เป็นไปตามคาด : โดย วีระพงษ์ รามางกูร

ผลการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นไปตามคาด พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ประกาศเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมให้กลับมาดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 4 ปี หลังจากทำรัฐประหารและอยู่เป็นรัฐบาลมา 5 ปี

พรรคพลังประชารัฐหรือ พปชร. รวมกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยและพรรคเล็กพรรคน้อย เช่น พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคอื่นๆ ที่ประกาศสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารที่จำแลงมาเป็นนักประชาธิปไตย ถ้าไม่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรสูงกว่าพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ และอื่นๆ ก็อาศัยเสียงจากวุฒิสภามาช่วยออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี

ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นไปได้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือผู้ที่กรรมการบริหารจะเสนอชื่อให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐของฝ่ายทหาร ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็อาจจะเสนอชื่อ ส.ส.ฝ่ายตนเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาและเป็นผู้นำชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

การที่อดีตหัวหน้าพรรคออกมาประกาศว่า ตนจะไม่สนับสนุนหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นแต่เพียงลูกเล่นหรือกลเม็ดของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อต้องการจะได้เสียงของประชาชนที่ต้องการระบบประชาธิปไตยและปฏิเสธเผด็จการทหาร แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคจะเห็นเช่นนั้น เพราะอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ย้ำหลายครั้งว่าเป็นความเห็นของตน ไม่ใช่มติคณะกรรมการบริหารพรรค ความเห็นของตนไม่ผูกพันพรรค เมื่อตนพาพรรคมาแพ้เลือกตั้งก็ขอลาออกและจะไม่กลับมาใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นพันธมิตรกับพรรคทหารมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ใช้วาทกรรม เล่นลิ้น กลบเกลื่อนเจตนาที่แท้จริงของตนเท่านั้น อย่างไรเสียพรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการ

Advertisement

ส่วนพรรคภูมิใจไทยซึ่งได้ ส.ส.เขตเดินเข้าสภามาได้ 39 คน จะกลายเป็นตัวชี้ขาดว่า นายกรัฐมนตรีคนเดิมจะได้กลับมาหรือไม่ เพราะพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ผูกพันตัวเองว่าจะไม่เอาพรรค พปชร.ของทหาร หรือไม่เอาด้วยกับพรรคเพื่อไทยที่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด แต่คงไม่เพียงพอกับเสียงจากวุฒิสภา เพราะสมาชิกวุฒิสภา 250 คนนั้นตั้งโดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

อย่างไรเสียนายกรัฐมนตรีคนเดิมคงจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป..

ถ้าจะพูดถึงจำนวนคะแนนเสียง พรรคพลังประชารัฐก็ได้คะแนนสูงกว่าพรรคเพื่อไทยกว่า 4 แสนคะแนน แต่ได้จำนวน ส.ส.เขต เดินเข้าสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าพรรคเพื่อไทยถึงเกือบ 40 คน จึงหมดความชอบธรรมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ต้องหันไปพึ่งบริการความช่วยเหลือจากสมาชิกวุฒิสภา
ในการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับประเทศที่การพัฒนาการเมืองยังอยู่ในระดับต่ำ พรรครัฐบาลมักจะได้เปรียบเพราะกลไกของรัฐเป็นบุคลากรที่หัวหน้ารัฐบาลปัจจุบันเป็นผู้แต่งตั้ง
รวมทั้งกรรมการขององค์กรอิสระต่างๆ และแน่นอนว่ากรรมการขององค์กรอิสระต่างๆ เหล่านั้น ก็ต้องเป็นพรรคพวกหรือมีความคิดความเห็นที่ไม่ต่อต้านเผด็จการทหาร

ประชาชนบางส่วนนิยมเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคที่มีศักยภาพ พรรคที่ได้เป็นหรือได้เข้าร่วมกับรัฐบาล เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มักจะได้เปรียบในการดึงงบประมาณมาสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะเข้ามาในพื้นที่ที่ตนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทน

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาที่ฝ่ายสืบทอดเผด็จการคือพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวยืนของฝ่ายรัฐบาล ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นตัวยืนที่อยู่คนละฝ่ายกับพรรค พปชร. ก็เหลือพรรคภูมิใจไทยซึ่งมีจำนวนรวมของสมาชิกสภาผู้แทนมากพอสมควร คือประมาณ 50 ที่นั่ง เมื่อเทียบกับพรรคอนาคตใหม่ที่ได้จำนวน ส.ส.รวมมากกว่า 80 ที่นั่ง ซึ่งประกาศแล้วว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ

แต่อาจจะเปลี่ยนคำพูดและจุดยืนเมื่อไหร่ก็ได้ถ้าหากตนได้ประโยชน์..

