Brexit : สัญญาณร้ายสำหรับยุโรป โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ยุโรปตะวันตกมีพัฒนาการที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน ในยุคสงครามเย็น ยุโรปตะวันตกสามารถรักษาความเข้มแข็งไว้ได้อย่างดี ท่ามกลางความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ส่วนในห้วงระยะที่ต้องเผชิญกับความรุ่งเรืองทางการค้าของญี่ปุ่นก็สามารถเพิ่มความเข้มแข็งทางการค้าผ่านนโยบายยุโรปตลาดเดียว

ปัจจุบันนี้ยุคที่เข้มแข็งและฮึกเหิมนั้นได้ผ่านไปแล้ว ยุโรปตะวันตกกลายเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐแต่มีปัญหาเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าและยาวนานกว่าสหรัฐเสียอีก

กลับกลายสภาพเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่อย่างยิ่งแต่เทอะทะ ขาดอนาคตที่สดใสและไม่มีวิสัยทัศน์ใหม่อีก

วิสัยทัศน์เดิมที่เคยต่อยอดนโยบายตลาดเดียวเป็นสหภาพยุโรปและเขตยูโรต่างถูกท้าทาย กลับกลายเป็นยุทธศาสตร์ที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยากลำบากและถ้าจะถอยก็หาทางถอยไม่ได้

Advertisement

ปัญหาความล้มเหลวในกรีซสะท้อนปัญหาทางโครงสร้างของเขตเงินตราสกุลเดียว หลายฝ่ายต้องการเห็นกรีซออกจากการเป็นสมาชิกของเขตยูโร (Grexit) โดยเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ดีสำหรับกรีซรวมทั้งสำหรับเขตยูโรด้วย

มาวันนี้ สหราชอาณาจักรก็มีประเด็นที่จะต้องมีประชามติว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่ (Brexit) ซึ่งกำลังสร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลอังกฤษและสหภาพยุโรปพอสมควรทีเดียว

สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษเคยต้องตัดสินใจแบบนี้มาก่อน จึงมิใช่สิ่งใหม่และก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่เคยกังวล

Advertisement

เมื่อครั้งที่ตัดสินใจเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจยุโรป อังกฤษสนใจอยากเข้าร่วมตลาดร่วมนี้ ปัญหามีอยู่ช่วงแรกที่ฝรั่งเศสคัดค้าน

เมื่อเข้าร่วมแล้ว เคยมีการลงประชามติ (ตามคำถามท้ายใบลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง) เมื่อปี ค.ศ.1975 เพราะยังมีความเห็นค่อนข้างมากที่อยากให้ออกจากกลุ่มยุโรปนี้แต่ประชาชนส่วนใหญ่มีความชัดเจนในการอยู่กับประชาคมเศรษฐกิจยุโรปนี้ต่อไปและก็ได้พัฒนาเป็นสหภาพยุโรปตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ด้วยความราบรื่น

การตัดสินใจที่จะให้มีการลงประชามติในครั้งนี้เป็นครั้งแรกหลังจากเกิดยุโรปตลาดเดียวและสหภาพยุโรป รัฐบาลเคยมั่นใจและผลการหยั่งเสียงที่ทำกันมาก็ออกไปทางที่จะเข้าร่วมต่อไป

แต่เมื่อเวลาใกล้ถึงกำหนดการลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายนปีนี้ เสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านเริ่มเข้าใกล้กันมาก จนกลายเป็นความเสี่ยงใหม่ที่อังกฤษอาจจะออกจากสหภาพยุโรปจริงๆ

ยิ่งประธานาธิบดีโอบามาช่วยพูดให้นายกรัฐมนตรีแคเมอรอน ยิ่งทำให้เราเห็นความกังวลของรัฐบาลอังกฤษมากขึ้น นายกรัฐมนตรีแคเมอรอนก็เล่นประเด็นเจรจาเงื่อนไขการอยู่ในสหภาพยุโรปซึ่งดูเหมือนความพยายามที่จะดึงเสียงสนับสนุนสหภาพยุโรปให้มากขึ้น

