วิพากษ์‘ทรัมป์’กร้าวประกาศตัด‘จีเอสพี’

หมายเหตุ มุมมองของนักวิชการและภาคเอกชนภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือจีเอสพี กับสินค้าไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยระบุว่าไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากล มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563

วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันทีดีอาร์ไอ

ส่วนตัวมองว่าไม่เกี่ยวกับการแบน 3 สารพิษ เรื่องจีเอสพีเป็นการออกแบบให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยเริ่มอยู่ในกลุ่มที่ลืมตาอ้าปากได้ โอกาสที่จะถูกตัดจีเอสพีจึงมีมาก เนื่องจากประเทศไทยไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากเหมือนสมัยก่อน เหตุผลที่ออกมาแบนอย่างฉุกละหุก ส่วนตัวไม่แน่ใจ แต่สหรัฐเองอาจห่วงเรื่องการขาดดุลการค้า เนื่องจากตอนนี้อยู่ในช่วงที่มีปัญหากับจีน มาตรการต่างๆ ที่ออกมาจัดการกับจีนก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก สหรัฐเองก็น่าจะรู้สึกว่ากำลังประสบปัญหาดุลการค้าอยู่

Advertisement

ที่ระบุว่าไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากล ข้อนี้ชักจะน่าสนใจ หลายปีที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องแรงงาน เช่น EU มีกลุ่มที่ทำรายงานแล้วบอกว่าไทยมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ สำหรับรายงานโดยภาพรวมที่อาจจะมีประเด็นบ้าง คือเราอาจจะรับรองอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) บางข้อยังไม่ครบถ้วน อีกประเด็นที่ถูกจับตามอง คือเรื่องการจัดการกับสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งหากยกข้อนี้ขึ้นมาเป็นหลัก ก็อาจมองได้ว่าเป็นมาตรการลงโทษหรือไม่

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเรื่องการถูกตัดสิทธิจีเอสพีเป็นอะไรที่เราคาดหมายมานานแล้วว่าเรามีแนวโน้มจะถูกตัดไปเรื่อยๆ ครั้งนี้จึงไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย แน่นอนว่าการถูกตัดสิทธิจะกระทบกระเทือนกับผู้ประกอบการธุรกิจในด้านนั้นๆ อาจทำให้การส่งออกยากขึ้น เนื่องจากจีเอสพีมีลักษณะคล้ายแต้มต่อ ผู้ประกอบการในบ้านเราจำเป็นต้องเตรียมรับมือว่าจะถูกตัดสิทธิได้ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับบางประเทศ จึงไม่ได้มีหลักคิดอะไรมากไปกว่าการให้ประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีโอกาสได้สิทธิมากกว่าเรา ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประเทศต้นทาง แม้ว่าอาจจะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่ความจริงแล้ว ภาคส่งออกของเราก็ขยายตัวมาโดยตลอดและมากพอสมควร ดังนั้นการที่จะขยายตัวลดลงบ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายนัก

อนุสรณ์ ธรรมใจ
อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สํานักนายกรัฐมนตรี

 

สิทธิพิเศษทางศุลกากรเป็นมาตรการการค้าที่ใช้เพื่อบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเวลาเราพูดถึงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ มิได้หมายถึงเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ยังหมายถึงประเด็นทางด้านสิทธิการงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม รวมทั้งประเด็นทางการเมืองด้วย เป็นการใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในลักษณะเช่นนั้น

โดยลักษณะของมาตรการ เป็นการช่วยเหลือประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า ให้สิทธิประโยชน์กับประเทศผู้รับ แต่เบื้องหลังคือการให้เพื่ิอประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของสหรัฐอเมริกาเอง เป็นการให้อย่างมียุทธศาสตร์ เช่น ให้เพื่อทำให้วัตถุดิบในการผลิตถูกลง สินค้าบางประเภทเมื่อนำเข้าแล้วราคาจะถูกและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคของเขา

ประเด็นล่าสุด คือการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยอย่างไรแล้วเราก็ต้องถูกตัดจีเอสพีเพิ่มขึ้นตามลำดับอยู่แล้ว แต่โดยส่วนตัววิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ที่อาจเกิดจากการที่เราแบน 3 สารพิษ ซึ่งมีอยู่ 1 ตัวที่สถานทูตสหรัฐออกเอกสารมาถึงรัฐบาลไทยให้ทบทวนว่ามีข้อพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์หรือไม่ ซึ่งเข้าใจว่าบริษัทนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจเกี่ยวพันว่าเหตุใดตัดสิทธิจีเอสพีอย่างกะทันหัน

