ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี เปลี่ยนได้แต่ไม่ง่าย

oznor

หมายเหตุนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษ CEO Talk ครั้งที่ 9 หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี กับการปฏิรูปประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่ห้องออดิทอเรียม 1 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม

ไม่อยากให้คิดว่ายุทธศาสตร์ชาติจะเกี่ยวข้องกับข้าราชการเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากที่สุดนับแต่วันนี้ไป โดยเฉพาะคนที่ทำมาหากินและนักลงทุนต่างชาติ ที่ผ่านมา เมื่อมีการเชิญชวนให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย อาจเป็นเพียงการรับปากของรัฐบาลหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลใหม่ นโยบายก็ต้องเปลี่ยน แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ เพราะเมื่อยุทธศาสตร์ชาติยังอยู่ ทุกอย่างก็ยังอยู่ เว้นแต่รัฐบาลนั้นจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเปลี่ยนได้ แต่เปลี่ยนยาก เมื่อต่างชาติฟังจึงรู้สึกมั่นใจมากขึ้น พูดเพื่อให้เห็นว่ายุทธศาสตร์เป็นคำตอบของอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะนักลงทุนที่ต้องการความมั่นใจ ซึ่งความมั่นใจที่ดีที่สุดคือยุทธศาสตร์ เพราะจะได้รู้ว่าเป้าหมายการพัฒนาของประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร

เคยทำงานอยู่ในรัฐบาล 11 คณะ ภายใต้นายกรัฐมนตรี 8 คน เมื่อมีแขกมาเยี่ยมรัฐบาล สังเกตว่ามีคำถามหนึ่งที่เราไม่เคยตอบได้ นั่นคือ เรื่องนี้จะทำจริงหรือไม่ จะนานแค่ไหน จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าถ้ารัฐบาลเปลี่ยนแล้วสิ่งนั้นจะยังอยู่

เช่นครั้งหนึ่งที่นายกฯทักษิณ ชินวัตร เคยประกาศเชิญชวนนักลงทุนทำเมกะโปรเจ็กต์ ตนมีหน้าที่อธิบายถึงขั้นตอนตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ต่างชาติอยากรู้อย่างเดียวคือ รัฐบาลหน้าจะทำเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ เพราะถ้าคำตอบคือไม่ เขาก็คงต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ตอบไปว่าไม่กล้ายืนยัน เพราะนี่เป็นนโยบายของ (Government policy) แต่สิ่งที่ต่างชาติต้องการคือ Strategy หรือยุทธศาสตร์ ซึ่งก็พูดว่าเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่เขาก็ถามอีกว่าแผนมีอายุกี่ปี

Advertisement

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลไทยสมัยหนึ่งเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในภาคอีสานซึ่งคือทุ่งกุลาร้องไห้ แต่ต่อมาเมื่อแผนสภาพัฒน์หมดอายุ ก็ไม่มีการพูดถึงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้อีก และไปพูดถึงการพัฒนาภาคเหนือแทน ทั้งหมดนี้คือความไม่แน่นอน จึงเป็นคำตอบเดียวว่าต้องสร้างความมั่นใจ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติคือปัจจัยหนึ่ง และในประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย ฝรั่งเศส ก็มียุทธศาสตร์ชาติด้วยเช่นกัน

ความสำคัญของการมียุทธศาสตร์ชาติ เห็นได้จากการที่ประเทศไทยเพิ่งได้รับคำเชิญจากเลขาธิการองค์การพัฒนาเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศ (โออีซีดี) ให้ส่งตัวแทนไปเป็นประธานร่วม (Co-chairman) ในการประชุมครั้งต่อไปที่ประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงถามว่าเรายังสนใจสมัครเป็นสมาชิกขององค์การอยู่หรือไม่ ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมา เราพยายามสมัครเป็นสมาชิกมาตลอด แต่เขาไม่รับ แต่เมื่อมียุทธศาสตร์ชาติ เขาก็รู้ว่าเราจะไปทางไหน ไม่ว่าทางนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม แม้การเป็นสมาชิกจะต้องมีค่าใช้จ่าย แต่ส่งผลดีต่อเครดิตของประเทศ

คำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ นั้น “ยุทธ” แปลว่าการรบ “ศาสตร์” แปลว่าวิชา ที่ผ่านมาอาจถูกใช้ในทางทหาร แต่วันนี้ถูกนำไปใช้ในความหมายอื่น เช่นเดียวกับคำว่า “ประชารัฐ” เดิมทีสื่อว่า รัฐซึ่งเป็นของประชาชน ซึ่งอันตรายเพราะทำให้นึกว่าเป็น Republic หรือสาธารณรัฐ

Advertisement

ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนความหมายให้ ประชารัฐหมายถึงการทำงานและประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชน และเนื่องจากประเทศต้องมีเป้าหมาย รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 65 จึงเขียนว่ารัฐจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ และเมื่อมีแล้วก็ต้องอยู่เหนือทุกสิ่งในประเทศ เหนือรัฐบาล เหนือสภาพัฒน์ เหนือทุกแผน และต่อมาต้องมีการออกกฎหมายลูก รวมถึงตั้งกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ชาติ 6
คณะ ให้แต่ละคณะร่าง 1 ด้าน คณะละไม่เกิน 15 คน

