แนวทางเศรษฐกิจของ Trump โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

การเมืองในสหรัฐอเมริกากำลังสะท้อนความแตกต่างทางความคิดของคนในชาติมากกว่าครั้งก่อนๆ การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งเคยทำได้ดีมาโดยตลอดกำลังถูกท้าทาย ดังจะสังเกตได้จากการแข่งขันระหว่างตัวแทนผู้สมัครประธานาธิบดีในพรรครีพับลิกันที่กระแสชาตินิยมขวามีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งคนในพรรคไม่สามารถสืบทอดบทบาทที่สำคัญนี้ได้

ผู้ที่มีอำนาจในพรรครีพับลิกันไม่สามารถหยุดยั้งเสียงที่มาแรงเกินความคาดหมายของมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำคนสำคัญของพรรคหลายราย เช่น มิตต์ รอมนีย์ และพอล ไรอัน ได้แสดงความเห็นที่ไม่สนับสนุนหรือตีห่างออกจากผู้สมัครรายนี้

ในขณะที่ทรัมป์เองก็ไม่ยี่หระต่อการสนับสนุนของผู้ที่มีบทบาทนำในพรรครีพับลิกัน

ทรัมป์กำลังเป็นปัจจัยทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง ความเห็นและบุคลิกภาพที่แข็งกร้าว ได้สร้างความสนใจในสื่อมากกว่าฮิลลารี คลินตัน ทั้งที่ใช้เงินหาเสียงน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ และน้อยเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับฮิลลารี คลินตัน

Advertisement

ผู้ที่อาจสามารถเอาชนะทรัมป์ได้คือ เบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครฝ่ายซ้ายตัวแทนพรรคเดโมแครต แต่แซนเดอร์สไม่สามารถเอาชนะคนของพรรคอย่างฮิลลารี คลินตัน ได้

จากผลการสำรวจเสียงสนับสนุนของสำนักต่างๆ ฮิลลารี คลินตัน เป็นคู่แข่งที่เคยทิ้งห่างทรัมป์ในตอนแรกๆ แต่ในขณะนี้ทรัมป์มีเสียงเป็นรองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

คู่แข่งทั้งสองมีภาพลักษณ์ที่อ่อนแอทางด้านความตรงไปตรงมา ฮิลลารีได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจขนาดใหญ่และผู้หญิงโดยเป็นสัญลักษณ์ของความเหมือนเดิม ทรัมป์ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านผิวขาวและพวกอนุรักษนิยมโดยเป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลง

ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งไม่มีทางเลือกที่ถูกใจกว่านี้

บุคลิกของทรัมป์ที่กล้าพูดสิ่งที่นักการเมืองไม่กล้าพูดและไม่สนใจการเสียเสียงสนับสนุน กำลังชนะอารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านที่เบื่อสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าและวาทะอันสวยหรูของผู้นำทางการเมือง ทรัมป์จึงมีโอกาสที่จะเอาชนะฮิลลารี คลินตัน ได้ทั้งที่พรรคเดโมแครตในปัจจุบันมีฐานเสียงที่ใหญ่กว่าพรรครีพับลิกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาจากชนชั้นกลาง ผู้หญิงและคนผิวสี

เงินทุนหาเสียงที่ระดมและใช้ไปเป็นจำนวนมากมายของฮิลลารี คลินตัน ค่อนข้างขาดประสิทธิผลในขณะที่ทรัมป์ได้พิสูจน์แล้วว่าเขาสามารถสร้างความสนใจท่ามกลางเสียงโจมตีได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินหาเสียงและแรงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน

โอกาสที่ทรัมป์จะสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเป็นประเด็นที่ควรได้รับความสนใจ เพราะอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผลกระทบในทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อเอเชียตะวันออกด้วย

ทรัมป์มีทรรศนะทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมที่ขวาเอามากๆ ในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างความกังวลให้กับนักการเมืองในพรรครีพับลิกัน ด้วยการแสดงความเห็นแบบไม่ต้องกลั่นกรองไปในทางที่ถูกโจมตีได้ว่ามีอคติทางผิว เพศ และชาตินิยมสุดขั้ว

นี่กลับสร้างแรงสนับสนุนจากคนจนและนักธุรกิจรายย่อยที่เป็นชาวผิวขาวได้อย่างโดนใจ

ทรรศนะทางเศรษฐกิจของทรัมป์เป็นแบบรีพับลิกัน คือสนับสนุนภาคธุรกิจและการลดภาษี ต่างที่ไม่สนับสนุนการค้าเสรีและการนำเข้าแรงงานต่างชาติ เน้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน ในลักษณะที่เป็นแบบลัทธิพาณิชย์นิยม มิใช่เสรีนิยม

แนวทางเศรษฐกิจของทรัมป์เท่าที่แสดงออกมามีลักษณะเชิงยุทธศาสตร์และมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในสหรัฐ ได้แก่

(1) การตัดลดภาษีขนานใหญ่

(2) การปฏิรูปแรงงานต่างชาติ

(3) การไม่สนับสนุนข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิก (TPP)

แนวทางการตัดลดภาษีเป็นมาตรการขนานเอกของทรัมป์และมีความชัดเจนกว่าแนวทางแบบเดิมๆ ของโอบามาและฮิลลารี คลินตัน ที่เน้นการใช้จ่ายและสวัสดิการของรัฐและไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจที่ถดถอยได้จริง

ภาษีที่หาเสียงไว้ว่าจะให้มีการปรับลด ได้แก่ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตราที่สูงมากคือร้อยละ 35 เป็นอัตราเพียงร้อยละ 15 และการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากที่มีอยู่ 7 ชั้นรายได้และมีอัตราสูงสุดที่ร้อยละ 39.6 เป็นโครงสร้าง 3 ชั้นรายได้ที่มีอัตรา 10, 20 และ 25

