มุมมองเกี่ยวกับ ทฤษฎีวัตถุประสงค์การลงโทษทางอาญา ร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. …..(กฎหมายชะลอการฟ้อง) (1) โดย อุทิศ สุภาพ

ปัจจุบันอาชญากรรมทวีความรุนแรงและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตั้งแต่ตำรวจ พนักงานอัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักจึงต้องรับภาระหน้าที่อันหนักอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เสมือนจับปูใส่กระด้ง

นอกจากนี้การบริหารจัดการเกี่ยวกับคดียังขาดประสิทธิภาพ กล่าวคือ การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดยังปนเป ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก โดยไม่ได้เน้นการแบ่งแยกกลุ่มผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ร้ายมีความรุนแรงมากออกจากกลุ่มผู้กระทำผิดโดยพลั้งพลาดที่มีความรุนแรงน้อย ทำให้การดำเนินคดีใช้วิธีเดียวกันหมด เป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติด้วย ทั้งที่ผู้กระทำความผิดกลุ่มนี้อาจสามารถแก้ไขได้โดยง่ายด้วยวิธีบำบัดฟื้นฟูโดยไม่จำเป็นต้องลงโทษก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้แล้ว

ดังนั้นคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสมควรจะเน้นแต่เฉพาะการจัดการเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ร้ายและมีความรุนแรงมากเป็นหลักเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิดเกี่ยวกับการสลัดหรือผลักผู้กระทำความผิดออกไปจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Diversion from Criminal Justice System) โดยการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช้เรือนจำซึ่งอาศัยมาตรการควบคุมทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการมาใช้เป็นเครื่องมือแทน เช่น การใช้สถาบันทางสังคม (ครอบครัว โรงเรียน ศาสนา) เป็นเครื่องมือในการขัดเกลาจิตใจ (Socialize) เป็นต้น การผลักดันหรือเบนผู้กระทำความผิดให้ออกไปจากกระบวนการยุติธรรมอาจทำได้เป็น 2 ระดับ คือ

Advertisement

ระดับที่หนึ่ง ผู้กระทำผิดยังมิได้ผ่านเข้ามาในขั้นตอนส่วนใดส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และถูกผลักดันออกไป เช่น การกำหนดให้มีการจัดการพฤติกรรมฝืนสังคมบางประเภท โดยฝ่ายเอกชนแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอาจจะเป็นในรูปคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือตุลาการหมู่บ้าน เป็นต้น

ระดับที่สอง ผู้กระทำผิดได้ผ่านขั้นตอนบางขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเข้ามาแล้ว แต่ถูกผลักดันหรือเบี่ยงเบนออกไปจากมาตรการแบบดั้งเดิม และใช้วิธีการอื่นดำเนินการกับผู้กระทำผิดแทนการลงโทษจำคุกในเรือนจำ เช่น ในขั้นตอนของตำรวจอาจใช้โทษปรับ ในขั้นตอนของอัยการอาจเป็นรูปของการชะลอการฟ้อง ในขั้นตอนของศาลอาจจะใช้การรอการลงอาญา โดยมีการคุมประพฤติและรูปแบบอื่น

เช่น บ้านกึ่งวิถี (Halfway House) หรือศูนย์ควบคุม (Attendance Center) เป็นต้น สำหรับในขั้นตอนของราชทัณฑ์อาจใช้การพักการลงโทษและใช้การคุมประพฤติความคู่กัน หรืออาจใช้การลดโทษ หรืออภัยโทษมาใช้ร่วมกันก็ได้ เป็นต้น

Advertisement

การปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดนั้นโดยทั่วไปถือหลักว่า เมื่อมีผู้กระทำความผิดกฎหมายแล้ว ผู้กระทำความผิดก็ควรจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นจะต้องให้เกิดประโยชน์ในหลายๆ ด้าน โดยอาศัยกรอบแนวคิดจากทฤษฎีวัตถุประสงค์ในการลงโทษทางอาญามาเป็นแนวทางในการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับลักษณะพฤติการณ์ของความผิดที่เกิดขึ้น และเหมาะสมกับตัวผู้กระทำผิดด้วย สำหรับทฤษฎีวัตถุประสงค์ในการลงโทษที่สำคัญ ได้แก่ ทฤษฎีการลงโทษเพื่อทดแทน ทฤษฎีการลงโทษเพื่อป้องกัน ทฤษฎีการลงโทษเพื่อปรับปรุงแก้ไขฟื้นฟู และทฤษฎีการลงโทษเพื่อป้องกันสังคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการลงโทษดังนี้

