สัพเพเหระคดี : เรือนคนละหลัง : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณจำนูญทำสัญญาขายฝากเรือนเลขที่ 126 แก่คุณโผง สัญญาระบุว่าจะไถ่ถอนภายใน 1 ปี 6 เดือน

ระหว่างยังอยู่ในสัญญา คุณจำนูญรื้อเรือนหลังเดิม แล้วสร้างหลังใหม่ขึ้นแทน โดยใช้ไม้บางส่วนจากเรือนหลังเดิมมาสร้าง และใช้เลขที่บ้าน 126 เช่นเดิม

เวลาล่วงเลย 1 ปี 6 เดือนไปแล้ว แต่คุณจำนูญไม่ได้ไถ่ถอนเรือน และยังอยู่อาศัยที่เรือนนั้นต่อไป

คุณโผงขอให้ออก คุณจำนูญก็ไม่ออก-ไม่ไป

Advertisement

ที่สุดคุณโผงฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่คุณจำนูญและบริวารออกไป อ้างว่าเรือนนั้นเป็นของตนตามสัญญาขายฝากแล้ว

คุณจำนูญให้การต่อสู้ว่า ขายฝากเรือนเลขที่ 126 ให้แก่คุณโผงจริง แต่หลังนั้นรื้อไปแล้ว เรือนหลังที่อยู่อยู่นี้สร้างใหม่ เป็นคนละหลังกับเรือนที่ขายฝาก-ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้ขับไล่คุณจำนูญและบริวารออกจากเรือนนั้น

Advertisement

คุณจำนูญอุทธรณ์คดี

ศาลชั้นอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่าวัตถุแห่งหนี้ของสัญญาขายฝาก คือเรือนหลังเดิมถูกรื้อไปแล้ว แม้เรือนที่ปลูกใหม่จะใช้ไม้ของเรือนเดิมก็ตาม ก็หาทำให้เรือนใหม่กลายเป็นวัตถุแห่งหนี้แห่งสัญญาขายฝากไม่ คุณโผงชอบที่จะว่ากล่าวแก่คุณจำนูญในการที่คุณจำนูญรื้อเรือนหลังเดิมไป ไม่ชอบที่จะฟ้องขับไล่คุณจำนูญออกจากเรือนหลังใหม่

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

คุณโผงฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า วัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาขายฝากระหว่างคุณโผงกับคุณจำนูญ คือ เรือนเลขที่ 126 ซึ่งคุณจำนูญรื้อไปแล้วและสร้างเรือนหลังใหม่ แม้จะใช้ไม้ของเรือนหลังเดิมบางส่วนมาปลูกสร้างและคงใช้บ้านเลขที่เดิมก็ตาม ถือได้ว่าเรือนหลังเดิมซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณโผงตามสัญญาขายฝากและเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นได้สิ้นสภาพไปแล้ว เรือนหลังใหม่ย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับของสัญญาขายฝาก

คุณโผงไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือนหลังใหม่ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่คุณจำนูญ คงมีแต่อำนาจที่จะว่ากล่าวแก่จำนูญในกรณีที่รื้อเรือนหลังเดิม อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาขายฝากเท่านั้น

พิพากษายืน

แต่ไม่ตัดสิทธิคุณโผงที่จะฟ้องร้องว่ากล่าวแก่คุณจำนูญในกรณีที่รื้อเรือนหลังเดิมอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาขายฝากต่อไป

เป็นอันว่าคุณโผงคงต้องไปฟ้องคุณจำนูญอีกรอบ เพื่อเรียกค่าเสียหายที่รื้ิอเรือนของคุณโผงไป

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2525)

++++++++++++

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้นคือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อโดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์สินนั้นคืนได้

มาตรา 494 ห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์กำหนด 10 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย

(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์กำหนด 3 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image