คิดเห็นแชร์ : เมื่อความเสี่ยง ‘เศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ’ กดดันตลาด

ช่วงเดือนที่ผ่านมาเรียกได้ว่ายากที่สุดสำหรับการลงทุนในปีนี้เลยทีเดียว

ดัชนีหุ้นโลกอย่าง MSCI All World ปรับตัวลงถึง 7% พร้อมกับบอนด์ยิลด์ทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง เป็นสถานการณ์ “ไร้ที่ปลอดภัย” สำหรับนักลงทุน และเมื่อราคาทองที่อ่อนตัวมาตลอดตั้งแต่ต้นปี
ปรับตัวขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมัน ก็เป็นการส่งสัญญาณว่าความเสี่ยงที่ชื่อ “U.S. Recession Risk” หรือเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐกำลังก่อตัวขึ้น

ความเสี่ยงนี้จัดอยู่ในระดับ “ภัยพิบัติ” ของตลาดการเงิน

ถ้าใครนึกไม่ออกว่ารุนแรงขนาดไหน ลองเอาสิ่งที่ตลาดกลัวในปัจจุบัน ไม่ว่าเป็นสงคราม
การค้า นโยบายการเงินที่เข้มงวด หรือการเมืองที่ปั่นป่วนไปทั่วโลกมาผสมรวมกัน ทั้งหมดที่กล่าวมายังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยได้ ดังนั้น ถ้าสหรัฐเกิดภาวะ Recession ขึ้นจริง คงไม่ต้องบรรยายว่าตลาดการเงินจะวุ่นวายขนาดไหน

Advertisement

ยิ่งเห็นความเคลื่อนไหวของตลาดทุนตอนนี้ยิ่งน่าสงสัย

เพราะน้อยครั้งมากที่จะมีการปรับตัวลงกว่า 20% ของตลาดทุนทั่วโลกครั้งไหนที่ไม่ตามมาด้วยภาวะ Recession ในบางประเทศ และถ้าเศรษฐกิจสหรัฐพลิกลงไปถดถอยจริง ตลาดหุ้นสหรัฐที่แกร่งที่สุดในปีนี้ ก็อาจปรับตัวลงอย่างน้อย 20% ตามตลาดทั่วโลกด้วย ความเสี่ยง U.S. Recession นี้จึงใกล้ตัวกว่าที่คิด และควรทำความเข้าใจไว้

ล่าสุด ธนาคารสหรัฐอย่าง Goldman Sachs (GS) นำโดย ปีเตอร์ ออพเพนไฮเมอร์ และ ชารอน เบลล์ ได้วิเคราะห์ความเสี่ยง Recession ไว้สามเรื่อง ได้แก่ ผลกระทบกับตลาดทุน ขนาดความเสี่ยง รวมถึงช่วงเวลาที่อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐได้อย่างน่าสนใจ

อย่างแรกคือ มีโอกาสสูงมากที่ผลตอบแทนของหุ้นสหรัฐจะติดลบทันทีที่เศรษฐกิจเข้าใกล้ภาวะถดถอย

โดย GS ได้เก็บข้อมูลของเศรษฐกิจสหรัฐเทียบกับดัชนี S&P 500 พบว่าด้วยการเติบโตของจีดีพีสหรัฐในปัจจุบัน มีโอกาสเพียง 17% ที่ตลาดจะ
ให้ผลตอบแทนติดลบ แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐในอีกสองไตรมาสชะลอตัวลงเหลือ 0-1% โอกาสจะ
เพิ่มขึ้นเป็น 60% และเมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจเตรียมเข้าแดนลบโอกาสก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 81% ทันที

สำหรับขนาดความเสี่ยง ครั้งนี้จะไม่รุนแรงเท่าเมื่อสิบปีก่อน แต่อาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่นานกว่านั้นก็เพราะความเสี่ยงจะแตกต่างไปตามรูปแบบของ Recession โดยครั้งนี้ GS มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยลงช้าๆ ส่งผลให้ตลาดเข้าสู่ภาวะ Cyclical Bear Market ซึ่งจะไม่เลวร้ายเท่า Structural Bear Market ในปี 2008 ที่เกิดจากการกู้ยืมเกินตัวและการเก็งกำไรที่สูงผิดปกติ แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะในอดีตหุ้นสหรัฐมักปรับตัวลงราว 30% ในช่วง 26 เดือนหลัง Recession และต้องใช้เวลากว่า 48 เดือน จึงจะกลับมาที่จุดสูงสุดเดิมได้

แต่นักลงทุนควรตั้งสติดีๆ เพราะแม้ว่า Recession จะน่ากลัวก็จริง แต่ตกใจตอนนี้ถือว่าเร็วเกินไป เนื่องจากโอกาสในการเกิดภาวะถดถอยในสหรัฐมีไม่มาก

GS มองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะพลิกลงไปติดลบในช่วง 3 ปีข้างหน้า มีเพียง 31% เนื่องจากสหรัฐมีตัวช่วยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจของภาคธุรกิจ การจ้างงานที่แข็งแกร่ง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายภาษีของทรัมป์ หรือธนาคารกลางก็หยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ถ้าจำเป็น เช่นเดียวกับอดีตที่สอนเราว่า อย่าเชื่อตลาดมากนักในเรื่อง Recession เพราะแม้นักลงทุนจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจต้องถดถอยแน่ เรื่องจริงก็อาจ
ไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่ทั่วโลกเคยเจอในช่วงวิกฤตหนี้ยุโรปปี 2012 หรือวิกฤตตลาดเกิดใหม่ในปี 2016

นอกจากนี้ ในความคิดของผม นักลงทุนไทยสามารถมองภาวะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยเป็น
โอกาสมากกว่าวิกฤต

เพราะถ้าเราดูจาก U.S. Recession ช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา จะพบว่าตลาดทุนไทยเคยผ่านเหตุการณ์นี้มาแล้วในปี 1990 2001 และ 2007 แม้หุ้นไทยจะปรับตัวลงโดยเฉลี่ยถึง 43% (จากสูงสุดถึงต่ำสุด) แต่เงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าก็ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 10% และบอนด์ยิลด์อายุ 10 ปีของไทย ก็ปรับตัวลงได้ถึง 1% นอกจากนี้ สินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงภาวะถดถอยในสหรัฐอย่างทองคำ ก็สามารถปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 46% ดังนั้น ถ้านักลงทุนไทยจับจังหวะถูก ก็อาจพลิกวิกฤตนี้เป็นโอกาสได้

มาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่านักลงทุนอาจเบาใจลงบ้าง เพราะอย่างน้อยเราก็เข้าใจว่าตลาดกำลังกลัวอะไรและควรปรับพอร์ตอย่างไรถ้า Recession เกิดขึ้น และให้จำไว้ว่า

“นักลงทุนที่เก่งที่สุดไม่ใช่คนที่ทำกำไรมากที่สุดในตลาดขาขึ้น แต่เป็นคนที่เสียน้อยที่สุดในตลาดขาลง”

 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ 
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย 
[email protected]
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image