แผนพัฒนาเทคโนแครตไทย : ยิ่งเติบโตยิ่งไม่สมดุล โดย เกษียร เตชะพีระ

แผนพัฒนาเทคโนแครตไทย : ยิ่งเติบโตยิ่งไม่สมดุล โดย เกษียร เตชะพีระ

แผนพัฒนาเทคโนแครตไทย : ยิ่งเติบโตยิ่งไม่สมดุล

แผนภูมิเกษียร 1

ความคิดชี้นำเบื้องหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของเทคโนแครตไทยรับทอดมาจากแนวคิด “ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างไม่สมดุล” ในตำรา The Strategy of Economic Development (ค.ศ.1958) ของศาสตราจารย์ Albert O. Hirschman นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาชื่อดังชาวอเมริกัน ดังสะท้อนผ่านข้อเขียนเรื่อง “กลยุทธ์แห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ” (พ.ศ.2515) ของ ดร.อำนวย วีรวรรณ ซูเปอร์เทคโนแครตไทย ผู้เคยเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของหัวหน้าคณะปฏิวัติ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และดำรงตำแหน่งผู้บริหารสำคัญของภาคราชการ, ธุรกิจเอกชนและการเมืองต่อมาอีกมากมาย

อาจสรุปลำดับตรรกะขั้นตอนแห่งยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างไม่สมดุลในทางทฤษฎีได้ตามแผนภูมิ ซึ่งอุปมาอุปไมยเหมือนดั่งการก้าวเดินออกไปข้างหน้าตามปกติของคนเรา โดยก้าวออกไปก่อนทีละขา ขาซ้ายเดินหน้านำไปก่อน (ขาแยกจากกันอยู่ในท่าไม่สมดุล) – ขาขวาเดินตามจนกวดทัน (ขาสองข้างคู่ขนานกันในท่าสมดุล) – ขาซ้ายนำ (ไม่สมดุล) – ขาขวาตาม (สมดุล) ฯลฯ สลับวนเวียนกันไปอยู่อย่างนี้

ทว่า ปัญหาก็คือ ในทางปฏิบัติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างไม่สมดุลของไทยหาได้ส่งผลออกมาตรงตามทฤษฎีต้นตำรับไม่ แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งเติบโต ยิ่งไม่สมดุล หรือนัยหนึ่ง ยิ่งก้าวเดิน ขาสองข้างกลับยิ่งแยกถ่างห่างกันออกไปจนขาแทบจะฉีกในที่สุด!

Advertisement

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เบื้องต้นที่สุดก็คือยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างไม่สมดุลของศาสตราจารย์เฮอร์ชแมนสร้างขึ้นบนสมมุติฐานว่าประเทศกำลังพัฒนาที่จะนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปใช้นั้นมีเงื่อนไขทางการเมืองที่เปิดช่องเอื้ออำนวยให้พลังฝ่ายนอกตลาดสามารถกดดันทางการเมืองได้ (ตามขั้นตอนที่ 4 ในแผนภูมิ)

ทว่า ระบอบการเมืองไทยสมัยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งสืบทอดต่อเนื่องมายังสมัยจอมพลถนอม-ประภาส (พ.ศ.2501-2516) ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

Advertisement

การเมืองไทยสมัยนั้นเป็นระบอบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ (military absolutist dictatorship) ที่ซึ่งคณะทหารกุมอำนาจเด็ดขาดสัมบูรณ์ตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 โดยรวบอำนาจฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติและตุลาการไว้ในมือนายกรัฐมนตรี

อีกทั้งได้ใช้อำนาจดังกล่าวล่วงละเมิดสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนพลเมืองโดยเฉพาะแกนนำมวลชน นักการเมืองและปัญญาชนฝ่ายค้านที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการของคณะทหารอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าด้วยการสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม, ขังลืม, ห้ามสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล, ยุบเลิกพรรคการเมืองและองค์กรมวลชน, ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฯลฯ เป็นต้น

กล่าวสำหรับคนชั้นล่างกรรมกรชาวนา คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ได้ออกคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ยกเลิกพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 ส่งผลให้มีการยุบทิ้งและสั่งห้ามสหภาพแรงงานทั้งหมดจนถึงปี พ.ศ.2515 โดยจอมพลสฤษดิ์แถลงอธิบายเหตุผลว่า :-

“สหภาพแรงงานก่อความแตกแยกและเจตนาร้ายขึ้นระหว่างกรรมกรกับนายจ้าง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นประตูให้ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าประเทศไทย”

อีกทั้งจับกุมคุมขังหรือประหารผู้นำชาวนาจำนวนมากโดยเฉพาะทางภาคอีสานในข้อหาคอมมิวนิสต์ และห้ามชาวนารวมตัวจัดตั้งกลุ่มการเมือง

อันส่งผลให้ “พลังฝ่ายนอกตลาด” (ตามคำเรียกหาของ ศ.เฮอร์ชแมน) ของคนชั้นรากหญ้าไม่มีองค์กรจัดตั้ง ไม่มีแกนนำ และไม่มีสิทธิเสรีภาพที่จะ “กดดันทางการเมือง” เพื่อเรียกร้องต่อรัฐให้ขึ้นค่าแรง จัดหาสวัสดิการ กระจายการถือครองที่ดิน หรือประกันราคาข้าวและพืชผลใดๆ

ทว่า ในทางกลับกัน รัฐบาลคณะปฏิวัติกลับออกพระราชบัญญัติรองรับและก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติ และออกพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509 ซึ่งเปิดช่องให้กลุ่มทุนและนักธุรกิจคนชั้นกลางสามารถรวมตัวกันได้จากสมาคมย่อยต่างๆ จนก่อตัวเป็น 3 สมาคมหลักภาคธุรกิจเอกชน

ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย, สมาคมอุตสาหกรรมไทย, และสภาหอการค้าไทย

กลายเป็นกลุ่มกดดันที่จัดตั้งกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายและยื่นข้อเสนอเรียกร้องต่อรัฐราชการให้สนองผลประโยชน์ของตนได้โดยชอบ

นโยบายและมาตรการเลือกปฏิบัติทางการเมืองในลักษณะลำเอียงทางชนชั้นดังกล่าวส่งผลให้ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส เกิดความไม่สมดุลทางการเมืองในสังคมและความไม่สมมาตรทางอำนาจการเมืองระหว่างชนชั้นต่างๆ (political imbalance & asymmetry of political power among various classes) กระหน่ำซ้ำเติมความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการดำเนินแผนพัฒนาตามยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างไม่สมดุลแต่แรกแล้วอีกชั้นหนึ่ง

ดังอาจแสดงผลที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติของยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างไม่สมดุลเป็นแผนภูมิ

ดังนี้ :

แผนภูมิเกษียร 2

กล่าวคือ แทนที่การพัฒนาเศรษฐกิจจะก้าวเดินตามลำดับขั้นตอนตรรกะของทฤษฎียุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างไม่สมดุล จาก 1) รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนในบางสาขาภาคส่วน -> 2) เศรษฐกิจไม่สมดุล -> 3) พลังฝ่ายตลาดเติบโต…

แล้วต่อไปยัง -> 4) พลังฝ่ายนอกตลาดกดดันทางการเมือง -> 5) รัฐบาลกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ -> 6) เศรษฐกิจสมดุล เพื่อเริ่มการพัฒนารอบใหม่

มันกลับถูกสภาพที่ [การเมืองไม่สมดุล & อำนาจการเมืองไม่สมมาตรระหว่างชนชั้นต่างๆ ภายใต้เผด็จการทหารอาญาสิทธิ์] สกัดขัดขวางตัดตอน จนขั้นตอนที่ 4), 5), 6) ไม่เกิดตามมาจริง

แต่กลับเกิดการลัดขั้นตอนจาก 3) พลังฝ่ายตลาดเติบโต -> ไปสู่ภาวะที่เศรษฐกิจไม่สมดุลขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ ยิ่งขึ้นๆ ไป

อุปมาดังขาซ้ายก้าวนำไปแล้ว (ไม่สมดุล) แต่แทนที่ขาขวาจะก้าวตามมาประกบทันกัน (สมดุลใหม่) กลับไม่เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม ขาซ้ายกลับก้าวนำไปอีกก้าวแล้วก้าวเล่า ทำให้ขาสองข้างถ่างกว้างห่างออกจากกันไปทุกทีจนขาฉีก หรือเศรษฐกิจยิ่งไม่สมดุลขึ้นเรื่อยๆ ในทางเป็นจริง กล่าวคือ :

“การพัฒนาเศรษฐกิจ” ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของจอมพลสฤษดิ์กับพวกนำไปสู่

– พัฒนาทุนนิยมอย่างไม่สมดุล ไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน

– รัฐใหญ่-ทุนขยาย-เมืองโต-ชนบทลีบ

– เกิดช่องว่างแตกต่างเหลื่อมล้ำถ่างห่างกว้างออกไปเรื่อยๆ ระหว่าง

– เมือง (โดยเฉพาะ กทม. “เมืองโตเดี่ยว”) vs. ชนบท

– กทม. และภาคกลาง vs. ภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ

– อุตสาหกรรม-บริการ vs. เกษตรกรรม

– นายทุน-คนชั้นกลาง vs. ชาวนา-กรรมกร-คนจนเมือง

กระทั่ง 40 ปีผ่านไป ศาสตราจารย์ ดร.ปรานี ทินกร แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สรุปผลลัพธ์โดยรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างไม่สมดุลจาก พ.ศ.2504-2544 ไว้ในงานวิจัยว่า :

เศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องและสูงกว่าอัตราเฉลี่ยโลก (ที่ 6.7% เทียบกับเฉลี่ยของโลก 4%) ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่ม, กระจายสู่คนทุกระดับ, อัตราความยากจนน้อยลง

แต่การกระจายรายได้กลับยิ่งเหลื่อมล้ำ คนรวยได้เพิ่มมากกว่าที่คนจนได้

สาเหตุเกิดจาก :-

1) แผนพัฒนาฯ ทุกฉบับเว้นแผน 8 เน้น “การเติบโตทางเศรษฐกิจ” และ “การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ” เริ่มคำนึงเป้าหมายกระจายรายได้ในแผน 4 และแก้ไขความยากจนในแผน 5-7 แต่การกระจายรายได้ให้เป็นธรรมไม่เคยเป็นเป้าหมายหลัก

2) ไทยให้สิทธิพิเศษต่อกลุ่มนายทุน เช่น ส่งเสริมการลงทุน, ยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้จากดอกเบี้ยมาเสียภาษีอัตราก้าวหน้า, ไม่เก็บภาษีมรดก, ภาษีเงินได้บุคคลถูกทำให้ก้าวหน้าน้อยลง

3) รัฐใช้งบฯ โดยไม่คำนึงความเหลื่อมล้ำของภูมิภาค, สวัสดิการน้อย

การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจึงกลายเป็นยิ่งเติบโต ยิ่งไม่สมดุลในทางเป็นจริง หาได้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างไม่สมดุลของเทคโนแครตไทยไม่ เพราะมันเกิดขึ้นและคลี่คลายไปภายใต้ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจริงนั่นเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image