สัพเพเหระคดี : ไฟไหม้ห้องขัง : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณสิบตำรวจโทจำนูญปฏิบัติงานเป็นสิบเวรในวันนั้น ห้องทำงานของคุณสิบเวรอยู่ติดกับห้องคุมตัวผู้ต้องหา กุญแจห้องควบคุมตัวผู้ต้องหา ก็อยู่กับคุณสิบเวร

ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ คุณสิบเวรแว่บออกไปนอกโรงพักพักใหญ่

ตกดึกราวตีสาม เกิดไฟไหม้ที่โรงพัก แล้วลามไปยังห้องควบคุมผู้ต้องหา ผู้ต้องหาเสียชีวิตทั้งหมด รวมทั้งคุณผางลูกชายคุณโผงด้วย

คุณโผงยื่นฟ้องร้อยเวรและสิบเวรในช่วงเวลานั้นของวันนั้น ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่ง
ผู้ใด) และ 288 (ฆ่า)

Advertisement

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คุณสิบเวรมีความผิดตามมาตรา 157 ให้จำคุก แต่ยกฟ้องคุณร้อยเวร

คุณโผงและคุณสิบเวร ต่างอุทธรณ์คดี

ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า คุณสิบเวรมีความผิดตามมาตรา 291 (กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย) ความผิดฐานอื่นให้ยก ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Advertisement

คุณสิบเวรฎีกาคดี

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่คุณสิบตำรวจโทจำนูญต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท เพราะก่อนเกิดเหตุได้ยินเสียงสุนัขเห่าบริเวณหน้าสถานีตำรวจจึงเดินออกไปดู เนื่องจากเคยมีคนร้ายถอดชิ้นส่วนรถของกลางไป จากนั้น 20 นาที ได้ยินเสียงดังมาจากในอาคาร เมื่อพบว่าเกิดเพลิงไหม้ ได้รีบมาไขกุญแจเพื่อช่วยผู้ต้องหา แต่ไม่สามารถช่วยได้เพราะมีควันจำนวนมาก ทำให้มองไม่เห็น และต้องรีบออกมาภายนอกบริเวณห้องขังเพื่อขอความช่วยเหลือจากตำรวจคนอื่น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของคุณสิบเวรที่ว่าออกมาตรวจดูบริเวณหน้าสถานีตำรวจนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะหากคุณสิบเวรอยู่ที่หน้าสถานีตำรวจจริง ต้องได้ยินเสียงผู้ต้องหาร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากขณะเกิดเหตุ ดึกสงัด ไม่มีเสียงรบกวน ประกอบกับไม่ปรากฏว่าคุณสิบเวรมีความบกพร่องทางการได้ยิน เพราะยังอ้างว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ในห้องทำงานได้ยินเสียงสุนัขเห่ากระโชกจากด้านหน้าสถานีตำรวจ

พฤติการณ์ที่คุณสิบเวรไม่ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือของผู้ต้องหาและช่วยเหลือผู้ต้องหาไม่ทันจนผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย บ่งชี้ว่าคุณสิบเวรไม่ได้อยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจดังอ้างแต่อย่างใด

การที่มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผล คืออันตรายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ต้องหา

เมื่อคุณสิบเวรกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และ คุณสิบเวรอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำของคุณสิบเวรจึงเป็นการกระทำโดยประมาท

ดังนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คุณสิบเวรกระทำความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามคำพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์

ศาลฎีกาพิพากษายืน

คุณสิบเวรจึงต้องย้ายภูมิลำเนาจากบ้าน จากสถานีตำรวจ ไปอยู่เรือนจำแทนชั่วคราว

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2661)

………………………………………….

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

วรรคสี่ กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

วรรคห้า การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image