#กลัวที่ไหน : วีรพงษ์ รามางกูร

#กลัวที่ไหน : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

การชุมนุมที่หน้าหอศิลป์ สยามสแควร์ และบน Sky Walk ที่สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งบัดนี้กลายเป็นที่ชุมนุมทางการเมืองเหมือนกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและที่ท้องสนามหลวงไปแล้ว

การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการนัดหมายกันเองโดยไม่มีผู้จัดหรือแกนนำ ถ้าดูจากโทรทัศน์ก็มองเห็นการชุมนุมที่ประสบความสำเร็จเกินคาดเพราะมีผู้คนมาร่วมประชุมหนาตา แม้ว่าสื่อมวลชนจะรายงานว่ามีผู้คนมาร่วมชุมนุมไม่ถึงหมื่นคน แต่ก็มีคนมาร่วมชุมนุมหนาตา จำนวนน่าจะเกินหมื่น เหมือนกับการชุมนุมการเมืองทุกครั้งที่เริ่มจากคนจำนวนไม่มาก ก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่

เดิมคิดว่าจะเป็นการชุมนุมของคนรุ่นใหม่บางส่วนที่มีความตื่นตัวทางการเมือง เพราะเคยคิดกันเสมอว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง สนใจแต่เรื่องตัวเอง เรื่องทำมาหากิน แต่จากภาพที่เห็นผู้ชุมนุมมีทุกรุ่นทุกเพศทุกวัย พร้อมที่จะตะโกนขับไล่หัวหน้ารัฐบาล เรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน เรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมาอยู่กับปวงชนชาวไทย จากที่ถูกคณะรัฐประหารใช้กำลังยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไปแล้วทำการปกครองตามระบอบเผด็จการเป็นเวลานานกว่า 5 ปี เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่สมุนของตนร่างมา ใช้เพื่อจะสืบทอดอำนาจต่อไปอีกเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

Advertisement

ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารและระบอบการปกครองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร ที่การเลือกตั้งไม่มีความหมายเพราะมีสมาชิกวุฒิสภาที่ตนเป็นผู้แต่งตั้ง มีจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งผู้ที่เขียนรัฐธรรมนูญเอง แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเอง ก็ต้องได้รับการลงคะแนนเสียงเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อมีการจัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลก็มักจะมีเสียงคัดค้านจากผู้นิยมระบอบเผด็จการทหารว่าไม่ควรนำการเมืองออกสู่ท้องถนน ควรจะทำกันในรัฐสภา ซึ่งเป็นวาทกรรมของผู้ที่นิยมผู้ที่กุมอำนาจรัฐปัจจุบันใช้ ก็เนื่องจากการดำเนินการตามวิถีทางประชาธิปไตยในรัฐสภาไม่เป็นผล เพราะสภาผู้แทนราษฎรก็ดี วุฒิสภาก็ดี เริ่มตั้งแต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มาของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจมาเลือกตัวนายกรัฐมนตรีด้วย รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่ใช่ออกแบบมาเพื่อการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน

การเลือกตั้งจึงไม่เสรีและไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบฝ่ายตรงกันข้าม แม้กระนั้นก็ยังไม่ได้เสียงข้างมาก ต้องใช้วิธีการสกปรก ซื้อ “งูเห่า” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ “ทรยศ” ต่อผู้ลงคะแนนเสียงและต่อพรรคการเมืองของตน

Advertisement

การปกครองระบอบเผด็จการและระบอบสืบทอดอำนาจเผด็จการนั้น ต่างกันกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย การปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดย “ความเห็นชอบ” ของคนส่วนใหญ่ ส่วนระบอบเผด็จการนั้นปกครองโดยการใช้ “ความกลัว” ของผู้ถูกปกครอง ถ้าผู้ถูกปกครองแสดงตนต่อต้านก็จะถูกกระทำด้วยความรุนแรงหรือถูกกลั่นแกล้งโดยอำนาจรัฐไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง ไม่ว่าจะโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม หรือการรัฐประหารในยุคหลังๆ เมื่อทำการยึดอำนาจสำเร็จก็จะข่มขู่ประชาชนโดยการประกาศเรียกผู้คนที่มีชื่อเสียง ผู้คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ผู้คนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการ ให้มาทำการมอบตัวและจะถูกควบคุมไว้จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ทำการต่อต้านข้าราชการประจำและประชาชนที่เข้าร่วมการปฏิวัติรัฐประหาร ครั้งสุดท้ายก็มีการเรียกไป “ปรับทัศนคติ” ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทยอย่างชัดเจน

