐประหารในที่อื่นของโลก

คำถามที่ว่ากองทัพจะทำรัฐประหารไหม จึงไม่ใช่คำถามเดียวที่ควรจะหาวิธีถามให้รัดกุมขึ้น แต่อาจจะต้องไปถามบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ว่า ถ้ารู้ข่าวว่าจะมีรัฐประหารแล้ว ท่านจะทำอย่างไร จะมองว่าการทำรัฐประหารเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ หรือมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำได้ ประเด็นเหล่านี้แหละครับมันจะส่งผลไปถึงทิศทางในการรายงานข่าว และการป้องกันการทำรัฐประหาร

แล้วก็ไปถามแต่ละกลุ่มแต่ละคนหล่ะครับ ว่ากองทัพมีสิทธิทำรัฐประหารไหม ท่านคิดว่าท่านมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารไหม และถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้นท่านจะทำอย่างไร

ในทฤษฎีการทำรัฐประหารทั่วไป เขาจะมองว่า การทำรัฐประหารนั้นทำโดยทหารเสียเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นกองทัพก็จะแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเพื่อสืบสานอำนาจของตัวเองต่อไป รวมทั้งเอื้อประโยชน์กับฝ่ายทุนหรือกลุ่มคนต่างๆ เพื่อให้หนุนกองทัพให้อยู่ในอำนาจ

มีน้อยครั้งหรือไม่มีเลย ที่เราเห็นเหมือนในบ้านเราว่า การทำรัฐประหารนั้นถูกผลักดันอย่างแข็งขันจากองค์กรนอกกองทัพเองในหลายภาคส่วน

ยังจำกันได้ไหมครับว่า เมื่อคนหรือกองเชียร์เหล่านั้นเคยถูกถามว่า ถ้าทำรัฐประหารแล้ว กองทัพไม่ทำตัวให้สมกับที่คาดหวังไว้จะทำอย่างไร แล้วพวกเขาหลายคนบอกว่า ไม่เป็นไร เมื่อถึงเวลานั้นพวกเราก็สามารถไล่พวกกองทัพออกไปอีกทีก็ได้ แต่ขอให้พ้นไปจากสภาพที่เป็นอยู่ก่อนรัฐประหารให้ได้เสียที

ขอขำแปรบครับผม

บางคำตอบที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ การอ้างอิงแบบเปรียบเทียบว่า อย่างน้อยการทำรัฐประหารและการปกครองโดยคณะรัฐประหารที่วิจารณ์ไม่ค่อยจะได้นั้น ก็ยังดีกว่าสภาพที่เกิดก่อนนั้น เพราะความขัดแย้งลดลง ทั้งที่คนตอบนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น และที่ความขัดแย้งลดลงก็เพราะกลุ่มคนเหล่านั้นพึงใจที่จะอยู่ในระบบที่เป็นอยู่ ทั้งที่พวกเขาอาจไม่ได้ประโยชน์อะไรมาก

แต่การทำให้อีกฝ่ายของความขัดแย้งเสียประโยชน์มากกว่านั้นกลายเป็นเป้าหมายที่สูงสุดของพวกเขาไปเสียแล้ว

คํถามต่อมาที่ควรถามแทนคำถามว่า กองทัพจะทำรัฐประหารหรือไม่ ควรจะเป็นคำถามที่ว่าด้วยเรื่องวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปกองทัพของผู้นำกองทัพ และคำถามถึงภาคส่วนต่างๆ ในสังคมว่าเราจะมีตัวชี้วัดในการประเมิน ผลงานและสมรรถภาพของกองทัพในวันนี้อย่างไร

สิ่งที่เราพบเห็นเสมอๆ ในวันนี้ก็คือคำว่า ความสัมพันธ์ของพลเรือนกับกองทัพ การถอยของทหารออกจากการเมือง การเมืองนำการทหาร และความเป็นกลางของกองทัพนั้นเป็นมายาคติเสียเป็นส่วนมาก

รวมไปถึงคำว่าการทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพ โดยให้อิสระกับทหารในการจัดการภารกิจของตนเองโดยปราศจากการแทรกแซงจากภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะจากตัวแทนของประชาชนและนักวิชาการด้านความมั่นคง

ประการแรก ถ้าไม่ได้ใช้แค่เรื่องของตัวแบบตะวันตก แต่ลองดูตัวแบบแบบมิตรประเทศของเราอย่างจีน จะพบว่า กองทัพนั้นคือกองทัพของประชาชน และตัวแทนของพรรคในระดับสูงจะถูกส่งไปควบคุมกองทัพ เพื่อให้กองทัพขึ้นตรงต่อพรรค ต่อประชาชน

ประการที่สอง ถ้าดูตัวแบบของพม่า เหตุผลหนึ่งที่ซูจีและพลังประชาธิปไตยทำอะไรกองทัพไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ที่โครงสร้างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจทหารเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่ยังไม่มีการประชุมสภาความมั่นคง จึงทำให้กองทัพเป็นฝ่ายเดียวที่กำหนดมิติความมั่นคงได้โดยที่พลเรือน ประชาชน และพลังประชาธิปไตยไม่ได้มีส่วนในเรื่องต่างๆ

ประเด็นนี้จึงต้องฝากคิดต่อว่า ถึงเวลาหรือยังที่สภาความมั่นคงของบ้านเราจะมีภาคส่วนอื่นๆ นอกจากตัวแทนรัฐบาลและทหารในสภาความมั่นคงไหม และระบบกรรมาธิการทหารของไทยในรัฐสภานั้นมีความเข้มแข็งแค่ไหน อย่างไร

ประการที่สาม เวลาที่เราพูดเรื่องพลเรือนอยู่เหนือทหาร งานวิจัยใหม่ๆ เช่นงานของ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ พบว่า เราละเลยที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า งานกิจการพลเรือนของกองที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการที่กองทัพนั้นใช้ข้ออ้างของการดำรงอยู่และปฏิบัติภารกิจในการ “พัฒนาประเทศ”

ผมยังจำได้ว่า ในตอนที่มีการรัฐประหารโดย คมช. มีทหารระดับสูงท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศต่อคำถามที่ว่า ในต่างประเทศนั้นกองทัพไม่มีหน้าที่ในการทำรัฐประหาร หรือยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ผมจำได้ว่าทหารท่านนั้นกล่าวว่า บทบาทของกองทัพในแต่ละประเทศนั้นต่างกัน ในกรณีของไทยนั้น กองทัพยังมีหน้าที่พัฒนาประเทศอีกด้วย

ดังนั้น การป้องกันการทำรัฐประหาร หรือการล้มล้างผลพวงรัฐประหารอาจไม่ใช่เรื่องแค่การแก้ไขกฎหมาย หรือพากองทัพเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่เพียงเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงการติดตามภารกิจในรายละเอียดของกองทัพในกิจการพลเรือน ซึ่งหลายครั้งเกี่ยวโยงกับการระดมมวลชนในรูปแบบที่เกี่ยวข้องทางตรงและทางอ้อมในกิจกรรมทางการเมือง และความขัดแย้งทางการเมืองด้วย

ทั้งหมดที่นำเสนอนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสิ่งที่ควรถามเพิ่มและควรคิดเพิ่มในคำถามประเภทที่ว่า กองทัพจะทำรัฐประหารหรือไม่ ครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image