รายงานหน้า3 : พันธมิตร แนวร่วม จินตนาการ ฉันทามติใหม่ ย่างก้าว รัฐธรรมนูญ

แคมเปญ “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” อันพรรคอนาคตใหม่เป็น “เจ้าภาพ” เริ่มไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม
เป็นไปตาม “พิมพ์เขียว” ของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน
ความน่าสนใจมิได้อยู่ที่การเสวนาครั้งนี้มี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้ดำเนินการ และมิได้อยู่ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปาฐกถาปิดท้าย
หากอยู่ที่ “ชื่อ” ของผู้เข้าร่วม
1 เป็น น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ 1 เป็น นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัย มหิดล
1 เป็น นายกษิต ภิรมย์ และ 1 เป็น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร
การเชิญ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา การเชิญ นายโคทม อารียา สามารถเข้าใจได้ แต่การเชิญ นายกษิต ภิรมย์ การเชิญ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ถือว่าเหนือความคาดหมาย
ตรงนี้แหละที่เรียกได้ว่า เป็นการกุมนโยบาย “แนวร่วม”

พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคเกิดใหม่ เป็นผลผลิตไม่เพียงแต่จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 หากแต่ยังได้รับผลสะเทือนจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
ถือได้ว่าเป็นเหยื่อของ “ความขัดแย้ง”
ไม่ว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่ว่า น.ส.พรรณิการ์ วานิช ถือว่าตกอยู่ในวังวนแห่ง “ทศวรรษที่สูญหาย”
สรุปได้อย่างรวบรัดว่าเป็นพวก Lost Generation
การเชิญ นายกษิต ภิรมย์ เข้าร่วม การเชิญ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ให้มาพบกับ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา และ นายโคทม อารียา
เป้าหมายก็คือ เป็นการแสวงหา “คำตอบ”
เพราะหากไม่ค้นคำตอบอย่างจริงจังก็จะไม่สามารถทะลวงออกไปจากทศวรรษแห่งความมืดมนจากความต่อเนื่องของรัฐประหาร 2 ครั้งได้
จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่

ถามว่าเหตุใดจึงต้องขอความรู้จากนักการเมืองอย่าง นายกษิต ภิรมย์ เหตุใดจึงต้องขอความรู้จากนักการเมืองอย่าง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร
เพราะ นายกษิต ภิรมย์ เคยร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เพราะ นายกษิต ภิรมย์ เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เช่นเดียวกับ กรณีของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร
พื้นฐาน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อาจทำงาน “องค์กรกลาง” มากับ พล.อ.สายหยุด เกิดผล แต่ความโดดเด่นปรากฏขึ้นในห้วงที่เป็น กกต.
เป็น กกต.ซึ่งเผชิญกับ กปปส.และการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2557
หากสามารถระดมคนที่มีประสบการณ์จากก่อนรัฐประหาร 2549 ประสานเข้ากับคนที่มีประสบการณ์จากก่อนรัฐประหาร 2557 ได้
จึงจะเข้าใจรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยากอย่างยิ่ง ความเป็นจริงในทางการเมือง 7 พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเอาชนะ 19 พรรคที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐอย่างเด็ดขาด
จึงจำเป็นต้องยื่นมือไปยังพรรคประชาธิปัตย์
จึงจำเป็นต้องสร้าง “ฉันทามติ” ร่วมในทางสังคม อาศัยพลังของประชาชนมาเป็นพื้นฐานจึงจะกำหนดเป็น “วาระ” แห่งชาติได้
หนทางนี้จำเป็นต้องสร้างพันธมิตรในแนวร่วมอย่างกว้างขวาง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image