เมื่อคณะรัฐประหารทำการปกครองโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ จากรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย และไม่ยอมคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนเพื่อปกครองตนเอง ประชาชนไม่สามารถดำเนินการถอดถอนรัฐบาลที่เข้ามาโดยที่ตนไม่ได้ให้ความเห็นชอบได้ ก็มีอยู่ทางเดียวคือ “การเมืองภาคประชาชน” นอกรัฐสภา เป็นความชอบธรรมที่ประชาชนจะดำเนินการถอดถอนรัฐบาลโดยวิธีอื่น มิใช่วิธีใช้อาวุธ มิใช่วิธีที่รุนแรง เป็นการชุมนุมอย่างสงบเปิดเผย ปราศจากอาวุธ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมักจะเกิดขึ้นจากฝ่ายผู้ที่อยู่ในอำนาจ ที่ใช้อาวุธปราบปรามโดยอ้างว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงก่อน หรือผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อความรุนแรงโดยมีมือที่สาม ซึ่งมักจะไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดเข้ามาแทรกแซง

ในการชุมนุมครั้งสุดท้ายที่สี่แยกราชประสงค์มี “ชายเสื้อดำ” เป็นมือที่สาม เข้ามาแทรกแซง จุดไฟเผาจนเกิดความรุนแรง จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถจับตัวร้ายชุดดำมาลงโทษได้

การชุมนุมของ กปปส.ที่แต่งตั้งตนเองเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่ฝ่ายความมั่นคงอันได้แก่ ทหาร ตำรวจ กองทัพ ข้าราชการ ใส่ “เกียร์ว่าง” ประกาศตนเป็นกลางระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาล เพียงเท่านี้รัฐบาลก็แพ้แล้ว เพราะเท่ากับทหารได้ทำการปฏิวัติรัฐประหารแล้ว เพียงแต่ยังเขินอายประชาคมโลกเท่านั้น

กิจกรรมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านเป็นการเรียกร้องที่ชอบธรรม รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แน่นอนว่าต้องร่างตามความต้องการของฝ่ายเผด็จการทหาร เป็นรัฐธรรมนูญที่มีแหล่งที่มาไม่ชอบธรรมและมีบทบัญญัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำมาเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายเผด็จการทหารสามารถสืบทอดอำนาจได้สะดวก ดังจะเห็นว่าผลของการเลือกตั้งจากการนับคะแนนที่ฝ่ายเผด็จการทหารใช้วิธีต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปที่มีเหตุผล

เครื่องมือที่รัฐบาลเผด็จการทุกแห่งใช้เพื่อปกครองประเทศก็คือ การสร้างความกลัว ทั้งการใช้กำลังและความรุนแรง ใช้กฎหมายปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย ใช้อิทธิพลจากอำนาจข่มขู่ผู้ต่อต้านระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ใช้กฎหมายปกครองเพื่อจะได้อยู่อย่างสงบเงียบไปเรื่อยๆ หากแต่การต่อต้านนั้นก็เป็นธรรมดาสามัญที่จะต้องฝ่าฝืนอำนาจรัฐหรือฝ่าฝืนผู้ที่ปกครองบ้าง โดยเฉพาะเป็นอำนาจและการปกครองที่ถูกปล้นไป

