ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับ ‘การแจกขันแดง’ โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

นักกฎหมายทุกคนทราบดี (บางทีไม่ใช่นักกฎหมายก็พอทราบ) ว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะมีความผิดทางอาญา ก็ต่อเมื่อกระทำการเข้าองค์ประกอบความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมาตรานั้นๆ ตัวอย่างเช่น การที่จำเลยจะมีความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ การกระทำของจำเลยต้องเข้าองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ดังนี้ คือ 1.เอาไป 2.ทรัพย์เป็นของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย (เอาทรัพย์ของจำเลยเองไปไม่เข้าองค์ประกอบข้อนี้) 3.โดยทุจริต (คือแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น) จำเลยต้องกระทำการเข้าองค์ประกอบความผิดทั้ง 3 ข้อ จึงจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งไปศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง เพราะจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ตามที่โจทก์ฟ้อง

สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 องค์ประกอบความผิดมีดังนี้

1.กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

2.มีเจตนาธรรมดาตามมาตรา 59 วรรคสอง (กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและขณะเดียวกับผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น)

Advertisement

3.มีเจตนาพิเศษ หรือมูลเหตุจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

3.1 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

3.2 เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

Advertisement

3.3 เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

การกระทำตามข้อ 1 มีข้อยกเว้นว่าหากกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิดตามมาตรานี้ มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล และรับรู้ร่างคำร้องของผู้แทนตำบล ที่กล่าวว่ารัฐบาลดำเนินการปกครองทำนองคอมมิวนิสต์ ไม่สามารถปราบปรามโจรผู้ร้าย ไม่สามารถแก้เศรษฐกิจให้ราษฎรฟื้นตัว เก็บภาษีไปใช้ในการป้องกันอำนาจของตัว ทั้งนี้เพื่อใช้ประกอบญัตติ เป็นการกระทำภายในขอบแห่งกฎหมาย และเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นความผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 456/2478)

ความผิดตามมาตรา 116 นี้บัญญัติอยู่ในหมวด 2 คือความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ซึ่งมีทั้งหมด 6 มาตรา คือตั้งแต่มาตรา 113 ความผิดฐานเป็นกบฏ ถึงมาตรา 118 กระทำการใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมาย ซึ่งมีกำหนดโทษไว้ค่อนข้างสูง เช่นความผิดฐานเป็นกบฏตามมาตรา 113 ระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต โดยเฉลี่ยนับว่าความผิดในหมวดนี้กำหนดโทษไว้ค่อนข้างสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตีความโดยเคร่งครัด

องค์ประกอบข้อ 1 ตามมาตรา 116 ใช้คำว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา” หมายถึงพูดต่อบุคคลทั่วไป ส่วนคำว่า “ด้วยหนังสือ” เช่นแจกใบปลิวมีข้อความโจมตีรัฐบาล หรือ “วิธีอื่นใด” เช่น บันทึกเสียง ถ่ายภาพยนตร์ จะหมายความรวมถึงการแจกสิ่งของ เช่น “ขันสีแดง” ด้วยหรือไม่ ก็จำต้องมาพิจารณาว่า “ขัน” มีไว้ใช้ทำอะไร เพื่อจะได้ทราบเจตนาธรรมดา ตามมาตรา 59 วรรคสอง ของผู้แจก คำว่า “ขัน” นั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า “ขัน” คือภาชนะสำหรับตักหรือใส่น้ำ มีหลายชนิด เช่น ขันข้าวบาตร คือขันเชิงสำหรับใส่ข้าวตักบาตร ขันลงหิน คือขันที่ทำด้วยโลหะผสมทองแดงกับดีบุก ขันเหม ขันที่เล็กกว่าขันเชิงเล็กน้อย ใส่ข้าวสารไว้ในขันสำหรับปักแว่นเวียนเทียน หรือขันซึ่งเป็น

กริยา หมายถึง ทำให้ตึงหรือให้แน่นด้วยวิธีหมุนกวดเร่งเข้าไป เช่นขันชะเนาะ ขันเกลียว หรือหัวเราะ น่าหัวเราะ ชวนหัวเราะ ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ของขัน ประกอบกับวาระที่ผู้นำขันมาแจกซึ่งเป็นเวลาใกล้เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งตามประเพณีนิยมจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์กันทั่วประเทศด้วยแล้ว ก็เล็งเห็นเจตนาของผู้แจกได้แต่เพียงว่ามอบขันให้เพื่อให้ใส่น้ำเล่นสงกรานต์กันตามประเพณี และดีกว่าแจกถังน้ำหรือตุ่มน้ำ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลก็มีแนวความคิดให้ประหยัดน้ำในยามภัยแล้ง แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีเจตนาตามองค์ประกอบข้อ 2 ก็จำต้องพิจารณาต่อไปว่าผู้แจกมีเจตนาพิเศษตามองค์ประกอบข้อ 3 หรือไม่

