วิชา‘รัฐประหาร’

21พฤศจิกายนนี้ ที่ห้องโถงอาคาร “มติชน-อคาเดมี” คอการเมือง คอประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาด ขอเชิญร่วมวงเสวนาเรื่อง “รัฐประหาร 2490”

เจอกับ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และพล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

จากพฤศจิกายน 2490 ถึง พฤศจิกายน 2562 ครบ 72 ปี มีอะไรถึงต้องตั้งวงเสวนา “รัฐประหาร 2490” กันอีก

นั่นละที่ต้องถก

Advertisement

บางคนอาจเห็นว่า “คณะราษฎร” ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย ที่แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย “บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ” ให้ตรวจสอบและถ่วงดุลกันนั้นสูญเปล่า

เพียง 15 ปีเท่านั้น ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เจตจำนงของคณะราษฎรก็สูญสิ้นและจากบัดนั้นจนบัดนี้นับได้ 72 ปี สังคมไทยก็ยังคงวกวนกับปัญหาเดิมๆ เลือกตั้ง-รัฐประหาร-ร่างรัฐธรรมนูญ-เลือกตั้ง-รัฐประหารก่อการโค่นล้มรัฐบาลด้วยกำลังรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ

ก่อนรัฐประหาร 2490 อำนาจอธิปไตยยังคงเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

Advertisement

พรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยาวนานที่สุดถึง 8 วัน จบลงที่รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะในสภา

ภายใต้ระบบรัฐสภาที่กำลังตั้งไข่ ทุกฝ่ายควรจะรักษาหลักการ

“การเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองต้องเป็นไปด้วยสันติ” !

แต่ “นอกสภา” หยิบเอาประเด็นอภิปรายไปเป็น “เหตุ” ก่อการรัฐประหาร เช่นว่า รัฐบาลหย่อนความสามารถ, การสอบสวนกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ไม่กระจาง, เศรษฐกิจหลังสงครามโลกทรุดโทรม, นโยบายการเงินการคลัง, ค่าครองชีพ, การใช้อำนาจแทรกแซงข้าราชการประจำ, บ้านเมืองวุ่นวายไม่สงบเรียบร้อย และการทุจริตคอร์รัปชั่น

คำอภิปรายในสภาเป็นเรื่องของการโฆษณา เหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้างเป็นเรื่องการแสวงหา “ความชอบธรรม” ส่วนการมอบเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ให้กับ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในทันทีนั้นเป็นแค่ “ฉากละคร”

เบื้องหลังแท้ๆ คืออำนาจที่ถดถอยของชนชั้นสูงในกองทัพบก

นับตั้งแต่นั้นมา “รัฐประหาร 2490” ก็กลายโมเดลที่ใช้ในการยึดอำนาจการปกครอง

ไม่เว้นแม้กระทั่งตอนที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นนาย คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเดือนกันยายน 2501

ประเทศของเรามาถึงจุดนี้วันนี้ได้ ย่อมมีที่มา

พัฒนาการวัฒนธรรมทางการเมืองไทยจะไปต่ออย่างไร น่าค้นหาในวงเสวนาที่ “มติชนอคาเดมี” วันนี้ !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image