1) ทฤษฎีการลงโทษเพื่อทดแทน (Retributive Theory) มีวัตถุประสงค์ในการลงโทษเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้เสียหายและต่อสังคม ซึ่งถ้าหากไม่คำนึงถึงความยุติธรรมแล้วอาจส่งผลทำให้ผู้เสียหายไปแก้แค้นกันเองขึ้นได้ อันมีผลกระทบทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาขาดความศักดิ์สิทธิ์ และมีผลให้ไม่เคารพศรัทธาต่อกฎหมายได้ เพราะความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการและแสวงหาเสมือนเป็นสัญชาตญาณซึ่งมีอยู่ในจิตใจของทุกๆ คน ดังเช่นกรณีการลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งหมายถึง การมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสิ่งที่มากระทำในลักษณะเช่นเดียวกัน ดังนั้นการลงโทษเพื่อให้เกิดความยุติธรรมนั้น โทษที่จะลงควรจะต้องให้ได้สัดส่วนกับการ

กระทำความผิดด้วย

2) ทฤษฎีการลงโทษเพื่อป้องกัน (Prevention Theory) มีวัตถุประสงค์ในการลงโทษเพื่อให้เกิดการข่มขู่ยับยั้ง ทำให้ผู้กระทำผิดเข็ดหลาบ เกรงกลัวต่อโทษ ไม่กล้ากระทำผิดซ้ำขึ้นอีก และในขณะเดียวกันก็ข่มขู่ยับยั้งทำให้บุคคลอื่นเกรงกลัวไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่างอีกด้วย ดังนั้นโทษที่จะลงจะต้องมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ จึงจะทำให้เกิดการข่มขู่ ยับยั้ง เกรงกลัวขึ้นได้

3) ทฤษฎีการลงโทษเพื่อปรับปรุงแก้ไขฟื้นฟู (Rehabilitative Theory) มีวัตถุประสงค์ในการลงโทษเพื่อให้โอกาสผู้กระทำความผิดปรับปรุงแก้ไข กลับตัวเป็นคนดี ไม่หวนไปกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก ดังนั้นการลงโทษจึงใช้วิธีรอการลงโทษและการคุมประพฤติเพื่อให้ผู้กระทำผิดปรับปรุงตัวเข้ากับสังคมได้

4) ทฤษฎีการลงโทษเพื่อป้องกันสังคม (Social Defense Theory) มีวัตถุประสงค์ในการลงโทษเพื่อให้สังคมมีความปลอดภัยจากอาชญากร ดังนั้น การลงโทษจึงต้องตัดขาดโดยแยกตัวผู้กระทำความผิดออกไปจากสังคม เช่นการใช้วิธีกักกัน หรือการห้ามเข้าเขตกำหนด เป็นต้น

สําหรับการกำหนดโทษให้เกิดประสิทธิภาพนั้นก็ควรจะนำทฤษฎีการลงโทษมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีแนวทางการนำมาใช้ร่วมกันเป็น 2 ระบบด้วยกัน ได้แก่ ระบบผสมและระบบคู่ ดังแผนภาพดังนี้