เมื่อได้พิจารณาประโยชน์ในการใช้ขันดังกล่าว ประกอบวาระที่ผู้นำขันมาแจกแล้ว จะเห็นได้ว่าการแจกขันจะแปลเจตนาไปถึงว่าเพื่อให้ผู้รับเข้ามาร่วมในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินอาจจะไกลเกินไป เพราะขันก็ไม่ใช่อาวุธหรือประสงค์จะใช้เป็นอาวุธ หรือแจกขันทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ ส่วนในเรื่องเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายบ้านเมืองนั้น แม้ว่าอาจจะมีผู้คิดกันไปไกลถึงว่า “ขันแดง” หมายถึงกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง หากมีการแจกขันสีแดงถือว่าละเมิดกฎหมาย ก็ต้องกล่าวหาคนที่ใส่เสื้อสีแดง นุ่งกางเกงสีแดง ด้วยว่าการทำการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง มีเจตนาพิเศษตามองค์ประกอบข้อ 3 ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ถ้าเป็นดังนั้นก็ต้องถือว่าเป็นการตีความอย่างมีอคติ แต่ถ้ามีการเขียนข้อความให้ผู้รับแจกขันกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ชักชวนให้ออกมาชุมนุมเพื่อต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาล หรือให้ไปรวมกลุ่มกับปิดสถานที่ราชการเช่นนี้ ก็อาจเข้าองค์ประกอบข้อ 3 คือมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้

สำหรับเจตนาพิเศษตาม 3.1 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้ายนั้น ถ้าไม่ถึงกับให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลังประทุษร้าย ก็ยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116

ในองค์ประกอบข้อ 3.2 แม้จะไม่ได้ถึงกับละเมิดกฎหมาย แต่ถ้าก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นโดยทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะในหมู่คนบางหมู่เหล่า ก็เข้าองค์ประกอบข้อนี้แล้ว

ส่วนองค์ประกอบข้อ 3.3 เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายบ้านเมือง มิได้หมายความว่าการกระทำความผิดทางอาญาเท่านั้น แม้จะเป็นการล่วงละเมิดกฎหมายทางแพ่งก็เข้าองค์ประกอบข้อนี้แล้ว เช่น ยุไม่ให้คนที่ซื้อขายที่ดินไปจดทะเบียนทำนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องเป็นการยุให้ประชาชนทั่วไปกระทำการเช่นนั้น

เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องเจตนาพิเศษอันจะเข้าองค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ขอให้พิจารณาแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาฎีกาที่ 2034-2041/2527 ระหว่างอัยการนครศรีธรรมราช โจทก์ นายศักดิ์สิทธิ์ สุวรรณภักดี กับพวกจำเลยดังนี้

ป. และ จ. จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มชักชวนนักศึกษา นักเรียน และประชาชนให้มาชุมนุมกัน ณ สนามหน้าเมืองที่เกิดเหตุมาแต่ต้น และกล่าวโจมตีขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนมีส่วนในการจัดตั้งหน่วยฟันเฟืองขึ้น จากผู้มาร่วมชุมนุมจนคนเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นจำนวนหลายพันคน ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ขว้างปาและวางเพลิงเผาจวนผู้ว่าฯ ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสอง ตลอดจนนักศึกษา นักเรียน และประชาชนดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรอีกสถานหนึ่งด้วย

ดังนี้ การกระทำดังกล่าวของจำเลย แสดงให้เห็นถึงเจตนาพิเศษ ตามองค์ประกอบข้อ 3 ของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการแจกขันแดง จะเห็นได้ว่าการแจกขันแดงน่าจะยังมิได้แสดงให้เห็นถึงเจตนาพิเศษของผู้แจกตามองค์ประกอบข้อ 3 ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

บทความนี้เป็นการแสดงมุมมองในแง่กฎหมายของผู้เขียน โดยนำคำบรรยายเกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้ของ ศ.ประภาศน์ อวยชัย นักกฎหมายและอาจารย์วิชากฎหมายที่มีชื่อเสียง และน่าจะเคยเป็นอาจารย์ของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการในขณะนี้บางส่วนมาเป็นหลักอ้างอิง แต่หากคดีอยู่ในอำนาจศาลแล้ว ก็เป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งผู้เขียนมิอาจก้าวล่วงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image