นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รธน.จะหยุดสังคมไว้ได้หรือไม่

การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นได้ก็ด้วยวิธีเดียวเท่านั้น คือทำรัฐประหาร ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นคนทำก็ตาม แต่บรรยากาศทางการเมืองเวลานี้ไม่เอื้อต่อการทำรัฐประหารเลย ฉะนั้นหากใครยึดอำนาจด้วยวิธีนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญความตึงเครียดอย่างหนัก จนจำเป็นต้องใช้มาตรการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหนักยิ่งไปกว่าที่เคยใช้มาแล้ว ซึ่งก็จะทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ รัฐประหารคือการเล่นการเมืองที่ต้องเปิดหน้ามากกว่าปกติ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ใครในหมู่ชนชั้นนำที่พร้อมจะเปิดหน้ามากกว่าที่เปิดไปแล้ว นักการเมือง นายทุนประชารัฐ หรือใคร ทั้งหน้าของเขายังต้องช่วยลดความตึงเครียดของสถานการณ์ลงด้วย

แต่ดูท่าทีแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่ตอบโจทย์ของชนชั้นนำ

ในสูตรของสิ่งที่เรียกกันว่า “วงจรอุบาทว์” ของการเมืองไทย จุดเริ่มต้นและลงท้ายคือรัฐประหาร แต่พัฒนาการทางการเมืองไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว จุดเริ่มต้นและลงท้ายได้กลายเป็นการเลือกตั้งแทน

Advertisement

และนี่คือสิ่งที่ชนชั้นนำยังไม่พบวิธีจัดการอย่างได้ผลตามต้องการ

ในอดีตที่ผ่านมาหลายทศวรรษ การเมืองไทยคือการเจรจาต่อรองระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน เมื่อไรที่การเจรจาไม่ลงตัว หรือความสัมพันธ์ภายในเปลี่ยนไป ก็จำเป็นต้องทำรัฐประหารเสียที เพื่อปรับเปลี่ยนข้อตกลงให้เหมาะกับความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยนไป

เจรจาตกลงกันได้แล้วก็จัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ชนชั้นนำจะสามารถจัดการให้โครงสร้างอำนาจยังอยู่คงเดิมได้เสมอ การเลือกตั้งไม่เคยเป็นผลชี้ขาดการจัดตั้งรัฐบาลในประเทศไทยเลย (ยกเว้นช่วงสั้นๆ บางช่วง) จนถึงช่วงหลังพฤษภามหาโหดใน พ.ศ.2535 เป็นต้นมา เป็นผลให้ปีศาจความวุ่นวายจำแลงตัวมาในรูปรัฐธรรมนูญ 2540

สัดส่วนของอำนาจจึงเทไปที่นักการเมืองที่ชำนาญการเลือกตั้ง และคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเขตเมือง รวมทั้งขยายไปยังคนชั้นกลางในหัวเมืองและชนบททั่วไป

กระบวนการนี้เกิดขึ้นรวดเร็วจนกระทั่งชนชั้นนำหลายกลุ่มไม่ทันตั้งตัว ยกเว้นก็แต่กลุ่มทุนซึ่งเข้าไปพัวพันกับการเมืองแบบเลือกตั้งอย่างเต็มที่ แต่ก็เป็นผลให้การแข่งขันในกลุ่มทุนเปลี่ยนจากการเจรจาต่อรอง มาเป็นการต่อสู้กันทางการเมือง ซึ่งต้องลงทุนสูงแต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ค่อยแน่นอนนัก เพราะถึงอย่างไร รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จำเป็นต้องโอนอ่อนให้แก่การตรวจสอบและโวยวายของผู้เลือกตั้ง ซึ่งรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองจากหลายทิศทางมากขึ้น

พอจะมองเห็นได้ไม่ยากว่า หากปล่อยให้การเมืองพัฒนาไปในแนวนี้ ในที่สุดก็จะปล่อยให้ชนชั้นนำลอยเคว้งคว้างหาที่ยืนไม่ได้ ในขณะที่เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่อยู่ร่วมกับการเมืองแบบเลือกตั้งได้ และอาจใช้การเมืองแบบเลือกตั้งเพื่อแข่งขันอำนาจแทนการเจรจาต่อรอง

