หนังคนละม้วน : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เวทีหาเสียงโค้งสุดท้ายเกิดการต่อสุู้กันระหว่างวาทกรรม จับปากกาแล้วฆ่าเผด็จการ กับ เลือกความสงบจบที่ลุงตู่ สีสันความหลากหลายเป็นความสวยงามของการเมืองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผลที่ออกมาพรรคใหญ่สองขั้วสูสี ชนะแพ้กันเล็กน้อย

แต่กลับมีมุมให้ถกเถียงกันต่อไปว่าระหว่างได้คะแนนนิยมมากสุด กับได้ ส.ส.มากสุด พรรคไหนควรจะเป็นผู้ชนะยังไม่มีการประกาศคำตัดสินเด็ดขาด กฎ กติกาก็ไม่ได้เขียนบัญญัติเรื่องนี้ไว้

ที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ เกิดปรากฏการณ์พลิกความคาดหมายกับหลายพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และฝ่ายต่อต้าน ซึ่งสวนทางกันในพรรคกลุ่มเดียวกันทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายแรกพรรคหลัก พรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียงมาก สูงเป็นอันดับหนึ่ง แต่พรรคพันธมิตรที่ประกาศแนวทางเดียวกัน พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กลับได้รับเลือก ส.ส.เขต เพียงที่นั่งเดียว

Advertisement

คำถามจึงมีว่า ทำไมผู้ลงคะแนนเลือกพลังประชารัฐท่วมท้น แต่กลับไม่เลือกรวมพลังประชาชาติไทย สาเหตุน่าจะมาจากหลายปัจจัย ประการหนึ่งคือ ชูลุงตู่เหมือนกันแต่ฉายหนังคนละม้วน

พลังประชารัฐพยายามฉายหนังม้วนใหม่เน้นย้ำแนวทางนโยบาย ขายผลงานรัฐบาลที่ผ่านมายิ่งกว่าประเด็นจุดยืนทางการเมือง เผด็จการ ประชาธิปไตย แต่รวมพลังประชาชาติไทยยังฉายหนังม้วนเก่า เอาทักษิณ ไม่เอาทักษิณ เป็นหลัก พยายามปลุกกระแสมวลมหาประชาชนให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนชูอุดมการณ์ประชาธิปไตย คัดค้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์

Advertisement

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับอีกฝั่ง ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์เหมือนกันแต่คะแนนที่ได้รับกลับตรงกันข้าม พรรคอนาคตใหม่ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นเหนือความคาดหมาย ขณะที่ประชาธิปัตย์กลับสูญเสียที่นั่งลดลงมากมาย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครไม่เหลือแม้แต่เก้าอี้เดียว

สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะชูแนวทางไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นตามที่คาด ตรงกันข้ามกลับลดลง เพราะผู้ใช้สิทธิที่ไม่เอาทักษิณ พากันหันไปเทคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์จึงถูกตัดคะแนนรอบทิศทาง ทั้งจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่ จนอันดับตกลงเป็นที่สี่ได้แค่ 50 กว่าที่นั่ง

ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ การได้คะแนนเสียงมาก เข้าใจได้ไม่ยาก นอกจากจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนแล้ว เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงคะแนนเสียงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เพิ่งมีสิทธิหย่อนบัตรครั้งแรก เบื่อหน่ายนักการเมืองหน้าเก่า ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง อยากได้นักการเมืองรุ่นใหม่ แนวทาง นโยบายใหม่ๆ

ผู้ลงคะแนนให้กับพรรคอนาคตใหม่มิได้มีแต่ผู้ใช้สิทธิกลุ่มใหม่เท่านั้น แต่รวมถึงคนรุ่นต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ คสช. ขณะเดียวกันก็ไม่เอาทักษิณ คนกลุ่มนี้มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นปรากฏการณ์ของความเบื่อหน่ายคนรุ่นเก่ากับความต้องการความสงบ มาบรรจบกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ต่อมาคือการชนะอย่างท่วมท้นของพรรคพลังประชารัฐกับของพรรคอนาคตใหม่ กลับเกิดปฏิกิริยาแตกต่างกัน ผู้ใช้สิทธิรุ่นใหม่ที่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคอนาคตใหม่ถูกเตือนสติในทำนองว่า เลือกตามกระแสอนาคตใหม่ฟีเวอร์ ระวังอันตราย อะไรทำนองนี้

โดยลืมไปว่าพวกเขาล้วนมีความรู้ ความคิด ความสำนึก มีสมอง คิดวินิจฉัยและตัดสินใจได้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน หวังดีต่อสังคมไม่ต่างไปจากคนรุ่นเก่าแก่ที่ใช้แนวทางการต่อสู้จนนำไปสู่รัฐประหาร ใช้อำนาจพิเศษปกครองนานกว่า 5 ปี ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องการหลุดพ้นจากบรรยากาศอำนาจนิยม หากตัดสินใจผิดพลาดก็ต้องรับผลแห่งการตัดสินใจนั้น และสรุปบทเรียนด้วยตัวเอง

สุดท้าย ผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร พรรคใดจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม ต้องจำนนต่อกติกาในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาและมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา คือ 375 เสียง

พรรคการเมืองที่ไม่มีเสียงวุฒิสมาชิกสนับสนุนเพียงพอ เมื่อรวมกับ ส.ส.ที่มีอยู่แล้วไม่เกินกึ่งหนึ่งของสองสภา ถึงจะชนะได้รับเลือกตั้งท่วมท้นก็ไร้ความหมาย

การออกแบบโครงสร้างอำนาจให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของ คสช. และมีอำนาจพิจารณาตัวบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผลดีหรือผลเสียต่อเสถียรภาพของระบอบการเมืองไทยมากกว่ากัน อีกไม่นานเกินรอคงได้คำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image