อนาคตเศรษฐกิจโลก:ทางสองแพร่ง (สำหรับเราด้วย) โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

คริสต์ศตวรรษที่ 21 เปิดฉากด้วยวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพ ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008 แล้วลามไปยุโรป จีน และที่อื่น จนเกิดภาวะซบเซาไปทั่ว

8 ปีให้หลัง 2016 ยูโรโซนผ่านวิกฤตได้อย่างฉิวเฉียด และไม่ได้ล้มละลายเพราะปัญหากรีซ แต่ก็สะบักสะบอมและเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ญี่ปุ่นก็ย่ำแย่ ซ้ำด้วยเศรษฐกิจบราซิลถดถอย และจีนสะดุดหลังจากที่เติบโตสุดขีดมานานถึง 40 ปีต่อเนื่องกัน การฟื้นตัวของอเมริกาเป็นความหวังของโลก แต่ก็อ่อนแรงเหลือเกิน และเป็นผลจากนโยบายเงินถูกคือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอี (QE) ไม่ใช่เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจริง ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงมากในปี 2015 เป็นข่าวดี แต่ก็มีผลลบกับประเทศส่งออกน้ำมันและการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน

ดังนั้น เศรษฐกิจโลกในภาวะลูกผีลูกคนอาจจะยังอยู่กับเราอีกนาน ที่สำคัญคือจำนวนคนตกงานทั่วโลกขณะนี้มีมากกว่า 200 ล้านแล้ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เฉพาะที่สหรัฐช่วงปี 2008-2016 การจ้างงานภาครัฐลดลงไป 500,000 คน ซึ่งในภาวะปกติต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านคน

ซ้ำร้าย นักวิเคราะห์เริ่มเตือนว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่แย่กว่าอาจจะกำลังก่อหวอดขึ้น ซึ่งโยงกับมาตรการเศรษฐกิจรัดเข็มขัดเข้มงวดที่ยูโรโซนอันส่งผลลดอุปสงค์รวม ทำให้ภาระหนี้สูงขึ้น ปัญหาบ้านและคอนโดฯล้นตลาดและตลาดหุ้นบูมที่จีน เพราะช่องทางลงทุนในอุตสาหกรรมสินค้าบริโภคแบบ mass consumption ไม่จูงใจนักลงทุนอย่างเพียงพอเนื่องจากอุปสงค์รวมต่ำ เศรษฐกิจฟองสบู่นี้อาจจะแตกได้ทุกขณะ การว่างงานและปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ภาวะข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ตัวชี้หลายตัวที่แสดงว่าอุปสงค์รวมทั่วโลกจะหดตัวต่อไป อีกทั้งกำไรของวิสาหกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มลดลง ในทางการเมืองหลายประเทศในโลกที่เผชิญปัญหาแต่แก้ไม่ตก เกิดแนวโน้มสู่การเมืองอำนาจนิยมแบบมีนัยสู่การเมืองไร้เสถียรภาพ

Advertisement

ที่กล่าวมานี้เป็นภาวะที่แทบทุกประเทศประสบอยู่ มากบ้างน้อยบ้าง ที่บ้านเราบ้านและคอนโดฯระดับไฮเอนด์ล้นตลาด หนี้ครัวเรือนสูงลิ่ว การลงทุนภาคเอกชนยังต่ำแม้เงินจะถูก ชนชั้นกลางและนักธุรกิจต้องการเศรษฐกิจที่เสรีแต่การเมืองที่ไม่เสรี นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศขาดความมั่นใจที่จะลงทุน ไม่ใช่เพราะหนี้ครัวเรือนสูงเท่านั้นแต่เพราะไม่มั่นใจกับเสถียรภาพการเมืองด้วย

