สุจิตต์ วงษ์เทศ : กรุงเทพฯ เก่าสุด อยู่ยุคอยุธยา 500 ปีมาแล้ว

วัดร้างในบางกอก ผลงานจากการสำรวจค้นคว้าโดยประภัสสร์ ชูวิเชียร

กรุงเทพฯ เก่าสุด อยู่ยุคอยุธยา ราว 500 ปีมาแล้ว ผมเคยเขียนไว้หลายหนหลายแห่ง
ล่าสุด เขียนคำนำเสนอในหนังสือวัดร้างในบางกอก ของ อ. ประภัสสร์ ชูวิเชียร จะคัดมาให้อ่านต่อไปนี้

บางกอก ยุคต้นอยุธยา จากหนังสือ วัดร้างในบางกอก
กรุงเทพฯ มีต้นทางพัฒนาการตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา ก่อน พ.ศ. 2000
จากชุมชนหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็กๆ ริมแม่น้ำด้านทิศเหนือติดเขตนนทบุรี ลงด้านทิศใต้ใกล้อ่าวไทย ที่เว้าลึกเข้าไปภายในมากกว่าปัจจุบัน
[หรือต่างไม่มากจากยุคทวารวดี ราวหลัง พ.ศ.1000 ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านทิศเหนือหรือด้านบนเว้าลึกเข้าไปในแผ่นดินกรุงเทพฯ ถึงแขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. ยาวต่อเนื่องถึง อ. เมือง จ. สมุทรสาคร ขนานไปกับคลองสนามชัย ต่อเนื่องคลองมหาชัย และถนนพระราม 2]
ชุมชนหมู่บ้านบางแห่งของกรุงเทพฯ ยุคอยุธยา เติบโตขึ้นเป็นชุมชนเมืองสถานีการค้าริมแม่น้ำ ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 2000 ได้แก่ ชุมชนเมืองแรกสุดอยู่บริเวณคลองเตย และหลังสุดอยู่บริเวณบางกอก

เมืองพระประแดงคลองเตย อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก เป็นชุมชนเมืองแรกสุดของกรุงเทพฯ ราวหลัง พ.ศ. 2000
เพราะอยู่บนเส้นทางการค้าทางทะเลสมุทร จากอ่าวไทยเข้า-ออกสะดวกถึงรัฐละโว้-อโยธยา ขณะเดียวกันเชื่อมโยงถึงรัฐกัมพูชาที่โตนเลสาบ (ทะเลสาบ) โดยผ่านไปทางคลองสำโรง เข้าแม่น้ำบางปะกง ทวนไปทางทิศตะวันออก แล้วเดินบกเข้าถึงเมืองพระนครหลวงในกัมพูชา
เหตุที่เรียกเมืองพระประแดงคลองเตย เพราะสมัยเก่าสุดตั้งอยู่บริเวณคลองเตย (ที่เป็นท่าเรือกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) เพื่อให้ต่างจากเมืองพระประแดงสมัยหลังย้ายไปอยู่ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ

เมืองบางกอก อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก เป็นชุมชนเมืองแห่งที่สองของกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นหลังเมืองพระประแดงคลองเตย
เพราะอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่เป็นแม่น้ำลำคลอง หลบคลื่นลมทะเลเข้าคลองด่าน ผ่านไปแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง เชื่อมทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ได้ทั้งทางเมืองมะริด และด่านเจดีย์สามองค์
ต่อไปข้างหน้าเมืองบางกอกได้นามทางการว่าเมืองธนบุรี

