สัพเพเหระคดี : อุกอาจนัก : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

เหตุเกิดที่โรงอาหารบริษัท ท่ามกลางสายตาของพนักงานหญิงชายและบุคคลภายนอกนับสิบๆ คน

โดยไม่มีใครคาดคิด คุณโผงปรี่เข้าไป ใช้มือซ้ายกระชากผมคุณกรวรรณจนหน้าหงาย แล้วมือขวาทำงานตบเข้าที่ใบหน้าซ้ายที-ขวาที

เท่านั้นยังไม่สาแก่ใจคุณโผงยังเตะเข้าที่ท้องอีกจนคุณกรวรรณทรุดลงไปนั่งร้องโอดโอย

หลังตรวจสอบข้อเท็จจริง บริษัทนายจ้างเลิกจ้างคุณโผงทันที โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

Advertisement

คุณโผงมาฟ้องบริษัท เรียกให้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าสินไหมทดแทนการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

บริษัทให้การต่อสู้คดีว่า เลิกจ้างนั้นชอบแล้ว เนื่องจากคุณโผงกระทำความผิดร้ายแรง ผิดข้อบังคับของบริษัท โดยใช้กำลังทำร้ายร่างกายเพื่อนพนักงาน บริเวณโรงอาหาร ทำให้เสียภาพพจน์ในการบริหารงานการปกครองพนักงาน

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คุณโผงทำร้ายร่างกายคุณกรวรรณมีอาการฟกช้ำบริเวณโหนกแก้มซ้าย หนังศีรษะปวดยอกหน้าอก เป็นความผิดร้ายแรงตามข้อบังคับ

พิพากษายกฟ้อง

คุณโผงอุทธรณ์ว่า ขณะเกิดเหตุทำร้ายร่างกาย เป็นเวลาก่อนเข้าทำงานปกติ ย่อมไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับฯ

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติว่าด้วยข้อบังคับฯ ข้อ 1 ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติงาน (6) ต้องรักษาชื่อเสียงของบริษัทฯ และชื่อเสียงของลูกจ้างนั้น มิได้กำหนดว่าการกระทำของคุณโผงที่จะถือว่าผิดวินัยจะต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาทำงานเท่านั้น ทั้งวินัยที่ว่าด้วยการรักษาชื่อเสียงก็หาจำต้องมีอยู่เฉพาะในระหว่างเวลาทำงานไม่

ถึงแม้การกระทำของคุณโผงจะไม่ถึงขนาดที่เป็นเหตุให้คุณกรวรรณได้รับอันตรายแก่กายอย่างรุนแรง แต่การกระทำเป็นการกระทำที่บริเวณโรงอาหารของบริษัทมีลูกจ้างและบุคคลภายนอกอยู่หลายคน เป็นการกระทำที่อุกอาจ มิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และเป็นการจงใจฝ่าฝืนวินัยของบริษัท

การกระทำของคุณโผงจึงเป็นความผิดร้ายแรงตามข้อบังคับฯ หมวดที่ 6 ข้อ 1 (6)

พิพากษายืน

หมายถึงว่า บริษัทเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3577/2561)

++++++++++++++++++++++++

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิก สัญญาจ้าง หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image