นักเศรษฐศาสตร์มีชื่อของโลกพยายามหาทางออกให้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย ผู้เขียนขอแบ่งข้อเสนอหลักที่มีการวิเคราะห์กันออกเป็น 2 แนวทางที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แนวหนึ่งคือแนวคิดแบบเคนส์ อธิบายว่าเศรษฐกิจโลกชะงักงันเกิดจากอุปสงค์รวมต่ำ เพราะเมื่อคนว่างงานเพิ่มขึ้น อุปสงค์จากคนกลุ่มนี้ก็หดหายไปเลยอย่างแน่นอน และสำหรับคนที่ยังมีงานหรือมีรายได้จากทรัพย์สิน รายได้สูงกระจุกอยู่ในมือคนจำนวนน้อยที่ส่วนยอดของพีระมิดสังคมเท่านั้น ยิ่งภาวะเศรษฐกิจซบเซายาวนานขึ้น ความเหลื่อมล้ำสูงด้านรายได้จะยิ่งเพิ่มขึ้น

สำหรับคนส่วนใหญ่นอกจากรายได้น้อยแล้วยังมีหนี้ล้นพ้นตัว นักลงทุนไม่เสี่ยงที่จะลงทุนในสินค้าบริโภคทั่วไปเพราะจะได้กำไรน้อย จึงหันไปลงทุนในสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ สร้างศูนย์การค้าหรูหรา ขายสินค้าแบรนด์เนม หรือลงทุนแบบเก็งกำไรในตลาดหุ้น หรือสร้างบ้านสร้างคอนโดฯราคาแพงลิ่ว ให้กับคนจำนวนหยิบมือหรือต่างชาติที่ต้องการเก็งกำไรหรือฟอกเงิน อีกส่วนหนึ่งก็จะนำเงินไปซื้อทรัพย์สินต่างประเทศ

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเป็นเช่นนี้ รัฐบาลของหลายๆประเทศก็ลดการลงทุนเพราะหนี้สูง แม้แต่ประเทศที่หนี้ไม่มาก และมีส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจเช่นเยอรมนี หรือจีน รัฐบาลก็ไม่กล้าเพิ่มงบการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อ้างว่ากลัวภาวะเงินเฟ้อ

สติกกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เสนอให้ทุกประเทศร่วมมือกันจัดทำชุดการลงทุนเพื่อขยายอุปสงค์และดำเนินการปฏิรูปภายใต้การประสานงานขององค์กรกลาง แต่ไม่ประสบผลเพราะมันยากเกินไป

ข้อเสนอของเขาและของนักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ที่แต่ละประเทศจะทำได้ตามแนวคิดแบบเคนส์ มีเรื่องที่น่าสนใจคือ ให้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบการเงินเพื่อให้เอื้อกับการลงทุนที่เพิ่มผลิตภาพและเพื่อสร้างงาน ให้ปรับนโยบายสังคม ปฏิรูประบบภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ให้ปฏิรูประบบการเมืองสู่ระบบเปิดให้สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนมาก สติกกลิทซ์เน้นว่า มาตรการการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของทุกประเทศสำคัญมากเพราะจะมีผลเพิ่มอุปสงค์รวมของโลก และเป็นแรงจูงใจให้เอกชนลงทุน ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่รัฐบาลของหลายประเทศไม่นำไปใช้ เพราะชนชั้นนำร่ำรวยที่ยังคงร่ำรวยเพิ่มขึ้นไม่เห็นด้วย

อีกแนวทางหนึ่งที่มีการเสนอกัน เสนอเป็นทางเลือกแทนแนวทางเคนส์ที่กล่าวมาแล้ว ย้อนไปที่คำคม “ทำลายล้างเพื่อสร้างสรรค์” หรือ “creative destruction” ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรีย โยเซฟ ชุมปีเตอร์ (1883-1950) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Capitalism, Socialism and Democracy เมื่อปี 1942 ชุมปีเตอร์บอกว่า นวัตกรรมเป็นหัวใจทำให้ทุนนิยมเจริญเติบโต นายทุนที่คิดสินค้าใหม่ หรือคิดวิธีผลิตที่เหนือกว่าคนอื่นได้ จะแย่งตลาดทำให้นายทุนเดิมต้องออกจากตลาดไป แต่ในระยะยาวเศรษฐกิจโดยรวมจะรวยขึ้น และงานเก่าที่หายไปจะถูกทดแทนด้วยงานใหม่ที่ดีและมากกว่า

