เหยี่ยวถลาลม : คนที่มีเกียรติ

มีเพื่อนเล่าว่า คนญี่ปุ่น อิสราเอล เยอรมันนั้นเป็นชาติที่มีความทะนงในเกียรติ

จึงถาม “เกียรติ” ที่ว่านั้น หน้าตาเป็นอย่างไร และมาจากไหน

หนึ่ง เกียรตินั้นติดตัวคนเรามาแต่กำเนิด อันนี้ไม่เกี่ยวกับการตกฟากยากดีมีจน

อยู่เมืองหรือชนบท ในสังคมที่มีเจริญแล้วทางปัญญาถือว่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

Advertisement

สอง เกียรตินั้นเกิดจากการมี “ตำแหน่ง” อันหมายถึง มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ

“ตำแหน่ง” จึงไม่ได้หมายถึง สัญลักษณ์ของความมีหน้ามีตา หรือสิ่งที่จะช่วยเชิดชูชื่อเสียงตนและวงศ์ตระกูล ไม่ใช่สิ่งที่มีไว้ฉุยฉายอวดโอ่โอหัง ทำตัวเป็นเจ้าคนนายคน ไม่รับผิด เอาแต่รับชอบ

การมีตำแหน่งจึงเป็นการแบกเอาความรับผิดชอบทั้งปวงในงานนั้นๆ เอาไว้

Advertisement

“เกียรติ” ไม่ใช่ “เครื่องประดับ” โก้หรูเอาไว้อวดโม้ข่มทับผู้อื่น

คนผู้หนึ่งจะมีเกียรติก็ต้องประพฤติปฏิบัติถูกต้องอันควรตามสถานะตำแหน่งที่ดำรงอยู่ (แม้ชั่วครู่ยาม)

ในสังคมที่คนมีความทะนงในเกียรตินั้น ยิ่งมีตำแหน่งสูงยิ่งหน้าบาง ไม่ใช่หน้าหนา คนที่มีตำแหน่งใหญ่กว่า

ผู้นำจะตระหนักรู้ในบทบาทหน้าที่ มีความรู้สึกอับอายโดยที่ไม่ต้องท่องจำคำว่า “หิริโอตตัปปะ”

ไม่มี “หิริโอตตัปปะ” จะทำได้ทุกสิ่งเพื่ออำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ ฉ้อฉลได้ทั้งต่อหน้าและลับหลังโดยที่ไม่รู้สึกรู้สา ไม่เขินอาย

“ตำแหน่ง” กลายเป็นเพียง “หน้ากาก” ที่บอกถึงหน้าตา บอกระดับชั้นทางสังคม พร้อมทั้งเป็น “โอกาส” ที่จะกอบโกยฉกฉวยอะไรต่อมิอะไรได้มากกว่าผู้อื่น “เกียรติ” ของคนแบบนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ
“การทำหน้าที่”

“ตำแหน่ง” จึงไม่ใช่สัญลักษณ์ของ “ความรับผิดชอบ”

เช่นนี้แล้ว ลองนึกดูว่า ถ้าคนที่มีตำแหน่งใหญ่ๆ มีหน้าที่สำคัญๆในบ้านเมืองทำตัวไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ชอบโทษลมฟ้าอากาศ โทษสภาวะแวดล้อม เอาแต่ชี้นิ้วไปที่ผู้อื่นพวกอื่น หรือปัดสวะไปให้พ้นตัว พูดจาไม่รู้เรื่อง ได้แค่นกแก้วนกขุนทองท่องบ่นไป ไม่คิดไปข้างหน้า จมปลักดักดานอยู่กับอดีต สังคมนั้นจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร

พฤติการณ์หยิ่งยะโส ทะนงว่าสูงส่งทรงเกียรติ นั่นหรือคือ “ตัวแบบ” ของผู้นำ !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image