ที่เห็นและเป็นไป : สิ้นสุดที่ ‘สวนกระแส’

โลกยุคออนไลน์ ผู้คนมีเครื่องมือเชื่อมต่อถึงกันและกันเป็น “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” คนส่วนใหญ่คิดอย่างไรต่อเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง ต่างรับรู้ถึงกระแสนั้นได้ทันที

ถ้าจะว่ากันไปแล้ว แรงของกระแสที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ตัดสินเสียงส่วนใหญ่ได้มากเสียยิ่งกว่าการสำรวจความคิดเห็นที่เรียกว่า “โพล” ของสำนักใดๆ

เพราะเอาเข้าจริง “โพล” เป็นแค่การส่งแบบสอบถามให้คนแค่กลุ่มเดียวเล็กๆ แต่ออกแบบให้พอเชื่อได้ว่าเป็นตัวแทนความคิดของคนส่วนใหญ่ได้ ซึ่งความแม่นยำเป็นแค่เรื่องของการประเมินตามหลักวิชาการ

แต่กระแสที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ หากจะบอกว่าไม่ใช่ความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด เพราะมีคนอีกไม่น้อยที่เข้าไม่ถึง “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” ย่อมมีข้อโต้แย้งว่า แม้ไม่ทั้งหมด แต่ก็เป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากกว่าการสำรวจใดๆ

Advertisement

ที่หนักแน่นกว่านั้นก็คือ หากตรวจสอบจากความเป็นไปในเรื่องอื่นๆ แล้ว ย่อมยืนยันได้ว่า “ผลจากกระแสออนไลน์” ใกล้เคียง หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่จริงในหลายเรื่อง หรือจะว่าไปเกือบทุกเรื่อง

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกเรายุคนี้ โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี

ที่พยายามชี้ให้เห็นแนวโน้มความเป็นจริงอันสะท้อนจากสังคมออนไลน์ดังกล่าวนั้น เพื่อจะบอกว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้

Advertisement

ดูแล้ว “ไม่มีทางเลยที่พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจจะชนะ”

ทุกเรื่องที่ “ฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ” แสดงตัวออกมา ล้วนถูกไล่ถล่มเละ ชนิดไม่มีชิ้นดี

แน่นอนว่ามีไม่น้อยที่พยายามจะยืนกรานการเลือกข้างเช่นนั้น แต่ลองติดตามตรวจสอบอย่างละเอียดดูเถอะ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนของผู้ที่ไม่เอาด้วย และคุณภาพความคิดเห็น ความหนักแน่นของเหตุผลไม่มีทางเทียบกันได้เลยกับฝ่ายที่เชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันของประชาชน

ถึงวันนี้จึงพูดได้ว่า กระแสในโลกออนไลน์แทบไม่มีพื้นที่ให้ฝ่ายที่ชื่นชอบอำนาจเผด็จการได้ยืนอยู่ได้แล้ว

วัดกันตรงนี้ แนวโน้มจึงหนีไม่พ้นที่จะถูกคาดการณ์การ “ฝ่ายสืบทอดอำนาจ” มีแต่รอวันแพ้ไม่เป็นท่าในการเลือกตั้ง

และตรงนี้แหละที่เป็นประเด็นให้ต้องคิดต่อ

เรื่องมีอยู่แม้จะเชื่อกันว่า “ประชาชนส่วนใหญ่เลือกฝ่ายที่ไม่เอาด้วยกับพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ” แต่กลับกลายเป็นว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังทำใจให้เชื่อไม่ได้ว่า “ฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ” จะชนะการเลือกตั้ง แม้กระแสความนิยมจะท่วมท้น ห่างกันชนิดไม่เห็นฝุ่นก็ตาม

การเอารัดเอาเปรียบ การโกงทุกรูปแบบ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คือความกังวลว่าจะเกิดขึ้น โดยผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ป้องกัน และปราบปราม รู้เห็นเป็นใจ

ยิ่ง “การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศต่อไป” ที่มั่นใจว่าจะเป็น “พรรคที่กระแสตอบรับจากประชาชนสูง” จะเป็นผู้มีบทบาทยิ่งมีน้อย

ความเชื่อที่ว่า “การสืบทอดอำนาจ” จะต้องมีขึ้นแน่นอน กลับยังเป็นกระแสหลัก สวนทางกับความเป็นไปในเรื่องความนิยมชัดเจน

และนี่คือความน่าเป็นห่วง

ด้วยหากฟังจากทุกคนทุกฝ่าย จะพบว่ามีความเชื่อไปในทางเดียวกันคือ “การเลือกตั้ง” จะทำให้ประเทศมีโอกาสพัฒนาให้รุ่งเรืองมากขึ้นกว่า 5 ปีที่ผ่านมา

ทุกคนเชื่อว่าหลังเลือกตั้งประเทศจะดีขึ้น

เป็นความเชื่อว่า “ประชาธิปไตย” เป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ทว่ากลับไม่เชื่อว่า ประเทศจะเดินไปถึง “สุดทางความเชื่อ” ได้

ความกังวลว่า ไม่ว่าจะเดินไปถึงไหน แต่ “ในที่สุดจะหยุดที่บิ๊กตู่” เหมือนเดิม

เรื่องราวที่วิตกว่าจะเกิดขึ้น สวนทางกับที่ปรารถนาให้เกิดขึ้นเช่นนี้ จะทำให้เกิดอะไรขึ้นกับการอยู่ร่วมกันของคนไทย

ในฐานะคนร่วมยุคจะร่วมกันรับผิดชอบอย่างไรกับความเป็นไปของประเทศ

หรือว่า ผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวเองต้องมาก่อน

อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไรก็ช่าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image