กลยุทธ์การลงทุน ไตรมาส 1/2562 KGI สุโชติ ถิรวรรณรัตน์

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยช่วงโค้งสุดท้ายเดือนธันวาคม 2561 ยังคงผันผวน ตามที่ผมประเมินไว้ในบทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับก่อนหน้า อย่างไรก็ดีผมประเมินว่า Downside หรือความเสี่ยงด้านขาลงของตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-3 เดือน น่าจะเริ่มจำกัดแล้ว และ 1Q62 น่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนระยะ 6-12 เดือน นักลงทุนต้องติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนได้เช่นกัน สำหรับกลยุทธ์การลงทุน 1Q62 โดยฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) สรุปได้ดังนี้

1) มุมมองจากทีม KGI’s Global Strategy (ดูภาพรวมการลงทุนทั่วโลก) ประเมินแนวโน้มขาขึ้น หรือ “Bull market” ของสหรัฐน่าจะใกล้จบในช่วงกลางปี 2562 รวมถึงการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย จากการขยายตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะเริ่มชะลอตัวลง และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดน่าจะหยุดที่ระดับใกล้ๆ 3.0% ในปี 2562 (เท่ากับว่าเราคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันอีก 2-3 ครั้ง) ขณะเดียวกันทีม KGI’s Global Strategy ประเมินว่า ตลาดเกิดใหม่จะกลับมาเป็นที่น่าสนใจลงทุนอีกครั้งในปี 2562 หลังจากที่มีการปรับฐานแรงในปี 2561 ดังนั้นเราคาดหวังเม็ดเงินลงทุนที่น่าจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นเกิดใหม่อีกครั้งในปีหน้า รวมถึงประเทศไทยด้วย

2) สำหรับมุมมองด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2562 นั้น ฝ่ายวิจัยประเมินแนวโน้ม GDP ปี 2562 ไว้ที่ 4.5% เทียบกับประมาณการปี 2561 ที่ 4.3% ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดการณ์การเติบโตของตัวเลข GDP ไทยปี 2562 สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ จากสมมุติฐานอัตราการขยายตัวของการส่งออกที่ระดับ +7% เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์ของฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เชื่อว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนน่าจะหาข้อยุติได้ และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไม่รุนแรงนัก และประเมินว่าที่ประชุม กนง.จะพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในเดือน ธ.ค.2561 และอีก 2 ครั้งในปี 2562 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยแตะระดับ 2.25% ภายในปี 2562

3) Valuation ของ SET index ปี 2562 น่าจะกลับเข้าสู่ระดับที่ลงทุนได้ (หลังจากที่ผมประเมินว่า Valuation หุ้นไทยในปี 2561 นั้นอยู่ในระดับที่ “ไม่ถูก”) โดยฝ่ายวิจัยประเมินกำไรของบริษัทจดทะเบียนรวมในปี 2562 จะเติบโตราว +7% YoY (การเติบโตชะลอตัวลงจากระดับ +12% YoY ในปี 2561) ซึ่งการเติบโตที่ชะลอตัวลงในปี 2562 นั้น เป็นผลจากสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบที่เราคาดว่าจะทรงตัว (ระหว่างปี 2561 ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นแรง) และสมมุติฐานการทำประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ยังระมัดระวัง ฝ่ายวิจัยประเมินเป้าหมาย SET index ปี 2562 ไว้ที่ 1,830 จุด (อิงเป้าหมาย P/E ที่ระดับ 15.4 เท่า) หรือมี Upside อีกราว +10%

Advertisement

4) จากประมาณการของฝ่ายวิจัย กลุ่มที่คาดว่าจะมีกำไรเติบโตโดดเด่นในปี 2562 เรียง 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มสถาบันการเงิน (Non-Bank financial) คาดกำไรโต +26.9% YoY, 2.กลุ่มสื่อ คาดกำไรโต +25.9% YoY (ผลจากฐานต่ำ), 3.กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดกำไรโต 25.7% YoY (ผลจากฐานต่ำ), 4. กลุ่มขนส่ง คาดกำไรโต +24.5% YoY (คาดผลการดำเนินงานกลุ่มสายการบินพลิกฟื้น) และ 5.
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง คาดกำไรโต +23.4% YoY (จากการรับรู้รายได้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน) ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มที่คาดว่าแนวโน้มกำไรปี 2562 จะชะลอตัวลงได้แก่ หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี

แม้ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสำหรับ 1Q62 ฝ่ายวิจัยคาดว่าน่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาดและอาจส่งกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ โดยล่าสุดประเด็นที่นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกำลังถกเถียงกันขณะนี้คือ ประเด็นเรื่อง “Flat yield curve” หรือภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐ (Bond yield) ปรับตัวลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากตั๋วเงินคลังอายุ 3 เดือนของสหรัฐ (T-Bill) ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่าง Bond yield และ T-Bill ปรับตัวลง ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทน หรือ Yield curve มีความชันที่ลดลง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มักที่จะใช้ตัวแปรนี้ในการพยากรณ์โอกาสหรือความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ณ สถานการณ์ปัจจุบันแม้ความน่าจะเป็นดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ธ.ค. ค่าความน่าจะเป็นดังกล่าวเท่ากับ 15.77% คำนวณโดยเฟดสาขานิวยอร์ก) ซึ่งอาจจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่ภาวะการเติบโตที่ชะลอตัวลง และบ่อยครั้งที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง มักเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าเข้ามากระทบดังเช่น 3 ครั้งล่าสุดที่เกิดเหตุการณ์ Flat yield curve คือ ในปี 1990 (เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย), ปี 2543 (เกิดเหตุการณ์ dot com) และปี 2550-51 (เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์) สำหรับสถานการณ์ Flat yield curve ครั้งล่าสุดนี้ หากไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเข้ามากระทบ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเพียงชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นประเด็นนี้จึงยังเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกจนอาจทำให้เสียโอกาสการลงทุนไปได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image