ความสำคัญของการลงโทษเพื่อทดแทนอยู่ที่การทำให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาความยุติธรรมที่มีตามสัญชาตญาณของมนุษย์ หรือให้เกิดความสมดุลในสังคมเอาไว้ ดังนั้นเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ผู้กระทำความผิดจึงสมควรจะได้รับโทษเพื่อทดแทนความผิดหรือลบล้างความชั่วที่เกิดขึ้น โดยสมควรจะต้องได้รับโทษที่มีความยากลำบากอย่างสาสม เช่นเดียวกับผู้เสียหายหรือที่สังคมได้รับซึ่งโทษนั้น ควรจะต้องได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดด้วย โดยมีวิธีการลงโทษได้หลายแนวทาง ดังนี้ คือ (1) สำหรับในความผิดที่ร้ายแรงนั้น ควรต้องลงโทษให้สาสมกับความผิดที่ได้กระทำขึ้น (2) โดยการใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนความเสียหายแทนการถูกลงโทษ หรือ (3) โดยการลงโทษให้สาสมกับความผิด และให้ใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนเพื่อชดเชยความผิดที่เกิดขึ้น (Expiation) ด้วย เช่น การลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำคุกและปรับ และให้คืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์แทน เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ความสำคัญของวัตถุประสงค์ในการลงโทษเพื่อทดแทนต่อการลงโทษนั้น ถือได้ว่าเป็นทฤษฎีหลักในการที่ฝ่ายนิติบัญญัตินำมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดกรอบอัตราโทษในลักษณะความผิดต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ และยังนำมาใช้เป็นหลักในการกำหนดโทษของผู้พิพากษาแก่ผู้กระทำความผิดโดยทั่วไปด้วย เนื่องจากตามทฤษฎีการลงโทษเพื่อให้สาสมหรือเพื่อทดแทน มีวัตถุประสงค์ในการลงโทษที่สำคัญคือ เพื่อทดแทนความผิดหรือลบล้างความชั่วที่ผู้กระทำผิดได้ก่อให้เกิดขึ้น อันเป็นการรักษาความยุติธรรมไว้ โดยมีแนวคิดและหลักการตั้งอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการและแสวงหา ดังนั้น การลงโทษเพื่อทดแทนจึงสามารถใช้ได้เสมอไปและตลอดไป ไม่ว่าสถานที่ใด โดยไม่ต้องคำนึงถึงกาลเทศะหรือสิ่งแวดล้อมใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในประเทศเยอรมนีเรียกการลงโทษเพื่อทดแทนนี้ว่า ทฤษฎีเด็ดขาด (absolute theory) ซึ่งถือว่าการลงโทษเป็นการตอบแทนการกระทำความผิด หรืออาจถือได้ว่าเป็นการใช้บาปที่ผู้กระทำผิดได้กระทำลงไป นอกจากนี้วัตถุประสงค์ในการลงโทษเพื่อทดแทนยังมีหลักการที่สำคัญในการลงโทษอีกคือ การลงโทษนั้นควรต้องให้โทษได้สัดส่วนกับความผิดที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งหลักการนี้มีผลทำให้นำมาใช้เป็นกรอบในการบัญญัติโทษไว้ในกฎหมายอาญา เช่น การกำหนดโทษขั้นสูงหรือขั้นต่ำและขั้นสูงเอาไว้ในบทบัญญัติของมาตราต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งยังนำมาใช้เป็นกรอบในการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษของผู้พิพากษาอีกด้วย เช่น ผู้พิพากษาจะต้องกำหนดโทษหนักเบาตามความชั่วของผู้กระทำความผิดซึ่งปรากฏทางจิตใจและผลที่เกิดขึ้นจากในการกระทำความผิดนั้นๆ กล่าวคือ ถ้ามีความชั่วหรือผลร้ายที่เกิดจากการกระทำผิดมากก็ลงโทษหนัก หรือหากมีความชั่วน้อยก็ลงโทษเบา เป็นต้น นับได้ว่ากรอบในการลงโทษดังกล่าวเป็นเครื่องหยุดยั้งไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติและศาลกำหนดโทษตามอำเภอใจได้

ด้วยเหตุดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า วัตถุประสงค์ในการลงโทษเพื่อทดแทนมีความสำคัญต่อการลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องนำมาเป็นหลักในการลงโทษผู้กระทำความผิดด้วย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคม หรืออาจเรียกว่าเป็นทฤษฎีแห่งความยุติธรรม (Justice Theory) ที่สังคมยังต้องการให้นำมาใช้อยู่ในปัจจุบัน

ส่วนในความผิดที่มีความรุนแรงน้อย อัตราโทษต่ำนั้น ผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษต่ำตามสัดส่วนของทฤษฎีการลงโทษเพื่อทดแทน ดังนั้น โทษจึงไม่เพียงพอต่อการปรับปรุงแก้ไขฟื้นฟู และการลงโทษจำคุกในระยะสั้นโดยอาศัยเรือนจำในการปรับปรุงแก้ไขนั้นยังเป็นผลเสีย ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแก้ไขอีกด้วย เช่น ทำให้ผู้กระทำความผิดมีมลทิน (Stigma) อันเป็นผลให้การปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยากขึ้น เป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการปรับปรุงแก้ไขผู้กระทำความผิด จึงควรผ่อนปรนวิธีการลงโทษ โดยอาจนำทฤษฎีการลงโทษเพื่อปรับปรุงแก้ไขฟื้นฟูมาเป็นหลักแทนทฤษฎีการลงโทษเพื่อทดแทนได้ โดยใช้วิธีการรอการลงโทษผู้กระทำความผิดแทนโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายและสังคมก็ยอมรับได้ เพราะเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ

(อ่านต่อพรุ่งนี้)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image