ความพยายามที่จะออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษเป็นสัญญาณร้ายสำหรับสหภาพยุโรป ไม่เหมือนกับกรณีของกรีซซึ่งถูกมองเป็นภาระทางเศรษฐกิจสำหรับยุโรป

อังกฤษมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของกลุ่มและถ้าต้องออกไปจริงก็ย่อมจะส่งแรงกดดันในประเทศอื่นๆ เช่น เดนมาร์ก สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ รวมถึงออสเตรีย ฮังการี สวีเดน และฟินแลนด์ให้ต้องคิดที่ออกตามอังกฤษบ้าง

ประเทศทั้งหลายเหล่านี้ล้วนสำคัญต่อสหภาพยุโรป รวมทั้งต่อกลุ่มนาโต้ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ

สหภาพยุโรปที่กำลังดูอ่อนแอจะกลายเป็นต้นแบบแห่งความล้มเหลวของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการเมืองบนหน้าประวัติศาสตร์โลก

คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศสมาชิก อังกฤษก็ได้เขตการค้าและการลงทุนที่มีขนาดใหญ่อย่างยิ่ง ทำไมอังกฤษจึงมีเหตุผลมากพอที่ออกไปอยู่เป็นเอกเทศ

ในแง่หนึ่ง ผลกระทบทางลบที่จะเกิดต่อการค้า การผลิตและการจ้างงานของอังกฤษไม่น่าจะทำให้ประชาชนชาวอังกฤษส่วนใหญ่ตัดสินใจให้ออกจากสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม การมองในแง่เศรษฐกิจที่เป็นภาพรวมอาจทำให้เรามองภาพต่างๆ ไม่ละเอียดเพียงพอ

อังกฤษเคยอยู่โดยลำพังมาก่อนและก็เคยอยู่ได้ดี การเดินเข้าสู่ความเป็นสหภาพทางการเมืองที่เป็นหนึ่งเดียวแทบจะไม่มีความจำเป็น การแยกออกมาจากสหภาพยุโรปจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบกว้างขวางแต่อย่างใด

ปัญหานี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาของสหราชอาณาจักร หากแต่เป็นปัญหาของสหภาพยุโรปและกลุ่มนาโต้

ประชาชนที่ค่อนข้างสูงอายุสักหน่อยยังมีความทรงจำที่ดีต่อความมีอธิปไตยและความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ของอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายของสหภาพยุโรปมาบังคับใช้กับชาวอังกฤษซึ่งเป็นประชาชนของประเทศสมาชิก ประชาชนวัยกลางคนก็มีแนวโน้มที่ค่อนข้างไปทางการแยกตัวออกมา แม้ว่ากลุ่มเยาวชนอาจคุ้นเคยกับสภาพในปัจจุบันแล้วและยังต้องกังวลถึงความต้องการแรงงานในอนาคต

เศรษฐกิจอังกฤษมีการเชื่อมโยงอย่างมากกับประเทศในสหภาพยุโรปเพราะเป็นประเทศที่ใกล้ชิดกัน ทว่าอังกฤษก็เชื่อมโยงอย่างดีกับนานาประเทศทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นการออกจากสหภาพยุโรปก็มิได้หมายความว่าความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนจะพัฒนาไม่ได้

ประธานาธิบดีโอบามากล่าวถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการอยู่กับสหภาพยุโรป โดยยกเรื่องข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนที่กำลังจะจัดทำกับสหภาพยุโรปนั้นเป็นการจัดทำกับกลุ่มประเทศ ถ้าหากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปก็จะน่าเสียดายเพราะอังกฤษต้องไปรอคิวประเทศที่เป็นเพื่อนๆ เหล่านั้น

ความเห็นนี้สะท้อนการมองแบบอนุรักษนิยมในสหรัฐ ว่าสิ่งที่ดีสำหรับสหรัฐจะดีกับคนอังกฤษและคนยุโรปด้วย และผลประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนเป็นผลประโยชน์ของประชาชนคนทั่วไปด้วย