พรรคอนาคตใหม่ประกาศว่าไม่ได้หวังผลระยะสั้นแบบเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล คือต้องการพัฒนาพรรคให้เป็นพรรคของประชาชน เพื่อจะได้เป็นพรรคที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว

วิสัยทัศน์ของพรรคอนาคตใหม่เป็นที่ต้องใจของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างยิ่ง ผลของการเลือกตั้งก็เป็นไปอย่างที่คาดการณ์กันไว้ คือพรรคอนาคตใหม่สามารถเบียดพรรคประชาธิปัตย์ให้ตกเวทีในพื้นที่กรุงเทพฯได้เป็นผลสำเร็จ เหมือนกับสมัยพรรคประชากรไทยเบียดพรรคประชาธิปัตย์ออกจากเวทีกรุงเทพฯ ประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส.กรุงเทพฯ คือ ดร.ถนัด คอมันตร์ เพียงคนเดียว เช่นเดียวกับสมัยที่กระแสจำลองฟีเวอร์มาแรง พรรคพลังธรรมก็เบียดพรรคประชาธิปัตย์จากเวทีกรุงเทพมหานคร ชะตากรรมของพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯจึงลุ่มๆ ดอนๆ อย่างที่เห็น ไม่แน่นอนเหมือนในปักษ์ใต้

แต่การเลือกตั้งทั่วไปคราวนี้ ได้ทำลายตำนานดังกล่าวแล้ว เพราะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ถูกแบ่งที่นั่งไปให้กับพรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรครัฐบาล โดยปกติแล้วคนใต้มักจะเลือก ส.ส.มาเพื่อเป็นพรรคฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล เลือกเอาไว้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไม่เหมือนคนอีสานและคนเหนือมักจะเลือก ส.ส.เพื่อเป็นรัฐบาล เพราะสามารถดึงโครงการพัฒนาต่างๆ เข้ามาในพื้นที่ได้

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ภาคเหนือและภาคอีสานยังคงเลือก ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเหตุว่าพรรคไทยรักไทยอันเป็นต้นกำเนิดของพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองแรกที่นำงบประมาณลงมาถึงมือของประชาชนระดับ “รากหญ้า” ได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างด้วยความไม่ต่อเนื่องของการเป็นรัฐบาล แต่ก็เป็นโครงการที่ประชาชนระดับรากหญ้าทั้ง 2 ภาคได้ประโยชน์และประทับใจ

อย่างไรเสีย นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ได้สร้างภาพตนเองให้เป็นชาวบ้าน โดยการทำตัวเหมือนตัวตลก ทำตัวเหมือนนักเล่นจำอวด สลัดภาพของการเป็นนายทหารที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี สร้างภาพและเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ มาตลอดจนถึงวันเลือกตั้ง..

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ กกต.ก็คงโล่งอก สามารถประกาศผลการเลือกตั้งกว่าร้อยละ 95 ได้ทันที เพื่อให้สามารถเปิดสมัยประชุมรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรีได้โดยไม่ชักช้า แล้วเราก็จะเห็นนายกรัฐมนตรีคนเดิมเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่คณะรัฐมนตรีคงจะต้องแต่งตั้งจากพรรค พปชร.และพรรคร่วมรัฐบาล แทนพรรคพวกที่เป็นทหารมากขึ้น

บรรยากาศการเมืองหลังจากนี้ หลังจากการเปิดสมัยประชุมของรัฐสภา ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม เพราะจะไม่สามารถใช้มาตรา 44 เอาคนไปปรับทัศนคติได้ การอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก ผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้ ทั้งๆ ที่หลายครั้งข้อมูลที่อภิปรายนั้นเป็นข้อมูลเท็จ เช่น การกล่าวหานายบรรหาร ศิลปอาชา ว่าไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด อันเป็นข้อมูลเท็จจาก ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

บรรยากาศเช่นนี้จะกลับมาใหม่ถ้าหากทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไว้นอกรัฐบาล ความจำเป็นที่จะต้องเอาประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลจึงมีมากกว่าเรื่องจำนวน ส.ส.ในสภา แต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อลดความร้อนแรงของการอภิปรายจากฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ลาออกตามที่วางแผนไว้ล่วงหน้า เปิดโอกาสให้กรรมการบริหารของพรรคลงมติเข้าร่วมกับพรรค พปชร. สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารต่อไป เหมือนๆ กับสมัยนายควง อภัยวงศ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค

พรรคประชาธิปัตย์เรียกตัวเองว่าพรรคแมลงสาบ เพราะไม่ว่าจะมีปฏิวัติรัฐประหารมากี่ครั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงอยู่ ไม่ถูกยุบ ครั้งนี้ก็คงเหมือนเดิม แล้วหัวหน้าคนใหม่ที่กรรมการบริหารแต่งตั้งก็จะออกมาชี้แจงถึงเหตุผลที่ตนต้องเข้าร่วมรัฐบาล พรรค พปชร.จึงไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมสืบทอดอำนาจเผด็จการอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image