Advertisement

ชุมชนมีซาก

สิ่งยืนยันการมีตัวตนจริงของชุมชนหมู่บ้านและเมืองในกรุงเทพฯ ยุคต้นอยุธยา นอกจากมีบันทึกเอกสารต่างๆ แล้ว ยังพบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ศิลปะจำนวนมาก เหลือซากกระจัดกระจายที่เรียกกันในปัจจุบันว่าวัดร้าง
ชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมในไทย โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล้วนมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดซึ่งมักเคยเป็นที่ตั้งหอผีหรือที่ฝังศพกลางหมู่บ้านมาก่อน
ถ้าจะรู้จักและเข้าใจความเป็นมาของชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิม ไม่ว่าจะยังมีสืบเนื่องหรือร้างไปแล้ว หากเริ่มจากค้นหาชุมชนตรงๆ จะไม่พบ แต่เริ่มจากวัดแล้วมักพบ อาจไม่พบทุกแห่ง แต่พบเกือบหมดทุกแห่ง
เหตุจากภูมิภาคอุษาคเนย์อยู่ในเขตมรสุม มีฝนตกชุก และมีแดดจัด
ชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมปลูกสร้างด้วยไม้ ส่วนมากเป็นไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยใบไม้ เช่น ใบจาก, ใบคา ฯลฯ เมื่อถูกฝนและแดดทั้งปียิ่งผุเปื่อยเสื่อมสลายง่าย ยิ่งนานไปยิ่งไม่เหลือซาก
วัดเก่าแก่ดั้งเดิมจนปัจจุบันมีพระพุทธรูปสำคัญ (เช่น พระประธานในโบสถ์ ฯลฯ) กับอาคารสำคัญ (เช่น โบสถ์, สถูปเจดีย์ ฯลฯ) ล้วนก่อสร้างด้วยอิฐและหิน มั่นคงแข็งแรงทนแดดและฝน อยู่ได้นานนับร้อยปีหรือพันปี
ดังนี้ วัดร้างจึงมีคุณค่าหมายรวมถึงชุมชน
ปัญหาของการศึกษาไทยอยู่ที่นักวิชาการทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ อธิบายไม่ราบรื่นเรื่องประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการเมือง เพราะไม่ให้ความสำคัญ แล้วไม่ศึกษาเอกสารเก่า ซึ่งเป็นเครื่องมืออธิบายเรื่องต่างๆ เหล่านั้น เช่น นิทาน, ตำนาน, พงศาวดาร, วรรณกรรม ฯลฯ จนถึงคำบอกเล่าของชาวบ้านซึ่งเป็นความทรงจำสำคัญ
ดังนั้น นักวิชาการด้านนี้จึงสื่อสารกับสังคมร่วมสมัยในวงกว้างอย่างขลุกขลัก หรือมีอุปสรรคขวากหนามจนสื่อไม่ได้ แต่แทนที่จะพิจารณาดัดแปลงแก้ไขตัวเอง กลับกล่าวโทษสังคม สมคำเก่าๆ ที่ว่ารำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง

พลังของสามัญชนคนเสรี

วัดร้างในบางกอก ของ ประภัสสร์ ชูวิเชียร เป็นหนังสือรวมงานค้นคว้าวิจัยที่ได้จากการสำรวจวัดร้างในเขตกรุงเทพฯ แล้วเขียนเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ สื่อสารได้ดีกับสังคมร่วมสมัย
บางกอก ในชื่อหนังสือวัดร้างในบางกอก หมายถึงกรุงเทพฯโดยรวม ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี
วัดร้าง ในชื่อหนังสือวัดร้างในบางกอก มีอย่างน้อย 2 ความหมาย ได้แก่
1. ชุมชนดั้งเดิมของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา ราวหลัง พ.ศ. 2000 ที่เคยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดร้าง
บางแห่งยังมีชุมชนสืบเนื่อง แต่เบาบางกว่าเดิม ส่วนบางแห่งชุมชนสูญหายไปนานแล้ว และมีคนชุดใหม่มาตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนใหม่ โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับชุมชนเดิม บางทีแม้แต่ความทรงจำก็ไม่มี
2. วัดเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา ราวหลัง พ.ศ. 2000 หรือบางวัดอยู่ยุคปลายอยุธยา ล้วนเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชน
มีซากหลักฐานหลายอย่าง เช่น โบสถ์, สถูปเจดีย์, พระพุทธรูป, กระเบื้องมุงหลังคา, หิน, อิฐ, เครื่องถ้วยชามรามไห ฯลฯ
วัดเหล่านี้ส่วนมากร้างไปแล้ว ที่เหลือซากก็มี แม้แต่ซากไม่เหลือก็มี หรือแม้แต่ความทรงจำของคนที่อยู่ปัจจุบันยังไม่เหลือก็มีไม่น้อย แต่ที่รู้เพราะศึกษาและตรวจสอบจากแผนที่เก่า, ภาพถ่ายเก่า, เอกสารเก่า ฯลฯ

ความรู้พร้อมหลักฐานทั้งหลายที่เขียนมาแต่แรกเรื่องกรุงเทพฯ ยุคต้นอยุธยา ผมสรุปจากหนังสือวัดร้างในบางกอก ของ ประภัสสร์ ชูวิเชียร ผู้มีศรัทธาเป็นพลัง เดินทางสำรวจค้นคว้าวิจัยสม่ำเสมอตลอดปี ทั้งในหน้าที่อาจารย์นักวิชาการ และในสำนึกของสามัญชนคนเสรี
หากขาดศรัทธาก็หาพลังทำงานวิชาการอย่างนี้ไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ตอบแทนโดยตรงไม่มี ถึงมีโดยอ้อมก็ไม่คุ้มความยากลำบากที่ต้องฝ่าอุปสรรคตรากตรำย่ำไปบนหนทางทุรกันดาร ทั้งในภูมิประเทศและในใจคน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image