ข้อตกลงนี้อยู่ไกลจากความรู้สึกของประชาชนและที่จริงแล้วการที่ธุรกิจขนาดใหญ่ในอังกฤษได้ประโยชน์จากตลาดที่ใหญ่โตขึ้นมิได้หมายความว่าธุรกิจขนาดย่อมรวมทั้งชาวบ้านจะได้รับประโยชน์ตาม

ประชาชนที่คัดค้านการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปก็อาจเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่จะคัดค้านข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรปเสียด้วยซ้ำ

คำหวานของประธานาธิบดีโอบามาจึงไม่น่าจะช่วยรัฐบาลอังกฤษได้มากนัก ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจคงยังไม่มั่นใจว่าเรื่องนี้สำคัญต่อตนเพียงใด

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่สนับสนุนให้อยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปเพราะเน้นความสำคัญของการค้าและการลงทุน การวิเคราะห์วิจัยทางเศรษฐศาสตร์ก็สอดคล้องกันดี ผลประโยชน์เหล่านี้จะมีมากกว่างบประมาณค่าใช้จ่ายที่อังกฤษต้องให้กับการเป็นสมาชิกและการค้ากับประเทศใกล้ชิดมีต้นทุนต่ำกว่าการค้ากับประเทศที่อยู่ห่างไกล

สำหรับประชาชนทั่วไป ความเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจคงมีอยู่จริงและจำนวนไม่น้อยกลัวการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อตน เมื่อรับฟังเสียงของนักเศรษฐศาสตร์ รัฐบาลและสื่อกระแสหลักคงหันเหตามไปมากขึ้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องหย่อนบัตร

แต่ปัจจัยสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์ให้น้ำหนักน้อยไปและอาจทำให้ฝ่ายคัดค้านชนะได้ก็คือปัญหาผู้อพยพซึ่งสังคมจะต้องแบกรับภาระอีกมากมาย

นักเศรษฐศาสตร์มีจุดอ่อนในการคำนวณผลกระทบส่วนนี้และแม้แต่รัฐบาลเองก็มิได้มีอำนาจจริงในปัญหาผู้อพยพและการจำกัดขอบเขตของสงคราม

พรรคอินดีเพนเดนซ์ (United KingdomIndependence Party) ซึ่งกำเนิดขึ้นเพื่อคัดค้านการร่วมอยู่ในสหภาพยุโรปกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้เป็นพรรคที่มีที่นั่งสูงสุดในการเลือกตั้งของสหภาพยุโรปและแม้ว่าจะมีที่นั่งในสภาล่างของอังกฤษเพียงที่นั่งเดียวแต่ก็มีฐานเสียงกว้างขวางทั่วประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

จำนวนที่นั่งในรัฐสภามิได้แสดงความนิยมทางการเมืองจริงและพรรคใหม่นี้จะมีความโดดเด่นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าประชามติจะออกมาทางใดก็ตาม

ประชาชนจำนวนมากในอังกฤษเริ่มสนับสนุนผู้นำทางการเมืองฝ่ายขวาและชาตินิยมและเห็นว่ามีจุดยืนของความเป็นชาติหรืออย่างน้อยก็เข้าใจความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่รู้สึกว่าอังกฤษต้องแบกรับภาระผู้อพยพมากเกินไป

ปัญหาผู้อพยพจำนวนมหาศาลจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายการเมืองในอังกฤษและยุโรปตะวันตก รวมทั้งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะส่งผลสะเทือนอย่างหนักต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อีกนานทีเดียว

Brexit จึงเป็นสัญญาณร้ายประการหนึ่งต่อจาก Grexit บนเส้นทางที่คงจะมีสัญญาณร้ายใหม่ๆ ออกมาอีก

สัญญาณทั้งหลายเหล่านี้เป็นอาการที่สะท้อนความอ่อนแอถดถอยของสหภาพยุโรปที่การบริหารจัดการถูกครอบงำโดยรัฐข้าราชการและการขาดวิสัยทัศน์ที่จะให้ความเชื่อมั่นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image