สัพเพเหระคดี : พิโยกพิเก : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณโผงเป็นพนักงานบริษัทประจำอยู่สาขาหนึ่งในเมืองหนึ่ง

บริษัทมีคำสั่งย้ายคุณโผงจากการประจำสาขานั้น ไปประจำอีกสาขาหนึ่งในอีกเขตหนึ่ง ในเมืองนั้นนั่นหละ

คุณโผงไม่พอใจที่ถูกคำสั่งย้่าย จึงพิโยกพิเกหันรีหันขวาง ไม่ยอมย้ายไปประจำอีกสาขา จนบริษัทต้องมีหนังสือเตือนให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สาขานั้นตามคำสั่งก่อนนั้น

นั่นละคุณโผงถึงยอมไป แต่ไปแล้วยังฮึดฮัดๆ แสดงอาการขัดๆ ขืนๆ ไม่ยอมสแกนลายนิ้วมือ เวลาเข้างาน และเลิกงาน ตามระเบียบบริษัท เหมือนอย่างคนอื่นเขา

Advertisement

บริษัทมีหนังสือเตือนให้คุณโผงสแกนและต่อมาเมื่อคุณโผงยังแสดงอาการไม่ยินยอม จึงถูกตัดเงินเดือน เป็นเบื้องต้น

แล้วที่สุดต่อมา คุณโผงยังงอแงอีก บริษัทจึงมีคำสั่งเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย!!

คุณโผงมายื่นฟ้องบริษัทต่อศาลแรงงาน ขอให้พิพากษาให้บริษัทจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ย

บริษัทให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

คุณโผง อุทธรณ์คดี

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดให้พนักงานต้องบันทึกเวลาทำงานด้วยตนเองทุกครั้งเมื่อมาทำงานและเลิกงาน การที่บริษัทมีคำสั่งให้พนักงานทุกคนรวมทั้งคุณโผงสแกนลายนิ้วมือ จึงเป็นการลงเวลาทำงานวิธีหนึ่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยข้อบังคับของบริษัท

เมื่อคุณโผงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและบริษัทได้มีหนังสือเตือนแล้ว แต่คุณโผงยังเพิกเฉย การกระทำของคุณโผงจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม บริษัทย่อมมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 และบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119(4) คุณโผงจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและค่าชดเชยใดๆ

พิพากษายืน

เป็นอันว่าคุณโผงต้องกลับบ้านมือเปล่า

(เทียบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 97/2560)

+++++++++++++++++

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

มาตรา 49 การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา

โอภาส เพ็งเจริญ newsmanlawyer@ gmail.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image