ถี่ลอดตารัฐ

การถ่ายทอดสด หรือการ Live ผ่าน Facebook ได้รับการนำมาปรับใช้งานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มากกว่าการถ่ายทอดภาพและเสียงกันในหมู่ญาติมิตรครอบครัว

ล่าสุด “ข่าวสดออนไลน์” ได้จัดงานพูดคุยในอีเวนต์ Indie Month เดือนแห่งหนังสืออิสระ ซึ่ง “อินดี้” ในที่นี้คือสำนักพิมพ์เล็กที่จัดพิมพ์หนังสือแนววรรณกรรมต่างๆ ที่อาจจะเป็นสำนักพิมพ์ไม่ใหญ่ แต่มีกลุ่มแฟนประจำและมีลายเซ็นในตัวงานเขียนและการพิมพ์แบบเฉพาะตัว เช่น สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม หรือสำนักพิมพ์เป็ดเต่าควาย

การถ่ายทอดสดที่ว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ มีผู้เข้ารับชมแบบสดทั้งสองครั้งเกินกว่าห้าหมื่นการรับชม ไม่รวมการมาย้อนดูภายหลังแบบ “แห้ง” ซึ่งก็ยังมีผู้เข้ามาชมอยู่เรื่อยๆ

แม้ว่าเทคโนโลยี Live นี้อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างเรื่องคุณภาพและเทคโนโลยี ความคมชัดของภาพก็แค่ระดับ “พอรับได้” หรือการถ่ายทำก็ออกจะทุลักทุเลให้ทีมงานถ่ายทอดยืนถือโทรศัพท์ถ่าย เพราะทาง Facebook อนุญาตให้ใช้ฟังก์ชั่นนี้บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ความไม่เป๊ะนี่แหละเป็นเสน่ห์ของ “สถานีโทรทัศน์ในอุ้งมือ” ที่สถานีโทรทัศน์จริงๆ หรือสื่อกระแสหลักทำไม่ได้

Advertisement

ดังที่เคยเขียนไปแล้ว ว่าเทคโนโลยี Live ที่พ้นวิสัยในการตรวจสอบควบคุมโดยสิ้นเชิงนี้ คงจะสร้างความปั่นป่วนให้แก่ทาง “ภาครัฐ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากรัฐที่ยังมีมุมมองว่ากิจการต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับ “สาธารณะ” ทั้งหลายจำเป็นต้องถูกควบคุมให้อยู่ในหูในตาของภาครัฐ แต่เมื่อมีสถานีโทรทัศน์ที่ใครๆ ก็จัดรายการได้ รัฐจะควบคุมได้อย่างไร คล้ายกับการมีกรงขังช้างแล้วหวังจะใช้ควบคุมฝูงกระรอกอย่างนั้น

ธุรกิจยุคใหม่ที่เรียกว่า “สตาร์ตอัพ” ก็เติมโตมากับเทคโนโลยีเช่นนี้เอง ซึ่งแต่ละธุรกิจก็ไปไกลเกินกว่ารัฐและกฎหมายจะเดินตามได้ กิจการแนวใหม่ที่อาศัยข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีที่ว่าก่อปัญหาให้ “รัฐ” มาแล้วหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง Uber Taxi หรือ Grab bike ที่เป็นบริการขนส่งมวลชนแบบกึ่งส่วนตัวแบบใหม่ ที่มาท้าทายระบบรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่รัฐเคยควบคุมอยู่ หรือกิจการห้องพักค้างแรมโดยบุคคลธรรมดาเปิดห้องของตัวเองให้ใครก็ได้มาเช่า ผ่านเครือข่าย Air BnB ก็กำลังเป็นปัญหาท้าทายกฎหมายในหลายประเทศไม่ใช่เฉพาะแต่ของไทยเท่านั้น

อย่างเช่นที่ญี่ปุ่นก็เริ่มมีการออกข้อบัญญัติในหลายเมืองมาจำกัดการ “โต” ของกิจการ Air BnB บ้างแล้ว ส่วนประเทศไทยนั้น ก็มีท่าทีจากทางภาครัฐว่ากิจการแบบสตาร์ตอัพที่ว่านั้นขัดต่อกฎหมายหลายฉบับหลายมาตรา อย่าง Air BnB ก็ขัดต่อพระราชบัญญัติโรงแรม แต่กระนั้นก็ยังไม่ปรากฏว่าทางภาครัฐสามารถดำเนินการห้ามปรามอะไรจริงจังได้ นับตั้งแต่เรื่อง Uber Taxi มาแล้ว – เว้นแต่ถ้ากิจการต่างๆ เหล่านั้นไป “ทับเส้น” ในสายที่มี “เจ้าที่” ดูแลอยู่ เช่น แท็กซี่สนามบิน หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อันนี้สตาร์ตอัพข้ามชาติเองต้องม้วนเสื่อยอมถอย จบกันไปแบบ “ไทยๆ”