แนวทางที่ 2 นี้ไม่สนใจเรื่องอุปสงค์รวมต่ำ แต่สนใจเรื่องพลวัตและการคงอยู่ของทุนนิยมผูกขาด ในงานชิ้นดั้งเดิมของชุมปีเตอร์ เขาบอกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่ผูกขาดตลาดอยู่แล้วมีแรงจูงใจสูงที่สุดที่จะคิดนวัตกรรม ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่อมาพบว่าไม่จริง ธุรกิจขนาดเล็กก็ทำได้ ประเด็นเรื่องนวัตกรรมเป็นจุดเด่นของชุมปีเตอร์ แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเขาสนับสนุนธุรกิจผูกขาดซึ่งเป็นเหตุให้เศรษฐกิจชะงักงันได้

ในระยะยาว รูปธรรมด้านนโยบายคือส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี (R&D) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ระยะสั้นคือสนับสนุนธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ venture capital และธุรกิจใหม่ สโลแกนเน้นไปที่การสร้างสรรค์ของสตาร์ตอัพหรือ start-up (มักเน้นไปที่หัตถอุตสาหกรรมและบริการ) ที่จะเข้ามาเสนอสินค้าใหม่ บริการใหม่ ที่เหนือกว่าและแย่งตลาดจากธุรกิจเดิม สำหรับปัญหาการว่างงานที่เกิดจากการทำลายล้างถือว่าเป็นความเจ็บปวดที่จำเป็น

ในบริบทที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาคนว่างงานจำนวนมากในปัจจุบัน การสร้างงานใหม่อาจไม่มากพอที่จะดูดซับคนว่างงานเดิม หรือผู้ว่างงานไม่มีทักษะที่เหมาะกับงานใหม่ และหากไม่มีสถาบันใดเข้ามาช่วยตรงนี้ การเน้นเรื่องนวัตกรรมเป็นทางออกเพียงสถานเดียวคงไม่พอ หากไม่มีมาตรการเสริมเพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานในระยะเปลี่ยนผ่าน อีกทั้งปัญหาด้านสังคมและด้านโครงสร้างอื่นๆ

ประสบการณ์ของประเทศเดนมาร์ก ที่ในอดีตปรับเศรษฐกิจเกษตรทั้งระบบ สู่การผลิตใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนภาคเกษตรที่เกือบล้มละลายเพราะสู้กับสหรัฐไม่ได้ ได้ฟื้นตัวสำเร็จเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่อ 20 เป็นกรณีของ “การทำลายล้างที่สร้างสรรค์” ซึ่งเกิดขึ้นจริงแต่ก็ใช้เวลาหลายสิบปี และการปรับแปลงนี้เกิดขึ้นในระดับชาติ โดยรัฐบาลมีบทบาทสูงในการใช้มาตรการกระจายรายได้และสวัสดิการ การฝึกทักษะใหม่ให้ผู้ตกงาน เพื่อลดทอนผลลบของส่วนที่เป็น “การทำลายล้าง” จึงสำเร็จ

โดยสรุป เรื่องทางออกของเศรษฐกิจโลก อันที่จริงทั้งสองแนวทางเสริมกันอยู่ ถ้าทั้งแนวทางแบบเคนส์ก้าวไปด้วยกันกับการเรื่องสตาร์ตอัพผ่านนวัตกรรม ทั้งภาคอุตสาหกรรม บริการ และเกษตร น่าจะสร้างสมดุลและเป็นการสร้างสรรค์จริงมากกว่าการทำลายล้าง ให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมากกว่าเอาแต่เรื่องสตาร์ตอัพโดดๆ เมื่ออุปสงค์รวมขยายตัว สตาร์ตอัพก็จะง่ายกว่าเดิมแน่นอน และการบรรเทาผลลบของส่วนที่เป็น “การทำลายล้าง” เพราะธุรกิจแบบเก่าล้ม ด้วยมาตรการแบบเคนส์ น่าจะสร้างสรรค์สังคมที่สันติสุขกว่าไม่ใช่หรือ?

ข้อสรุปเหล่านี้คือทางออกของเศรษฐกิจประเทศเราด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image