สัพเพเหระคดี : ไม่มีหนี้ไม่มีค้ำประกัน : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณจำนูญทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหนึ่งไปจากบริษัทในราคา 526,822 บาท ตกลงผ่อนชำระ 60 เดือน เดือนละ 8,780 บาท มีคุณจำเริญเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม

คุณจำนูญผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไป 9 งวด เป็นเงิน 79,023 บาท แล้วผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 10 แล้วไม่ชำระอีกเลย

ไม่ทันจะผิดนัดครบ 3 งวดหรอก คุณจำนูญนำรถยนต์ไปคืนบริษัท พร้อมกับทำหนังสือส่งมอบความว่า “เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ขอส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนบริษัทด้วยความสมัครใจ เนื่องจากผิดสัญญาเช่าซื้อ ขอให้บริษัทนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวอีก หากขายได้ราคาไม่คุ้มกับความเสียหายที่ได้รับ คุณจำนูญยอมรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาด”

บริษัทนำรถยนต์นั้นออกประมูลขายได้ราคา 296,000 บาท

Advertisement

บริษัทว่าคุณจำนูญต้องรับผิดค่าขาดราคาอีก 151,798 บาท กับค่าขาดประโยชน์วันละ 300 บาท หรือเดือนละ 9,000 บาท นับแต่ผิดนัดจนถึงวันส่งรถยนต์คืนเป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงิน 9,000 บาท

คุณจำเริญในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับคุณจำนูญ

เมื่อบริษัททวงแล้ว แต่ทั้งสองไม่ชำระ จึงได้นำความไปฟ้องศาล ขอให้บังคับให้ร่วมกันชำระเงิน 160,798 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Advertisement

ทั้งสองให้การว่า คุณจำนูญส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนบริษัท บริษัทยอมรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแล้ว จึงไม่ได้รับความเสียหาย ไม่มีสิทธิบังคับให้ต้องชำระเงิน 151,798 บาท และไม่อาจเรียกค่าขาดประโยชน์ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษา ให้ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัท

บริษัทอุทธรณ์

ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 103,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแก่บริษัท

คุณจำนูญและคุณจำเริญทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คุณจำนูญนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบให้บริษัทโดยที่ ยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน จึงยังไม่เป็นเหตุที่จะทำให้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุด

แต่การที่บริษัทรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปนั้นเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าบริษัทกับคุณจำนูญสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกัน อันเป็นเหตุให้คู่สัญญาไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาอีกต่อไป บริษัทฯย่อมไม่อาจเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาได้ บริษัทกับคุณจำนูญจึงไม่มีมูลหนี้ค่าขาดราคาต่อกัน

แม้คุณจำนูญทำหนังสือให้ไว้แก่บริษัท เอกสารดังกล่าวมิใช่สัญญาเช่าซื้อ หากแต่เป็นเพียงหลักฐานการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืน และคุณจำนูญผู้เช่าซื้อรับรองต่อบริษัทผู้ให้เช่าซื้อว่า หากบริษัทนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายได้ราคาไม่คุ้มกับความเสียหาย คุณจำนูญจะยอมรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดตามสัญญา

แต่อย่างไรก็ตามเอกสารดังกล่าวก็หามีผลให้คุณจำนูญ ต้องรับผิดค่าขาดราคาตามที่ระบุไว้ในเอกสารไม่ เพราะกรณีเป็นการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่ทั้งที่ไม่มี เนื่องจากบริษัทและคุณจำนูญไม่มีมูลหนี้ค่าขาดราคาต่อกัน จึงไม่มีผลบังคับแก่กันได้

คุณจำนูญจึงไม่ต้องรับผิดในค่าขาดราคาแก่บริษัท คุณจำเริญซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดในค่าขาดราคาแก่บริษัทด้วย

ที่ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาให้ทั้งสองรับผิดค่าขาดราคานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สรุปว่า ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,000 บาทเท่านั้น แก่บริษัท

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9861/2559)

————————————————-

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 681 วรรคหนึ่ง อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image