ย้อนแย้งของพรรคเล็ก : สมหมาย ปาริจฉัตต์

แกนนำ 11 พรรคเล็กเล่นบทสร้างอำนาจต่อรองได้รวดเร็วทันใจ ประกาศจุดยืนเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป ให้เหตุผลประการหนึ่งว่าเพื่อให้การเมืองไทยเดินหน้าต่อไปได้

ทำให้แฟนคลับละครการเมืองเรื่่องเอาลุงตู่ ไม่เอาลุงตู่ เกิดคำถามว่า หากไม่หนุนลุงตู่แล้วไปหนุนคนอื่น การเมืองไทยเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หรืออย่างไร

เหตุผลที่แกนนำพรรคเล็กยกขึ้นมาสนับสนุนความเชื่อของตัวที่ว่าการเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้เพราะพรรคการเมืองมัวแต่ต่อรองผลประโยชน์กันจนไม่สามารถตกลงกันได้ การเมืองเลยสะดุด หยุดชะงัก แทนที่จะไปต่อได้ มีรัฐบาลบริหารชาติบ้านเมืองให้ก้าวต่อไป

เหตุผลที่อ้างก็มีคำถามตามมาอีกว่า แล้วที่พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคอื่นกำลังแย่งชิงดึงพรรคโน้นพรรคนี้เข้าร่วม เบื้องหลังที่แท้จริงไม่ใช่การต่อรองผลประโยชน์เรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นหลัก ทำนองเดียวกันอย่างนั้นหรือ

Advertisement

ประเด็นที่น่าคิดยิ่งกว่า จึงไม่ควรหยุดอยู่แค่ว่า การเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ได้เท่านั้น แต่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรต่างหาก

ระหว่างเส้นทางที่เดินมาตลอด 5 ปีและจะเดินต่อไปแบบเก่า กับเส้นทางใหม่ซึ่งสังคมควรปลอดจากบรรยากาศอำนาจนิยม สองมาตรฐาน ความเห็นต่างสามารถแสดงออกโดยไม่ถูกคุกคาม ดังหลายกรณีที่ผ่านมา

พรรคการเมืองทั้งเล็กและใหญ่ควรตัดสินใจเลือกแนวทางใด ถึงจะทำให้สังคมศิวิไลซ์ เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง ยั่งยืนอย่างแท้จริงมากกว่า

Advertisement

แม้จะพยายามปฏิเสธ หรือเรียกร้องให้เลิกสร้างวาทกรรม แบ่งฝ่าย เผด็จการ กับประชาธิปไตย ก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ อำนาจนิยมกับประชาธิปไตยจึงไม่ใช่แค่วาทกรรม แต่เป็นความจริงที่กำลังดำเนินอยู่

การประกาศท่าทีของพรรคเล็ก กลาง ใหญ่ ในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าเข้าข้างขั้วไหนก็ตาม ล้วนสะท้อนถึงจุดยืนทางการเมือง โดยตัวมันเองทั้งสิ้น

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในการผนึกกำลังระหว่างพรรคไม่ได้เกิดขึ้นจากการหลอมรวมนโยบายเข้าด้วยกันอย่างจริงจัง โดยผ่านการศึกษา วิเคราะห์ เปรียบเทียบ ความเหมือนไปด้วยกันได้ กับความต่างซึ่งตรงกันข้าม ไม่ควรจะไปด้วยกันได้

กรณีตัวอย่าง พรรคเล็กบางพรรคประกาศนโยบายงบประมาณทหาร ลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เปลี่ยนรถถัง เป็นรถไถให้เกษตรกรแทน หรือเอาไปซื้อรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งตรงข้ามกับแนวทางของรัฐบาลแม่น้ำห้าสายที่ผ่านมางบซื้ออาวุธเพิ่มขึ้นมาก แต่กลับไปสอดคล้องกับแนวทางของพรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่ง

รวมทั้งแนวนโยบายอื่นๆ ของพรรคเล็กอีกหลายพรรคก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ตรงกันข้ามกับแนวทางของรัฐบาล อาทิ นโยบายบริหารการศึกษา เปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน กลับมาเป็นครูใหญ่ เปลี่ยนใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู ซึ่งครูและผู้บริหารโรงเรียนเคลื่อนไหวคัดค้าน ขณะที่พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ประกาศร่วมกับพลังประชารัฐ หนุนลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ย้อนแย้งกันอย่างชัดเจน เข้าลักษณะปากว่าตาขยิบ หรือพูดอย่างทำอย่าง หรือไม่ สุดแท้แต่ใครจะคิด

การประกาศรวมตัวเป็นพันธมิตรเพื่อร่วมรัฐบาล โดยพิจารณาจากแนวนโยบายที่ไปด้วยกันได้เป็นสำคัญจึงเป็นวาทกรรมเสียมากกว่า สิ่งที่ป่าวประกาศไว้ในเวทีหาเสียงเป็นเพียงน้ำยาบ้วนปาก ขอเพียงให้ได้คะแนนเสียงจากคนหลงเชื่อในคูหาเลือกตั้งมาก่อนเท่านั้น เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วจะปรับเปลี่ยนเสียเมื่อไหร่ก็ได้ตลอด

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้น่าหาคำตอบว่าในความเป็นจริงแล้ว ระหว่างจุดยืนทางการเมืองกับแนวทางนโยบาย อะไรเป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจร่วมรัฐบาลมากกว่ากัน พรรคการเมืองไม่ว่าขั้วไหนตัดสินใจจากปัจจัยอะไรก่อนหลัง

ทั้งๆ ที่สองปัจจัยนี้ควรสอดคล้องและไปด้วยกัน แต่ความจริงกับตรงกันข้าม ขณะที่จุดยืนทางการเมืองเลือกฝั่งอำนาจนิยม แต่นโยบายกลับสอดคล้องกับฝั่งประชาธิปไตย

สุดท้ายแล้วสรุปลงตัวที่ผลประโยชน์เป็นสิ่งชี้ขาด นั่นเอง

นอกจากนี้ การผนึกกำลังจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ สถานการณ์ต่างจากการเลือกตั้งในภาวะปกติที่ผ่านๆ มา ซึ่งโจทย์ที่ทุกพรรคพยายามหาคำตอบมีประการเดียว ทำอย่างไรก็ได้รวบรวมจำนวนมือให้มากที่สุดเพื่อช่วงชิงเป็นรัฐบาลให้ได้

แต่ครั้งนี้สถานการณ์ไม่ปกตินับจาก 22 พฤษภาคม 2557 ล่วงเลยมา 5 ปี โจทย์เพิ่มเป็น 2 ข้อ ข้อแรกคือข้อเดิม ข้อที่สองคือ ทำอย่างไรจะหยุดยั้งระบอบ คสช.

พรรคการเมืองขั้วหนึ่งแกนนำตอบโจทย์แค่ข้อแรกข้อเดียว แต่อีกขั้วหนึ่งพยายามตอบโจทย์ทั้งสองข้อ ให้ได้ในเวลาเดียวกัน

คำถามที่ว่า ระหว่างเป็นรัฐบาลให้ได้ก่อน กับหยุดระบอบ คสช.ก่อน ข้อไหนควรมาก่อน แนวทางไหนเป็นทางเลือกดีที่สุด ทั้งกับตัวเอง พรรค และสังคมไทยโดยรวม จึงเป็นความยากในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นพรรคหลักหรือพรรคอะไหล่ทั้งหลายก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image