แต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว ที่ชนชั้นนำจะสามารถระงับการเลือกตั้งไว้ได้ตลอดไปอยู่นั่นเอง เพราะคนชั้นกลางถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาใช้การเลือกตั้งเป็นหนทางการต่อรองอำนาจอย่างกว้างขวางเสียแล้ว แม้แต่คนชั้นกลางที่เคยช่วยชนชั้นนำล้มล้างการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้ตั้งใจจะอยู่ภายใต้ระบอบที่ไม่มีการเลือกตั้งเลยตลอดไป

คสช.และรัฐธรรมนูญ 2560 คือคำตอบของชนชั้นนำ ทำอย่างไรจึงจะมีทั้งการเลือกตั้ง และอำนาจกำกับของชนชั้นนำ

นอกจากวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งแล้ว ซึ่งเท่ากับฝังอำนาจของชนชั้นนำไว้กับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างแน่นหนา เวทีต่อรองของคนชั้นกลางก็ยังอยู่ เพราะจะมีการเลือกตั้งตามวาระ แต่อำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่เด็ดขาด และไม่ขึ้นอยู่กับเสียงของผู้เลือกตั้งทั้ง 100% มีองค์กรของชนชั้นนำคอยตรวจสอบถ่วงดุลอย่างได้ผลกว่า

ในขณะที่เสรีภาพการชุมนุมและการเคลื่อนไหวทั้งบนพื้นที่ออนไลน์และท้องถนน ถูกกฎหมายอื่นซึ่งออกมาหรือปรับแก้ภายใต้ คสช.คอยควบคุมมิให้เป็นไปอย่างอิสระ

ตลอดประวัติศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อำนาจของชนชั้นนำตั้งอยู่บนความสัมพันธ์เชิงบุคคลเสมอ แทบจะหาอำนาจที่ถูกทำให้เป็นสถาบันได้ยาก รัฐธรรมนูญ 2560 นับเป็นความพยายามครั้งแรกที่จะทำให้อำนาจของชนชั้นนำเป็นสถาบัน ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 ทิ้งชนชั้นนำไว้ในแดนของ “การเมือง” ซึ่งคือเปิดให้ความสัมพันธ์เชิงบุคคลยังมีบทบาทเด่นต่อไป

ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญ 2560 ก็แก้ได้ยาก ตราบเท่าที่อำนาจของชนชั้นนำยังฝังอยู่ในองค์กรอิสระทั้งหลาย ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา ก็อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ อย่างที่ได้เคยทำมาแล้วในรัฐธรรมนูญ 2550 บังคับให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มที่ท้องถนน กลายเป็นสภาพวุ่นวายซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำใช้อำนาจพิเศษเด็ดขาดลงมาระงับเสียได้

ไม่นานมานี้ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญออกมากล่าวว่า แม้จะมีการแก้ไขหรือเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ อย่างไรเสียก็ต้องลอกบางส่วนของรัฐธรรมนูญ 2560 จนได้

ดูเป็นความภาคภูมิใจของผู้ร่างอย่างยิ่ง ซึ่งก็มีเหตุอันควรภาคภูมิใจอยู่ตรงที่ว่า เป็นครั้งแรกที่อำนาจของชนชั้นนำถูกทำให้เป็นสถาบัน เชื่อมโยงกันระหว่างสถาบันต่างๆ ไว้อย่างแน่นหนา (แต่ไม่สู้จะแยบคายนัก) หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นก่อนฉบับของ ดร.ฟรานซิส บี แซร์ และของพระยาศรีวิศาลวาจา ก็อาจช่วยยับยั้งการปฏิวัติใน 2475 ได้

ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่แน่ว่าคำทำนายของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นจริงตามนั้น เพราะรัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นประหนึ่งในสุญญากาศ ไม่มีสังคมไทยซึ่งเปลี่ยนไปจากเมื่อ 80-90 ปีที่แล้วเลย

เราจึงไม่มีทางแน่ใจได้ว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image