โดย 6 ด้านนั้น ประกอบด้วย 1.ด้านความมั่นคง ซึ่งจะครอบคลุมทหาร ตำรวจ แรงงานต่างด้าว ยาเสพติด การค้าชายแดน 2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ซึ่งคือด้านเศรษฐกิจ เช่น ทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยมีราคาถูก ส่งออกแล้วไม่เจอกำแพงภาษี 3.ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะพูดถึงเรื่องของคนตั้งแต่แรกเกิด และทำให้คนมีขวัญกำลังใจ มีศาสนา มีคุณธรรมจริยธรรม

4.ด้านลดความเหลื่อมล้ำ คือความไม่เท่าเทียม ความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคนจนกับคนร่ำรวย ระหว่างคนสมบูรณ์กับคนพิการ เช่น กำหนดว่ารายได้ประชาชาติในอนาคตของประเทศไทยควรอยู่ที่เท่าไร 5.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น รัฐมีเป้าหมายจะจัดการปัญหาขยะอย่างไร ซึ่งเรื่องปลดล็อกกัญชามาใช้ในการแพทย์จะรวมอยู่ในด้านนี้ และ 6.ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ หมายถึงเรื่องกระทรวง ทบวง กรม เช่น การขึ้นเงินเดือนราชการ อายุของการเกษียณ รวมถึงเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

บางฝ่ายวิจารณ์ว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นการพูดกันเอง เขียนเอง ชงเอง ต้องชี้แจงว่าเรามีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามภาคต่างๆ ได้ข้อวิพากษ์วิจารณ์กลับมามากมาย และนำมาแก้ไข ก่อนส่งไปให้ซุปเปอร์บอร์ดที่มีนายกฯเป็นประธาน ส่วนเหตุผลที่เลือกประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติในวันที่ 13 ตุลาคม เพราะเป็นรอยต่อระหว่างแผ่นดินเก่าและแผ่นดินใหม่ ถามว่าทำไมต้อง 20 ปี ก็เพราะเป็นเวลานานพอที่จะเปลี่ยนรัฐบาลหลายชุด ถ้า 5 ปีก็สั้นไป 30 ปีก็ยาวไป

ส่วนถ้าถามว่าทำไมจึงต้องให้ยุทธศาสตร์ชาติไปผูกมัดรัฐบาล ก็ต้องย้ำว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ แก้ไขได้ เพียงแต่ต้องใช้กระบวนการแบบเดียวกันกับตอนร่าง ซึ่งไม่ง่าย และตราบใดที่ไม่ถูกเปลี่ยน ก็ต้องผูกพันกับกระทรวง รัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ศาล รัฐสภา องค์กรอิสระ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติผูกมัดกับประชาชนโดยอ้อม เพราะประชาชนต้องติดต่อราชการ

ลำดับต่อมา คือเมื่อมีแผนแม่บทออกมาแล้ว จะมีผลห้ามมิให้รัฐบาลใดออกนโยบายที่ไม่อยู่ในแผนแม่บท โดยมีคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ซึ่งมีอายุ 5 ปี ทำหน้าที่เหมือนตำรวจ คือดูว่าหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บท ถ้าพบเขาจะร้องเรียนหรือรายงาน คนที่ถูกร้องเรียนต้องแก้ไข

ถ้าไม่แก้ไขก็ให้รายงานคณะรัฐมนตรี สภา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ตามลำดับที่ระบุในกฎหมาย และกระบวนการสามารถไปถึงชั้นศาลได้ โดย ป.ป.ช.สามารถสั่งให้หัวหน้าหน่วยราชการที่ไม่ปฏิบัติแผนแม่บทรวมถึงไม่ยอมแก้ไขเมื่อถูกรายงาน หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้

เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ คือ ประเทศต้องมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน กล่าวคือ ประเทศต้องมีความมั่นคง คนมีรายได้ดีขึ้นโดยกำหนดระยะเวลาชัดเจน แต่วิธีการที่จะพาไปถึงเป้าหมาย แผนปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วย

1.ด้านการเมือง 2.การบริหารราชการแผ่นดิน 3.กฎหมาย 4.กระบวนการยุติธรรม 5.เศรษฐกิจ 6.สื่อสารมวลชน 7.พลังงาน 8.ทรัพยากรธรรมชาติ 9.สาธารณสุข 10.สังคม และ 11.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต

คำว่าปฏิรูป หรือ reform หมายถึงการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่และเป็นระบบ ถ้าเปลี่ยนเล็กน้อยคือ change โดยองค์ประกอบของการปฏิรูปคือ 1.เปลี่ยนเพื่ออะไร 2.ต้องมีกระบวนการ อะไรทำก่อนหลัง และ 3.ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน หรือที่เรียกว่า PPP ได้แก่ purpose, process และ people