ประเด็นต่อมาอาจเกี่ยวกับการที่รัฐบาลไทยแสดงความชัดเจนมากขึ้นว่าสนับสนุนรัฐบาลฮ่องกง รัฐสภาสหรัฐเพิ่งออกกฎหมายที่คล้ายกับเป็นหลักประกันในการเคลื่อนไหวของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ดังนั้นการดำเนินนโยบายหรือการทำอะไรก็ตามในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งสูงระหว่างจีนกับสหรัฐ รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ต้องรักษาดุลยภาพความสัมพันธ์ของทั้ง 2 มหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ต้องมีอธิปไตยในการกำหนดนโยบาย ไม่ควรทำตามแรงกดดันของมหาอำนาจมากเกินไป ส่วนตัวเห็นว่าต้องยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก ซึ่งจะต้องทำอยู่บนพื้นฐานที่มีข้อมูลหลักฐาน พิสูจน์ในเชิงประจักษ์ ซึ่งไม่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่อ้างได้ว่าเราไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล

ต้องนึกถึงกรณีที่เรายกเลิกสัมปทานบริษัทคิงส์เกต ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเราต้องการปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่กระบวนการการยกเลิกจะต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาในมุมที่อ้างได้ว่าเราไม่ทำตามกระบวนการของระบบนิติรัฐที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งในที่สุดเมื่อฟ้องคดีเราจะแพ้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างไม่จำเป็น เหมือนกรณีเราแบน 3 สารพิษ หรือกรณีที่เราแสดงจุดยืนอะไรก็ตาม ถ้าเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐจะต้องดำเนินการด้วยความรัดกุม แต่ย้ำว่าเราต้องมีอิสระในการดำเนินนโยบายโดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ

หากมองในเชิงผลกระทบ กระทบอย่างแน่นอน แม้ว่าจะมีผลปีหน้า แต่จะซ้ำเติมภาคส่งออกของประเทศไทยที่กำลังติดลบอยู่ เมื่อถูกตัดสิทธิจีเอสพีก็จะกระทบเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งมีสินค้าไทยที่อยู่ในข่ายจะถูกตัดสิทธิจีเอสพีหลังเมษายน ปี 2563 ประมาณ 573 รายการ ซึ่งครอบคลุมไม่เฉพาะสินค้าอาหาร แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์เครื่องครัว ประตูหน้าต่าง ไม้แปรรูป ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องประดับ เหล็กแผ่น ฯลฯ เหล่านี้บางตัวเป็นสินค้าส่งออกของเอสเอ็มอี (SME) ที่เมื่อเขาไม่ได้สิทธิจีเอสพี จะแข่งขันได้ลำบาก เนื่องจากไม่มีความพร้อมในเชิงต้นทุนหรือความสามารถในการแข่งขันเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อได้รับผลกระทบบางครั้งบริษัทเหล่านี้มีสินค้าเพียงตัวเดียว ไม่ได้ส่งออกอย่างหลากหลาย ซึ่งอาจจะซ้ำเติมสถานการณ์เรื่องการว่างงาน เพราะขณะนี้สถานการณ์การเลิกจ้างจะกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ที่มีข่าวว่าทยอยเลิกจ้างหรือปิดการทำงานช่วงหนึ่ง เหล่านี้คือผลกระทบที่ต้องระมัดระวัง

ฉะนั้นแล้วสินค้า 573 รายการ ที่อยู่ในข่ายจะต้องถูกตัดจีเอสพีจึงถือเป็นแต้มต่อของสหรัฐที่ใช้ในการตอบโต้ไทย ที่หากว่าไทยดำเนินนโยบายใดอย่างขัดผลประโยชน์กลุ่มทุนในสหรัฐ (ที่ล็อบบี้รัฐบาลอยู่) จะเกิดเหตุตัดจีเอสพีขึ้นมาอีก เป็นลักษณะของการเตือน ซึ่งครั้งนี้ทำภายใต้คำสั่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ ซึ่งเป็นวิธีการหรือนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาในโทนชาตินิยมทางเศรษฐกิจ และการกีดกันทางการค้าอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ระบบการค้าโลก หรือโลกาภิวัตน์ เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ไทยก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าจะมีลักษณะของนโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้น เป็นนโยบาย America first คุณทำให้ผมเสียประโยชน์ ผมก็ตอบโต้คุณทันที

กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

 

มาตรการดังกล่าวดูเหมือนสหรัฐอเมริกาต้องการที่จะแสดงท่าทีอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการข่มขู่ (Bluff) เพราะกรณีที่มีการอ้างถึงปัญหาสิทธิและสวัสดิการแรงงานเพื่อจะตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทยนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ในปัจจุบันภาพรวมของทั้งประเทศอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากสหรัฐมีการตรวจประเมินรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทริปรีพอร์ต เป็นประจำทุกปี ซึ่งล่าสุดไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 ดีที่สุดในรอบ 9 ปี ซึ่งจะให้ดีกว่านี้ไม่ได้ เพราะระดับเทียร์ 1 ให้เฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น

อีกทั้งได้สอบถามไปยังสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ทราบว่าสหรัฐมีการตรวจสอบการใช้แรงงานเด็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลรายงานที่ออกมา ประเทศไทยก็ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ฉะนั้น มาตรการดังกล่าวจึงเหมือนการข่มขู่ ทำให้เราตื่นตระหนกอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะบอกว่า หากไม่ทำตามระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสินค้าตัวอื่นๆ ทั้งนี้ สหรัฐมีความพยายามที่จะส่งออกหมูและสินค้าอีกหลายตัวให้กับเรา

สินค้าอาหารทะเลกลุ่มหลักที่ไทยส่งออก ได้แก่ ทูน่า กุ้ง และอีกหลายตัว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้จีเอสพีอยู่แล้ว สรท.จึงไม่เป็นกังวลต่อมาตรการดังกล่าว เพราะประเมินว่าน่าจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เพราะจากการสอบถามไปยังสมาคมที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ต่างก็ระบุว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างแน่นอน

ส่วนท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐที่ประกาศออกมานั้นเหมือนการข่มขู่ อาจจะเป็นความพยายามในการเปิดประเด็นบางอย่างทิ้งไว้ เพื่อขอให้เราหาทางเข้าไปเจรจาอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับประเด็นแบน 3 สารเคมี พาราควอต-คลอร์
ไพริฟอส-ไกลโฟเซต ทั้งนี้ หากสหรัฐต้องการที่จะดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจริงๆ เพราะเหตุใดจึงไม่กระทำการเหมือนที่ทำกับจีน กรณีสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีนที่ดำเนินการทันทีภายใน 15 วัน แต่กับไทยทำไมให้เวลาถึง 6 เดือน

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

กรณีสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ประกาศว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) กับสินค้าไทย จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยพอสมควร เนื่องจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยมีการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งจำนวนมากไปยังสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก ทั้งประกอบกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า จึงคาดว่าอาจจะหาตลาดอื่นที่จะเข้ามาทดแทนได้ไม่ทันการณ์ รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้

ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาในหลายเรื่อง อาทิ การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) จนสามารถปลดธงแดงออกได้ สำหรับเรื่องนี้คิดว่าหากเป็นปัญหาจากการถูกกล่าวหาก็ต้องชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจ นำมาสู่การแก้ไขปรับปรุง แต่ต้องรับฟังก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ที่กล่าวหามีมูลความจริงหรือไม่ เข้าใจผิดหรือไม่ สื่อสารกันอย่างไร แต่หากประเด็นเหล่านี้มีมูลที่เป็นความจริงเชื่อว่ารัฐบาลจะเร่งแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาใหญ่ๆ ยังสามารถสะสางได้ ฉะนั้น เรื่องนี้หากตั้งใจสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก โดยกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ควรเร่งให้มีการเจรจากับสหรัฐ เพื่อแบ่งเบาผลกระทบด้านการส่งออกให้เบาบางลง

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการดังกล่าวที่ออกมาในช่วงที่คาบเกี่ยวกับกรณีการแบน 3 สารเคมี พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต ที่สหรัฐออกมาคัดค้านการแบนไกลโฟเซต จึงไม่แน่ใจว่ากรณีนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองที่ต้องมีการเจรจา ต่อรอง เพื่อแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างหรือไม่ ดังนั้น ควรเร่งให้มีการเจรจากับสหรัฐเพื่อทราบถึงปัญหาที่แท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image