เป็นความชอบธรรมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่ต้องฝ่าฝืนกฎหมายและคำสั่งของผู้ที่ยึดอำนาจรัฐ ที่ฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ได้อำนาจรัฐมาโดยมิได้รับความยินยอมจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐ มาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่ดั้งเดิม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยโดยการพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และวันที่ 10 ธันวาคม ก็กลายเป็นวันหยุดราชการของประเทศตั้งแต่นั้นมา การยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหารหลังจากนั้นจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าจะใช้สภานิติบัญญัตินิรโทษกรรมตนเองก็ตาม กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นแต่เพียงกฎหมายที่ไม่เอาโทษการกระทำที่ผิดกฎหมายเช่นว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นกลายเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย

เมื่อการเข้ามาโดยวิธีที่ไม่ถูกกฎหมายและใช้กฎหมายที่ตนบัญญัติขึ้นปกครอง ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิอย่างชอบธรรมที่จะต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจโดยการทำผิดกฎหมายพื้นฐาน คือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ถูกคณะรัฐประหารฉีกทิ้งไป ความชอบธรรมที่จะใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้ต่อต้านการคงอยู่ในอำนาจของตนย่อมจะไม่มี การใช้จ่ายเงินจากภาษีอากรที่เก็บมาจากประชาชนในการปราบปรามประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ประชาชนผู้เสียภาษีย่อมมีสิทธิที่จะต่อต้าน

การปฏิวัติรัฐประหารเป็นการละเมิด “สัญญาประชาคม” ตามความหมายของ จอห์น ลอกซ์ อย่างตรงไปตรงมา การต่อต้านหรือแม้แต่การหาทางล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจอธิปไตยแล้วสถาปนาตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ประชาชนจึงมีความถูกต้องและชอบธรรมยิ่งที่จะถอดถอนรัฐบาลดังกล่าว ไม่ว่าจะโดยวิถีทางรัฐสภาผ่านผู้แทนราษฎร หรือวิถีทางอื่นที่สงบปราศจากอาวุธ ความรุนแรงและความไม่สงบจะเกิดขึ้นก็แต่การใช้คำสั่งของฝ่ายรัฐบาลที่ยึดอำนาจมาจากประชาชนเท่านั้น

ความขัดแย้งภายในประเทศจะเกิดขึ้นก็จากการมีผู้ยึดอำนาจอธิปไตยไปโดยมิชอบ ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน ความขัดแย้งทางการเมืองไม่เป็นความผิดในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นความผิดในระบอบการปกครองแบบเผด็จการที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบนี้

หลายคนที่คัดค้านการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยอ้างการมีรัฐสภาบ้าง โดยอ้างกฎหมายบ้าง โดยอ้างความแตกแยกบ้าง โดยอ้างความเสียหายทางเศรษฐกิจบ้าง เป็นการอ้างที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผลทางการเมืองที่ถูกต้อง เพราะ “สิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของสังคมสมัยใหม่” ยุคสมัยอาณานิคมได้พ้นผ่านไปแล้ว ความสงบเรียบร้อยก็ดี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ดี ความสามัคคีในชาติก็ดี จะไม่มีวันเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเผด็จการ หากแต่จะเป็นสังคมเผด็จการหรืออำนาจนิยมในทุกระดับชั้น

“ท่ามกลางอาวุธ เสียงของกฎหมายก็จะแผ่วลง” สิทธิเสรีภาพอันแท้จริงไม่มีทางได้มาโดยการหยิบยื่นให้จากเผด็จการ ยิ่งเผด็จการในเสื้อคลุมประชาธิปไตยอย่างที่พยายามทำอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งมีความเลวร้ายกว่าเผด็จการอย่างตรงไปตรงมา

ความอยู่ดีกินดี ความก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจที่การส่งออกของประเทศมีถึงร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติย่อมจะไม่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเผด็จการ เพราะไม่มีประเทศอารยประเทศใดยอมเจรจาการค้าและการลงทุนด้วย ในรอบ 5-6 ปีหลังการทำรัฐประหาร ประเทศไทยไม่อาจจะลงนามในสัญญาการค้าและการลงทุนกับประเทศใดได้เลย ใครเป็นคน “ชังชาติ” และทำร้ายประเทศชาติกันแน่

เผด็จการอยู่ได้โดยการสร้างความกลัว ถ้าคนไม่กลัวเผด็จการก็อยู่ไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image