สำหรับประเทศไทยสุดยอดแห่งนักปฏิรูปคือรัชกาลที่ 5 ทั้งด้านการศึกษา รถไฟ ทหาร ตำรวจ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม กระทั่งศาสนา สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการปฏิรูปในรัชสมัยของพระองค์ท่านคือการมีเวลาทำงานยาวนาน ดังนั้น ถ้าเป็นรัฐบาลจึงทำยาก ทำให้จำเป็นต้องมีแผนปฏิรูป รวมถึงมีคนช่วยทำ คือ ส.ส. ส.ว. และประชาชน ความสำเร็จของการปฏิรูปคือการมีเวลาเพียงพอและคนช่วยทำงาน

เมืองไทยมีปัญหาจำนวนมาก เชื่อว่าทุกรัฐบาลตั้งใจดี แต่ทำไมจึงทำอะไรให้สำเร็จได้ยาก นั่นเพราะ 1.เวลาน้อย 2.ความร่วมมือจากประชาชนน้อย และรัฐบาลเลือกตั้งต้องฟังเสียงประชาชน พอฟังก็กลัว กลัวแล้วหยุดทำ ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 4 รัฐบาลใช้เวลา 7 ปี สภาออกกฎหมายได้ 120 ฉบับ

ถือว่าไม่พอกินพอใช้ เพราะเกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองตลอดเวลา นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่เคยเข้าทำเนียบแม้แต่วันเดียว นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องไปใช้ตึกวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศเป็นสถานที่แถลงนโยบาย ทั้งที่ไม่เคยมีครั้งไหนที่ประเทศไทยไปแถลงนโยบายที่อื่นนอกจากในสภาผู้แทนราษฎร

นั่นเพราะรัฐบาลต้องทำตามกฎหมาย กำหนดให้ต้องแถลงภายใน 15 วันหลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณ ขนาดประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ไปจัดที่รอยัล คลิฟ บีช ที่พัทยา ผู้นำยังต้องลอยเรือหนีผู้ชุมนุม ขณะที่ปีหน้าประเทศไทยจะกลับมาเป็นประธานอาเซียนอีกครั้ง เขาก็ถามเราว่าจะมีการฟื้นความหลังอีกหรือไม่

ผู้นำสิงคโปร์เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นอย่างสนุกสนาน ผู้นำบางคนฟังแล้วตื่นเต้น และบางคนก็อยากเห็น ด้วยสภาวะเช่นนั้นแล้วจะให้รัฐบาลออกกฎหมายกันเยอะๆ ได้อย่างไร เท่ากับออกกฎหมายแค่ 17 ฉบับต่อปีเท่านั้น

ปัญหาของประเทศแก้ไม่ได้ เพราะติดขัดกฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกกฎหมาย
มาแล้วมากกว่า 300 ฉบับ ต่อให้มีการปิดสภาอีก ก็ยังมีกฎหมายพอกินพอใช้ อย่างไรก็ดี ตนขอให้สภาชุดใหม่เข้ามาหลังเลือกตั้ง ช่วยพิจารณากฎหมายที่ออกไปแล้วอีกครั้ง เพราะยอมรับว่าไม่ใช่กฎหมายทุกฉบับจะเป็นกฎหมายที่ดีหรือถูกต้อง กระนั้นการแก้ปัญหาหลายอย่างได้แก้ไปแล้ว

ผลงานชิ้นโบแดงของสภาในรัฐบาลนี้ คือ กฎหมายการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ จะเป็นคู่มือของราชการในการบริการประชาชน เช่น ทำบัตรประชาชน 7 นาที ยังไม่นับเวลารอ เคยแจ้งข้าราชการไปว่า ขอให้แจ้งรายละเอียดขั้นตอนแก่ประชาชนให้ครบถ้วน ไม่เช่นนั้น ข้าราชการถูกฟ้องได้

วันนี้เราทำอะไรหลายอย่างไม่ได้ เพราะติดที่ 2 อย่าง คือ 1.กฎหมายเป็นกฎหมายเก่า โบราณ ทั้งที่ปัจจุบันนี้เป็นยุคดิจิทัล และ 2.ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น การมีคู่มือให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินแก่ราชการเพื่อซื้อความสะดวก

หากกฎหมายแย่ แต่เจ้าหน้าที่ดี ยังจะพอไปได้ แต่ถ้ากฎหมายดี แล้วเจ้าหน้าที่ไม่ดี เห็นว่าจะไปลำบาก ดังนั้น การปฏิรูปต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน ต้องปฏิรูปทั้งกฎหมาย ปฏิรูปภาครัฐ รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าการจะปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ ระบบราชการต้องได้รับการปฏิรูปก่อนสิ่งอื่น คือทำอย่างไรให้ข้าราชการเดินหนังสือไปมาถึงกันอย่างสะดวกและรวดเร็ว ข้าราชการซื่อสัตย์ สุจริต ตระหนักในหน้าที่ ไม่เกี่ยงงอน และอยากทำงานให้แก่ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image