เหยี่ยวถลาลม 17ก.ย.62 : ท่วมจม-จนท่วม

วิกฤตทำให้เกิดการปรับตัว จนบางทีก็ได้เจอกับ “โอกาส”

แรงกดดันจากวิกฤตการณ์มักนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุที่ประเทศเราตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ไม่ค่อยประสบภัยรุนแรงจากธรรมชาติดังเช่นหลายประเทศที่เจอทั้งมรสุม อุทกภัย พายุใหญ่ ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว สึนามิ จึง “เย็นใจ” ไม่เดือดร้อนดิ้นรน เคยอยู่กันมาอย่างไรก็อยู่ต่อไปอย่างนั้น

พอแล้งหนัก เจ้านายใหญ่ผู้มีอันจะกินก็สั่ง “ห้ามทำนา” พอน้ำมามากท่วมสวนไร่นา ท่านผู้นำก็ชี้แนะว่า ให้เลี้ยงปลาแทนการปลูกข้าวหรือพืชไร่

Advertisement

ประเทศไทยยับเยินหนักที่สุดจากน้ำท่วมปี 2554 เสียหายกว่า 1 ล้านล้านบาท มีคนตายมากกว่า 800 คน เดือดร้อนกว่า 12.8 ล้านคน นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งกลายเป็นเมืองใต้บาดาล เครื่องบินกับสนามบินดอนเมืองจมน้ำ

วิกฤตนั้นทำให้เริ่มคิดปรับตัว !

รัฐบาล (ยิ่งลักษณ์) จัดทำโครงการบริหารจัดน้ำ 3.5 แสนล้าน แบ่งเป็น 11 โมดูล (Module) เริ่มในปี 2555

การก่อสร้างและการจัดทำระบบต่างๆ ทั้งหมดจะแล้วเสร็จได้ใช้งานกันในปี 2560

ในความรีบเร่งนั้นเมื่อมีการท้วงติง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ขณะนั้นก็ตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยขึ้น ให้ทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิด พร้อมกับเชิญนักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เอกอัครราชทูตและสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังรายละเอียด

แต่สังคมเรามี “จุดอ่อน” คือ วาระที่ซ่อนเร้น ถ้าเป็นเรื่องของ “พวกเขา” เรามักทุบทำลายกันอย่างไม่แยกแยะ

ในทางตรงกันข้ามหากงานนั้นเป็น “พวกเรา” ถึงจะมีช่องโหว่หรือไม่เหมาะสมก็จงใจจะไม่กล่าวถึง ดังเช่น การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพในยามที่ผู้คนทุกข์ยากลำบากถึงขั้นประทังชีวิตด้วย “บัตรคนจน” ไม่เห็นมีใครทัก มีสมาคมไหนท้วง

“โครงการบริหารจัดการน้ำ” ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี’54 ล้มลงอย่างสิ้นท่าภายหลัง “คสช.” ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

วันนี้ประเทศต้องเผชิญกับโจทย์เดิมๆ

“ภัยแล้ง” กับ “น้ำท่วม”

โดน “โพดุล” กับ “คาจิกิ” แค่ไม่กี่วัน ตายไปแล้วกว่า 32 ชีวิต อีก 4 แสนกว่าครัวเรือน “จม” อยู่กับ “ความจน” ต่อไป !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image