ข้อเสนอเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีรายได้ทั้งสองประเภทนี้จึงนับว่ามีความชัดเจนและแรง

แนวทางการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานของคนในสหรัฐและพยายามทำโครงสร้างให้ง่าย แต่เป็นแผนภาษีที่เปลี่ยนโครงสร้างโดยไม่จำเป็นในขณะที่เอื้อผู้มีรายได้สูงมากจนเกินไป

ส่วนแนวทางการลดภาษีบริษัทเป็นการแก้ไขปัญหาที่สำคัญสำหรับธุรกิจสหรัฐ เนื่องจากที่ผ่านมามีอัตราภาษีที่สูงเกินไปและไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการแข่งขันทางเศรษฐกิจของโลก ส่งผลให้นักธุรกิจนิยมไปจดทะเบียนในต่างประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าหรือทำสัญญาว่าจ้างบริษัทต่างประเทศผลิตแทน

ธุรกิจสหรัฐที่ผ่านมาจำนวนมากอาศัยการลงทุนในต่างประเทศ และการว่าจ้างจากต่างประเทศผลิตเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันไปแล้วเป็นจำนวนมาก แนวทางของทรัมป์อาจช่วยบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ แต่จะทำให้บริษัทที่ผลิตภายในประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้นและกลายเป็นกลไกที่จะเพิ่มการจ้างงานใหม่ขึ้นมา

โดยสถานการณ์แล้ว แนวทางนี้น่าจะมีผลดีต่อธุรกิจในสหรัฐมากเพราะจะทำให้แนวโน้มการเข้าไปลงทุนในสหรัฐที่กำลังมีแนวโน้มขยายตัวมีโมเมนตัมที่แรงขึ้นอย่างชัดเจน

จึงเป็นจุดเด่นในนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์และจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชีย

การปฏิรูปแรงงานต่างชาติเป็นแนวทางที่ให้สีสันอย่างมากสำหรับการหาเสียงของทรัมป์ ในปัจจุบัน ชาวต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกามีมาถึง 11 ล้านคน และเป็นเป้าสายตาที่ทำให้ชาวบ้านผิวขาวรู้สึกอึดอัดว่าถูกแย่งโอกาสในการทำมาหากินจากคนผิวสี นักการเมืองพรรคเดโมแครตอาศัยฐานเสียงจากเครือญาติของแรงงานต่างชาติเหล่านี้ ส่วนทรัมป์กล้าโจมตีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาอย่างผิดกฎหมายของคนผิวสี รวมทั้งปัญหาการคัดกรองผู้อพยพชาวมุสลิม

ทรัมป์พูดถึงการสร้างกำแพงกั้นชายแดนที่ติดกับเม็กซิโกและเสนอให้ขับคนที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายออกนอกประเทศ แต่ก็พร้อมจะรับเข้ามาทำงานใหม่ได้ถ้าผ่านกระบวนการทางกฎหมายอย่างถูกต้องแล้ว

ในทางเศรษฐศาสตร์ แรงงานต่างด้าวมีผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐ เพราะช่วยป้อนแรงงานราคาถูกให้กับภาคการผลิตและคนงานเหล่านี้ก็มิได้ทดแทนคนงานสหรัฐโดยตรง ผลทางอ้อมที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับทำให้ชาวสหรัฐมีแรงกดดันจากภาวะการว่างงานน้อยลง

แนวทางของทรัมป์ในเรื่องแรงงานต่างชาติจึงอาจมีผลเสียในทางเศรษฐกิจได้ถ้าขาดความละเอียดรอบคอบ

การขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือตามเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วสามารถกระทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ต้องถึงขั้นขับออกนอกประเทศอย่างใหญ่โตซึ่งถ้าทรัมป์เป็นประธานาธิบดีจริงๆ อาจจะไม่รุนแรงเหมือนตอนหาเสียงที่อาศัยสามัญสำนึกที่มิได้คร่ำหวอดกับนโยบายก็ได้

แนวทางการค้าระหว่างประเทศเป็นความแตกต่างที่อาจทำให้ผู้สมัครได้เสียงจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอยู่บ้าง เพราะข้อตกลงการค้าเสรีมักถูกมองว่าทำให้ประชาชนชั้นล่างได้รับผลกระทบจากการนำเข้าที่มากขึ้น ทว่าคงไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญนักสำหรับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ทรัมป์ไม่สนับสนุนข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ และไม่สนับสนุนข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกที่ริเริ่มโดยรัฐบาลโอบามา

ข้อตกลงทั้งสองเป็นข้อตกลงที่มีขนาดใหญ่และเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลสหรัฐในการแข่งขันทางการค้ากับความรุ่งเรืองของเอเชียตะวันออก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อตกลงหุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิกนั้นเป็นมากกว่าการขยายฐานทางด้านเศรษฐกิจและการค้า และการเพิ่มอำนาจต่อรองบนเวทีการเจรจาเท่านั้น หากยังเป็นส่วนหนึ่งของการปิดล้อมจีนด้วย

ดังนั้น แนวทางดังกล่าวนี้จึงมิใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะจะมีผลต่อปริมณฑลทางด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศของสหรัฐ

ผลกระทบที่อาจมีต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียและสันติภาพในทะเลจีนใต้ ทำให้ชาติเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และประเทศไทย จะต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าทรัมป์หรือฮิลลารี คลินตัน จะเป็นประธานาธิบดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image