Advertisement

ทำไมเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดกิจการสมัยใหม่จึงมีปัญหากับภาครัฐและกฎหมาย นั่นเพราะแต่เดิมนั้น รัฐมีอำนาจจะต้องกำกับดูแลความสงบเรียบร้อยไปเสียทุกอย่าง โดยเฉพาะในอันที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ หรือเป็นกิจการบริการสาธารณะ ดังนั้น เอกชนใดที่จะทำกิจการที่จะต้องเกี่ยวข้องกับ “สาธารณะ” ก็ต้องมาบอกแจ้งหรือขออนุญาต บางกิจการรัฐก็ถือว่าจริงๆ แล้วนี่เป็นสิทธิเป็นอำนาจที่รัฐจะทำได้เท่านั้น ถ้าเอกชนอยากจะประกอบกิจการนั้นบ้างก็ต้องมาขอใช้สิทธินั้น หรือที่เรียกว่า “สัมปทาน” กันไป

และโดยสภาพของกิจการแบบดั้งเดิมก็ยากที่จะทำอะไรกับ “สาธารณะ” โดยรัฐไม่รู้ไม่เห็น เพราะใครล่ะจะวิ่งรถรับจ้างส่งผู้คนบนท้องถนนอย่างเปิดเผยได้โดยไม่มีตำรวจเรียกมาสอบถาม หรือการเปิดห้องให้คนมาเช่าเป็นโรงแรมหรือที่พัก ก็ต้องติดป้ายหรือทำการโฆษณาที่ยากที่จะหลงหูหลงตาจากการตามมากำกับดูแลจากภาครัฐ หรือของบางอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนทำเองได้ก็ยากโดยสภาพ เช่น การทำสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ ซึ่งจะต้องมีทั้งทุน ทั้งจะต้องใช้คลื่นความถี่ (ซึ่งถือว่าเป็นของรัฐ) การจะแพร่เสียงแพร่ภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นก็ง่ายต่อการตรวจพบ

หากด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ “คน” ต่างติดต่อกับ “คนอื่น” ที่อาจจะเป็นลูกค้าของเราได้ง่ายดายโดยการสื่อสารผ่านเครือข่าย เช่นนี้เราก็ไม่ต้องสร้างตึกขนาดใหญ่เป็นโรงแรมอีกแล้ว เพียงมีห้องว่างๆ สักห้องเราก็เปิดโรงแรมขนาดหนึ่งห้องของเราเองได้ ผ่านการเข้าร่วมเครือข่ายกับ “คน” อื่นๆ เพื่อให้ “คน” อื่นๆ มาเข้าพัก หรือเช่นระบบของ Uber ที่เปลี่ยนรถส่วนตัวของเราเป็นรถรับจ้างให้ “คน” ที่อยู่ในเส้นทางที่เราขับผ่านโดยสารไปด้วยกันได้ทันที โดยไม่ต้องมีโคมแสดงว่าเป็นรถแท็กซี่เปิดไฟ “ว่าง” เรียกให้คนโบกนั่ง

ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นได้เพราะเทคโนโลยีเครือข่ายที่เชื่อมโยงผู้คน จนความเป็น “สาธารณะ” พร่าเลือนลงไป กลายเป็น “ปัจเจกชนแต่ละคน” ที่เชื่อมโยงกับ “ปัจเจกชน” แบบเดียวกับเราทุกๆ คน ทุกคนจึงอาจจะเป็นทั้งผู้ประกอบการ และผู้รับบริการสลับบทบาทกันได้โดยสมบูรณ์แบบ กลายเป็นเรื่องของคนสองคนตกลงกันผ่านเครือข่าย ที่แต่ละธุรกรรมนั้นถี่เล็กจนรอดหูรอดตาภาครัฐจนพ้นวิสัยที่จะเอื้อมมือไปกำกับห้ามปราม

อย่างไรก็ตาม การที่เทคโนโลยีและธุรกิจสมัยใหม่ตัด “อำนาจรัฐ” ออกไปนั้น ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน เพราะในมุมหนึ่งที่รัฐนั้น “กำกับดูแล” ที่เป็นเหมือนการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการ แต่ในอีกหน้าหนึ่ง มันก็คือการปกป้องสังคม เพื่อความสงบสุขและความปลอดภัยของสาธารณะด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างร้ายๆ ของเรื่อง “ถี่ลอดตารัฐ” ก็ได้แก่การขายยาหรือเครื่องสำอางผ่านอินเตอร์เน็ตที่รัฐไม่อาจควบคุมได้ ก็ก่อปัญหาเรื่องเครื่องสำอางไม่ได้คุณภาพเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือยาลดความอ้วนที่มีสารเคมีอันตรายถึงตาย หรือกิจการโรงแรมส่วนบุคคล ก็อาจจะก่อปัญหาเรื่องความปลอดภัยหรือความสงบสุขต่อเพื่อนบ้านห้องข้างๆ หรือแท็กซี่ที่ “ใครก็ได้” สามารถมาขับได้ถ้ามีรถ ในอีกแง่ก็คือรถที่ “ใครก็ไม่รู้” มารับเราไปส่งถึง “บ้าน” รู้ที่อยู่เบอร์โทรศัพท์และเผลอๆ อาจจะรู้กิจวัตรหรือข้อมูลการเดินทางของเราก็ได้ด้วยซ้ำ

กิจการแบบใหม่ที่มากับเทคโนโลยี จึงเป็นทั้งเสรีภาพและความเสี่ยง ที่ภาครัฐอาจจะต้องใช้มุมมองที่เท่าทันกันมาวางกติกา เพื่อให้เสรีภาพเช่นนั้นของปัจเจกชนแต่ละคนยังคงมีอยู่ แต่ความปลอดภัยและสงบเรียบร้อยของส่วนรวมก็ยังต้องรักษาไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image