ที่เห็นและเป็นไป : ชดเชยไปเถอะ‘ทีวีดิจิทัล’

จากการเปิดเผยของ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ทำให้รับทราบว่า มีความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจทีวีที่น่าสนใจไม่น้อย

“ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมาปรึกษาว่าประกอบกิจการไม่ไหวแล้ว เพราะแม้ไม่ต้องจ่ายค่าประมูล แต่ยังขาดทุนอยู่เรื่อย หลายรายต้องการยุติการให้บริการ โดยอยากขอให้จ่ายเงินชดเลยเหมือนที่เคยจ่ายให้ 7 ช่องที่ขอคืนคลื่นก่อนหน้านั้น”

เรื่องนี้หากมองในมุมของ “กฎหมาย” ก็เป็นอย่างที่เลขาฯ กสทช.มีความกังวล คือ “ต้องดูข้อกฎหมายว่าจะทำได้หรือไม่ จะใช้คำสั่ง คสช.ตาม ม.44 เดิมได้หรือเปล่า”

แต่หากฟังที่ “เลขาฯฐากร” ให้ข้อมูลว่า “ถ้าคืน 2 ช่อง จะได้คลื่นความถี่กลับมา 2.5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งถ้านำคลื่นที่ได้คืนมาเปิดประมูลในกิจการโทรคมนาคมจะได้เงินกลับมา 4,000-5,000 ล้านบาท ถ้าชดเชยให้       ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 2 ช่องที่คืนเท่ากับที่เคยคืนให้กับ 7 ช่องก่อนหน้านั้น จะใช้เงิน 600-700 ล้านบาท มองแบบนี้ก็คุ้มค่า รัฐบาลไม่ได้เสียหายอะไร”

Advertisement

ตรงนี้แหละที่ “น่าสนใจ” เพราะทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า การบริหารประเทศ โดยเฉพาะสัมปทานรัฐนั้น  ควรใช้หลักคิดอะไร จึงจะดูฉลาดในฐานะนักบริหาร

ระหว่าง “กฎหมาย” กับ “ประโยชน์ของทุกฝ่าย” อะไรควรจะเป็นหลักที่จะใช้ในการคิดการทำ

ปัญหาของทีวีดิจิทัลประเทศเราคือ ถือว่าตัวอย่างอันเป็นบทเรียนสำคัญของการทำให้เกิด “ความผิดปกติในทางธุรกิจ” เกิดจากการอ่านแนวโน้มทางธุรกิจของทุกฝ่ายมีภูมิปัญญาไม่พอ ไม่ทันความแปรเปลี่ยนของโลก

ความหวังในรายได้ และกำไรบดบังจนมองไม่เห็น หรือลืมที่จะมองความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นส่วนใหญ่

ช่วยกันสร้างความผิดปกติขึ้นด้วยปริมาณช่องที่ล้นเกิน ในสภาวะการที่เทคโนโลยีทีวีเปลี่ยนแปลงไปสู่อินเตอร์เน็ต ทำให้ทีวีไม่สามารถหารายได้มาให้เพียงพอกับความจำเป็นที่จะต้องลงทุน

เป็นความผิดปกติที่ทุกฝ่ายสรุปร่วมกันแล้วว่า “ไปไม่รอด”

ไม่มีใครมีความสุขกับความผิดปกตินี้

ในส่วนของผู้ประกอบการ การถูกบังคับให้ต้องทนกับผลประกอบการที่แนวโน้มย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ท่ามกลางการพัฒนาของธุรกิจเดียวกันในช่องทางออนไลน์ ย่อมเป็นความทุกข์อย่างท้น ด้วยมองไม่เห็นทางออกจากการถูลู่ถูกังไปเช่นนี้

ขณะที่ภาครัฐ มองคลื่นความถี่ที่ถูกประมูลไปในธุรกิจทีวีดิจิทัล อย่างเสียดาย เพราะสมบัติของรัฐดังกล่าวหากนำมาประมูลในธุรกิจโทรคมนาคมจะมีรายได้เข้ารัฐมากกว่าหลายเท่า

สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม หรือโลกออนไลน์ ย่อมมองคลื่นความถี่เหล่านี้ด้วยความเสียดายเช่นกัน เพราะสามารถเอามาปรับเป็นช่องทางธุรกิจที่เหมาะสมกับยุคสมัยได้อีกมากมาย

ที่สำคัญคือ ประชาชน ทั้งในส่วนของผู้ใช้บริหาร และในฐานะผู้มีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศ ย่อมปรารถนารัฐบาลที่มีทรรศนะในทางสามารถจัดการให้ทรัพยากรของชาติก่อประโยชน์สูงสุดอย่างเหมาะสม

ระหว่างการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการรักษากฎหมาย

การตัดสินใจว่าจะเลือกอะไร ย่อมสะท้อนระดับความคร่ำครึของผู้มีอำนาจได้เป็นอย่างดี

กฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่ควรสร้างขึ้นมาเพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย

แก้ปัญหาความไม่ปกติที่เกิดขึ้น

กฎหมายนั้นเขียนขึ้นมาได้ก็ย่อมแก้ได้ กลไกในการแก้ไขกฎหมายให้เป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการประเทศนั้น มีอยู่แล้ว เพียงแค่ผู้บริหารใช้ให้เป็น

ความเกรงกลัวกฎหมายโดยละเลยที่จะทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศกลับสู่ปกติ

ย่อมเป็นผู้มีอำนาจที่สร้างความอ่อนอกอ่อนใจให้กับประชาชน เมื่อคิดถึงความรู้จักคิด และความสามารถ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image